Search This Blog

Thursday, October 29, 2009

โรคตาแดง

สถานการณ์การระบาดของโรคตาแดง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยกว่า 77,973 ราย และแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน

" โรคตาแดง "
เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาขาว ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่เกิดจาก เชื้อไวรัสที่ ชื่อ adenovirus แล้วเกิดการติดเชื้อที่เยื่อตาขาวเรียกว่า Epidemic keratoconjunctivitis (EKC) เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย รวดเร็ว และทำให้เกิดอาการขึ้นอย่างเฉียบพลัน

การติดต่อของโรค

พบว่า มีการระบาดเป็นช่วง ๆ ส่วนมากจะพบได้บ่อย ในช่วงฤดูฝน การติดต่อโดยตรงจากการสัมผัส การใช้ของร่วมกัน การไอ หรือการหายใจรดกัน และมักเกิดการติดต่อกันในสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมชนต่าง ๆ เช่น สถานศึกษา ที่ทำงาน สระว่ายน้ำ รวมทั้งห้างสรรพสินค้า ที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกัน

อาการของโรค

หลังจากได้รับเชื้อไวรัสนี้แล้ว จะเกิดอาการภายใน 1-2 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตา เจ็บตา น้ำตาไหล ไม่มีขี้ตา นอกจากจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา จึงจะมีขี้ตา บางรายมีต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต และเจ็บ ผู้ที่เป็นมักเป็นกับตาข้างหนึ่งก่อน ต่อมาอีก 2-3 วัน ก็จะลุกลามไปกับตาข้างหนึ่ง

ระยะเวลาของโรคนี้ จะเป็นนานประมาณ 10-14 วัน และเมื่อป่วยด้วยโรคตาแดงแล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสแพร่เชื้อ ไปยังผู้อื่นนานถึง 2 สัปดาห์ ในบางรายเมื่อตาแดงดีขึ้น อาจเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ตาดำอักเสบ สังเกตได้จากอาการตามัวลงทั้ง ๆ ที่อาการตาแดงดีขึ้นมากแล้ว มักเกิดขึ้นในวันที่ 7-10 หลังเริ่มเป็นตาแดง

ตาดำอักเสบนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเป็นอยู่นานหลาย ๆ เดือนกว่าจะหาย

ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ ได้แก่ ตามัวลง ปวดตามากขึ้น กรอกตาแล้วปวด มีไข้ ให้ยาไปแล้ว 48 ชั่วโมงไม่ดีขึ้น น้ำตายังไหลอยู่ แม้ว่าจะได้ยาครบแล้ว แพ้แสงอย่างมาก

การรักษา

เนื่องจาก โรคตาแดงเกิดจากเชื้อไวรัส จึงยังไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะ อีกทั้งยาต้านเชื้อไวรัสต่าง ๆ ที่มีขณะนี้ ใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคตาแดง ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตา และป้ายตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักจะเกิดตามมา

ในผู้ที่เป็นตาแดงในตาข้างหนึ่ง ส่วนอีกตาข้างหนึ่งไม่มีอาการ ให้หยอดตาเฉพาะตาข้างหนึ่งเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องหยอดตาข้างปกติด้วย เพราะจะเป็นการนำเชื้อ จากตาข้างที่เป็นไปยังตาข้างปกติ ถ้ามีอาการเจ็บตาให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล

ถ้ามีอาการเคืองตา แพทย์จะแนะนำให้ใส่แว่นกันแดด ไม่ควรปิดตา และไม่จำเป็นต้องล้างตา นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และพักการใช้สายตา ระยะเวลาการรักษานานประมาณ 2 สัปดาห์

ลักษณะของโรคตาแดง ที่แพทย์ต้องดูแลเป็นพิเศษมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ

ลักษณะแรก ถ้าเยื่อตาขาวอักเสบมากเสียจนผิวของเยื่อตาขาวลอกออก บางครั้งเยื่อตาขาวของเปลือกตากับเยื่อตาขาวของลูกตา อาจจะกลายเป็นแผลเป็นติดกันได้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธี เพราะเนื้อมาประกบกัน โดยที่ไม่มีหนังอยู่ตรงกลาง จึงอาจจะติดกัน จนแยกไม่ออกทำให้มีการระคายเคืองเรื้อรังได้

ลักษณะที่สอง ในส่วนของกระจกตาดำ เพราะเชื้อไวรัสบางตัว เมื่อแพร่เชื้อเข้าสู่กระจกตาดำ จะทำให้คนไข้มองอะไรไม่ค่อยชัด สู้แสงไม่ได้ ทำงานลำบาก

ลักษณะสุดท้าย คือ เรื่องของเปลือกตาที่บวมมาก มีน้ำตาไหลออกมาตลอด จนคนไข้กังวลมาก จึงต้องมีการดูอาการเป็นพิเศษ เพื่อรอให้หายไปเอง ด้วยการพูดคุยกับคนไข้ อธิบายให้เข้าใจ เพื่อให้เกิดสบายใจ จากนั้นจะให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน เมื่ออาการทุเลาลง

วิธีการป้องกันการติดต่อของโรค

เนื่องจากโรคตาแดงยังไม่มีวิธีการรักษาโดยตรง วิธีการการป้องกันไม่ให้ติดโรคนี้ ทำได้โดยไม่ใช้สิ่งของปะปนกับผู้อื่น ไม่ใช้มือป้ายตา และขยี้ตา เพราะเชื้อโรคจะติดไปยังสิ่งของที่ผู้ป่วยหยิบจับ ล้างมือบ่อย ๆ ให้สะอาด ห้ามใช้ยาหยอดตาร่วมกัน

ส่วนผู้ที่กำลังเป็นโรคตาแดง ควรทำการป้องกัน ไม่ให้โรคแพร่กระจายจากตนเองไปสู่ผู้อื่น โดยผู้ที่มีอาการ ควรหยุดพักเรียน หรือพักงานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ไม่ควรอยู่ในที่ชุมชน รวมทั้งใส่แว่นตากันแดด เป็นการป้องกันฝุ่นละออง ที่จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง สำหรับการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยนั้น

อย่ากลัว หรือกังวลในการติดโรคมากจนเกินไป เพราะเชื้อมีระยะเวลาในการแพร่ เพียงแต่ระมัดระวังไม่จับ สัมผัส หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย ก็เพียงพอแล้ว

โรคตาแดง นอกจากจะเกิดจากเชื้อไวรัสอย่างที่กล่าวแล้ว โรคตาแดงยังอาจพบได้ในโรคตาอื่น ๆ อีกหลายโรค และบางโรคเป็นโรค ที่มีอันตรายร้ายแรง คือ ทำให้มีการสูญเสียสายตาได้ เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ ตาดำอักเสบ ดังนั้น เมื่อเกิดมีอาการตาแดงขึ้น ควรได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง

แต่ทางที่ดีอย่าได้นิ่งนอนใจ ถึงแม้ว่าโรคตาแดงไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้เราสูญเสียเวลา ที่ต้องหยุดพักรักษาอาการ ทางที่ดีป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ หรือเมื่อเป็นแล้ว ก็ควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

ที่มา
โรงพยาบาลสมิติเวช

No comments:

Post a Comment