Search This Blog

Monday, October 26, 2009

ยาที่ไม่ควรกินคู่กัน

“Good things come in pair” ดังวลีฝรั่งนี้ ที่บอกว่าของทุกอย่างมีคู่แฝดอยู่เสมอ อาจจะเป็นแฝดเหมือน หรือแฝดต่างก็ได้ ดังนั้น ในเรื่องของ "ยารักษาโรค" ก็ย่อมต้องมีคู่แฝดของมัน ที่ต้องมีทั้งแฝดที่ดีและแฝดที่ร้ายคล้ายเทวากับซาตาน ซึ่งเคยมีกรณีที่ถึงแก่ชีวิตมาแล้ว ซึ่งโดยมากมักเกิดจาก “ความไม่รู้” ในฤทธิ์อันไพศาลของยาแต่ละเม็ดที่กินอยู่

แฝดที่ดี

เสมือนคู่บุญ ยิ่งรู้จักกินให้เสริมกัน ก็จะยิ่งช่วยเสริมสุขภาพ หรือทำการรักษาโรคให้ท่านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอันที่จริงก็ควรกินคู่กันเสียด้วย เพราะเรื่องของยาอาหารเสริมนี้ มีหลักคือ การทำงานร่วมกัน โดยกลุ่มที่ควรกินร่วมกันช่วยเสริมให้ดีมีดังต่อไปนี้
  1. วิตามินซี กับ คอลลาเจน จะช่วยกันสร้างเนื้อเยื่อใหม่ให้ใสปิ๊งปั๊งไม่เหี่ยวหย่อนย้อย
  2. ธาตุเหล็ก กับ วิตามิน ซี กินธาตุเหล็กให้ดีดูดซึมเข้าไปใช้ได้ ไม่ใช่กินเข้าไปอย่างไรถ่ายออกมาหน้าตาเหมือนเดิมนั้น ต้องกินคู่กันอย่างเช่นถ้าจะกินเลือดหมูให้ได้ธาตุเหล็กก็ควรกินกับผักที่มี วิตามินซีสูงเช่นใบตำลึงก็จะดีไม่น้อยครับ
  3. แคลเซียม และ แมกนีเซียม แคลเซียมจะดูดซึมได้ดีต้องมี “ตัวช่วย” พามันเข้าไปได้แก่แมกนีเซียม, วิตามินดีและวิตามินเคด้วยซึ่งอยู่ในแสงแดดและผักเขียวจัดตามลำดับ
  4. วิตามินเอ ซี และ วิตามิน อี พยายามกินไปด้วยกันเป็นดี หรือสูตรที่ดี คือ กินวิตามินซีเพียงตัวเดียวส่วนวิตามิน เอ กับวิตามิน อี นั้นกินเอาจากผักคะน้า และถั่วลิสงสักวันละกำมือ
  5. น้ำมันปลา (ไม่ใช่น้ำมันตับปลา) ขอให้เลือกชนิดที่มี ดีเอชเอ คู่กับกับ อีพีเอ ยิ่งมากหน่อยยิ่งดี อย่างน้อยกินให้ได้ค่า ดีเอชเอ+อีพีเอ = 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยมีเคล็ดไว้ว่า ถ้าอยากบำรุงสมองต้องเลือกชนิดที่มี "ดีเอชเอ" เด่น แต่ถ้าจะให้บำรุงส่วนอื่นเป็นหลัก เช่น ข้ออักเสบให้เลือกชนิดที่มี "อีพีเอ" สูงด้วย

แฝดที่ร้าย


แฝดตัวนี้ ถือเป็นระดับ “ตัวแม่” ที่น่ากลัวกว่าเยอะมาก เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในสมอง จนเป็นอัมพาต หรือหัวใจวายแน่นิ่งไปได้ จึงอยากให้มาสนใจในยา ที่ไม่ควรกินร่วมกันสักนิด ดังนี้
  1. น้ำมันปลา กับ แอสไพริน คู่ร้ายอันดับแรก โดยน้ำมันปลานี้มีฤทธิ์ช่วยให้เลือดใสไม่หนืดเหนียว ส่วนแอสไพรินก็มีฤทธิ์เดียวกัน คือ ช่วยให้ไม่เกิดลิ่มเลือดจับแข็งเป็นก้อน ตัน เมื่อกินคู่กันเลยกลายเป็นคู่สังหารพาลให้เลือดไหลพรวดพราดไม่หยุด แม้การกรอฟันเพียงนิด ก็อาจทำให้เลือดออกได้ ราวกับผ่าตัดใหญ่เลยทีเดียว
  2. วิตามินอี และ อีฟนิ่งพริมโรส มีคนไข้ที่อยากผิวสวยมาหา พร้อมบอกว่า มีคนแนะให้กินวิตามินอี แต่บ้างก็ให้เลือกเป็นอีฟนิ่งพริมโรสแทน ควรจะเลือกอย่างไรดี? จึงได้บอกไปให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ เพราะทั้งคู่ล้วนแต่มีวิตามินอีทั้งนั้น ซึ่งถ้าได้มากเกินไป อาจทำให้เกิดหัวใจพิบัติแทน
  3. แคลเซียมเสริม กับ แคลเซียมสด ถ้าท่านกินงาดำได้วันละ 4 ช้อนโต๊ะ หรือเต้าหู้ขาวแข็ง วันละ 3 ขีด ก็จะได้แคลเซียมราว 1,000 มิลลิกรัมอยู่แล้ว ซึ่งถ้าไปหาแคลเซียมเม็ดมากินเพิ่มเติมอีก จะทำให้ได้รับแคลเซียมเกินขนาด และไปจับกับหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแข็งได้
  4. กาแฟ กับ แคลเซียม ขอให้เลี่ยงกินแคลเซียม ร่วมกับกาแฟ เพราะกาแฟจะไปยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม นอกจากนั้น กาแฟยังไปดึงแคลเซียมออกจากกระดูกอีกด้วย
  5. ธาตุเหล็ก กับ โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นไม้เบื่อไม้เมากันทีเดียว ขอให้ลืมความเชื่อที่ว่า ถ้าเลือดจางจะต้องกินธาตุเหล็กเยอะ ๆ ไม่เสมอไปครับ หากท่านเป็น "โรคเลือดจาง ชนิดธาลัสซีเมีย" แล้วไปกินธาตุเหล็กเสริม เท่ากับเป็นการเติมยาพิษให้กับหัวใจ และตับตัวเอง

ทั้งแฝดดี และแฝดร้ายนี้ อันที่จริงมีอีกมากมาย แต่สำหรับที่เลือกมาให้เห็นในที่นี้นั้น เป็นตัวอย่างที่พบบ่อย ๆ และสามารถจำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที จะเห็นว่าการกินยานั้น มีข้อหยุมหยิมอยู่มาก เมื่อเทียบกับกินอาหารธรรมชาติ ที่โอกาสเกิดการผสมกันเป็นพิษน้อย เพราะมีส่วนประกอบสำคัญอยู่ในปริมาณ ที่ไม่เข้มข้นมากเท่ายาเคมี แต่อย่างไรก็ดีคงต้องยึดหลัก หูไว ตาไว ถ้ารู้สึกว่า “ไม่ใช่” แล้วก็ให้รีบเร่งแจ้งแพทย์ อย่าปล่อยให้เลยตามเลย


ที่มา

นพ. กฤษดา ศิรามพุช
พบ. (จุฬาฯ) ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ

No comments:

Post a Comment