Search This Blog

Wednesday, October 14, 2009

ทำไมคนเราถึงต้อง " หาว "?

มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายว่า " ทำไมคนเราจึงหาว? " แต่ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า การหาวเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกาย ที่สั่งการโดยสมอง อาจเนื่องมาจากร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะนั้น จึงเกิดอาการหาวขึ้นเพื่อปรับตัว

" การหาว " เป็นการหายใจลึก ๆ เพื่อนำออกซิเจนเข้าไปในร่างกายให้มากขึ้น ร่างกายของเราจะต้องการออกซิเจนมากขึ้น เมื่อเรารู้สึกง่วง หรือเหนื่อย สมองของเราจะสั่งให้หาว เพื่อที่จะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ที่มีออกซิเจนเข้าไปได้อย่างเต็มที่ การหาวยังเป็นการเพิ่มระดับการตื่นตัว โดยเฉพาะเวลาที่มีความเครียด หรือความกดดัน ซึ่งทำให้อธิบายได้ว่า เหตุใดนักกีฬาที่กำลังจะลงแข่งขัน หรือนักเรียนที่กำลังจะเข้าห้องสอบจึงหาว

หากไม่อยากหาวบ่อย ๆ ควรหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เคร่งเครียด หลีกเลี่ยงจากมลพิษ และอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อาการหาวก็จะค่อย ๆ ลดลง

แต่หากทำแล้วยังไม่ได้ผล ยังหาวอยู่บ่อย ๆ ไม่ต่ำกว่า วันละ 30 ครั้ง แนะนำให้ไปพบแพทย์ตรวจร่างกาย เพราะการหาวบ่อย ๆ เป็นสัญญาณเตือนว่า " อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหรือระบบทางเดินหายใจ "


ทำไมเราจึงหาวตามกัน??

กิริยาอาการบางอย่างของคนเรา สามารถเกิดขึ้นตาม ๆ กันได้ เช่น เมื่อคนหนึ่งหัวเราะขึ้นมา คนอื่นก็อยากหัวเราะบ้าง อาการหาวก็เช่นกัน เมื่อคนหนึ่งอ้าปากหาว น่าแปลกที่คนอื่นมักจะหาวตาม

สัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ เช่น แมว สุนัข ก็หาวได้เช่นกัน โดยเป็นการหาวตามสัญชาตญาณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาตอบสนอง ที่เกิดจากวิวัฒนาการที่ถ่ายทอดสืบกันมา แต่สำหรับ คน ชิมแปนซี และลิงกัง จะมีอาการหาวตามกัน เมื่อเห็น หรือคิดว่าคนอื่นหรือสัตว์ตัวอื่นหาว

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเคยสงสัยเช่นกันว่า ทำไมการหาวจึงเป็นอาการที่ติดต่อถึงกันได้ ซึ่งจากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การหาวตามกัน อาจมาจากความต้องการในการแสดงอารมณ์ร่วมกับผู้อื่น

ดร. อาสึชิ เซนจุ จากวิทยาลัยเบิร์กเบ็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยลอนดอน และนักวิจัยจากญี่ปุ่น ร่วมกันศึกษาอาการหาวตามกัน ในกลุ่มเด็กธรรมดา และเด็กออทิสติก และพบว่าเด็กออทิสติกจะไม่หาวตามกัน

รายงานการศึกษาเรื่องนี้ ตีพิมพ์ลงในวารสาร Biology Letters ดร. เซนจุ กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาชิ้นแรก ที่แสดงให้เห็นว่า การหาวตามกันไม่เกิดกับเด็กออทิสติก หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง อาจเป็นการสกัดกั้นอาการหาวตามคนอื่น ทั้งนี้ ออทิสซึ่มเป็นความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง ซึ่งทำให้เด็กไม่สามารถมีความผูกพันทางอารมณ์กับผู้อื่น

การศึกษาที่พบว่า เด็กออทิสติกหาวตามสัญชาตญาณ แต่ไม่หาวตามคนอื่น จึงบ่งชี้ได้ว่าการหาวตามกัน อาจมีสาเหตุมาจากความต้องการแสดงอารมณ์ร่วม


ความเชื่อเกี่ยวกับการหาว

ฝรั่งในสมัยโบราณเชื่อว่า การหาวทำให้วิญญาณออกจากร่าง ดังนั้น เวลาหาวจึงต้องเอามือปิดปากไว้ เพื่อไม่ให้วิญญาณหนีไป

ที่มาของความเชื่อนี้ ก็เนื่องมาจากในสมัยก่อนเด็กเกิดใหม่มักจะเสียชีวิต เพราะวิทยาการทางการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเช่นปัจจุบัน เมื่อสังเกตเห็นเด็กหาวทันทีที่เกิด จึงเข้าใจว่าการหาวทำให้เสียชีวิต ซึ่งอันที่จริง สามารถอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า เป็นปฏิกิริยาธรรมชาติ ที่ เด็กจะสูดเอาออกซิเจนเข้าปอด

ในสมัยนั้นจึงมีคำแนะนำ ให้แม่นั่งเฝ้าลูกน้อยเป็นพิเศษในช่วงเดือนแรก ๆ หลังคลอด เพื่อคอยปิดปากลูกเวลาหาว เพราะเด็กยังปิดปากตัวเองไม่ได้ ความเชื่อดังกล่าว จึงกลายมาเป็นมารยาทในการหาวจนถึงปัจจุบัน

มารยาทอีกอย่างหนึ่งของการหาว ที่อาจพบเห็นได้ ก็คือ การหันหน้าไปทางอื่น หรือแม้แต่การกล่าวคำขอโทษออกมาหลังจากหาว ที่มาของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อคนสมัยโบราณสังเกตเห็นว่า เมื่อคนหนึ่งหาว คนที่อยู่ใกล้ ๆ ก็มักจะหาวตามกัน ดังนั้น หากการหาวเป็นอันตรายต่อผู้หาว อันตรายนี้ย่อมติดไปถึงผู้อื่นด้วย เวลาหาวจึงหันหน้าหนี เพื่อไม่ให้คนอื่นเห็น ส่วนการขอโทษ ก็เป็นเสมือนการแสดงความเป็นมิตรกับยมทูต ที่จะมาพรากวิญญาณไป นั่นเอง!!

No comments:

Post a Comment