Search This Blog

Monday, April 5, 2010

รักษามะเร็งตับ เงินน่ะมีไหม?

หนังสือรอดตายจากมะเร็งยกขบวนกันออกมา ก็ใช่ว่าเป็นมะเร็งแล้วรอดทุกราย (หรือตายทุกราย) เพราะปัจจัยสำคัญแท้จริงคือ เงินน่ะมีไหม?

ปัญหาของการรักษาโรคมะเร็ง คือ การเข้าไม่ถึงยา เนื่องจากต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในการรักษา เฉลี่ยสูงถึง 2 แสนบาทต่อเดือน และถ้าหากมองถึงระยะยาว คนรายน้อยถึงปานกลางมีโอกาสในการรักษา เรียกว่าน้อยมาก โดยเฉพาะมะเร็งที่ไม่แสดงอาการให้เห็นอย่าง มะเร็งตับ

อย่างที่รู้กันว่า หากพบก้อนมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นสามารถ รักษาให้หายได้ ด้วยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ซึ่งค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ มักจะมาพร้อมกับก้อนมะเร็งในระยะลุกลาม การรักษาจึงรักษาไปตามไม่ช่วยให้หายขาด แต่สามารถยื้อชีวิตได้นานขึ้น

“หลังจากพบว่าเป็นมะเร็งจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ใน ลักษณะประคับประคอง ช่วง 3-6 เดือน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรักษาพยาบาลหลักแสนบาทต่อเดือน”

ค่าใช้จ่ายการวินิจฉัยรักษา เช่น การเอ็กซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท  การตรวจเลือด ฉีดสี เพื่อดูการทำงานของตับ การผ่าตัดปลูกถ่ายตับใหม่ การจี้ทำลายเซลล์มะเร็ง การรักษาดัวยเคมีบำบัด ซึ่งได้ผลเพียง 10% และยารักษาชนิดเจาะจงเฉพาะจุด ความหวังใหม่ในการรักษา ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการตามอาการที่ปรากฏ

ปัจจุบันอัตราการเกิดโรคมะเร็งตับอยู่ที่ 30-40% ส่วนมากเป็นเพศชาย ที่อายุ 40-50 ปี ขณะที่เพศหญิงพบเพียง 10% ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ มักมาพบแพทย์เมื่ออาการ ลุกลาม หรือเมื่อเกิดภาวะตับแข็งขึ้นแล้ว เนื่องจากมะเร็งตับมักจะไม่แสดงอาการเมื่อ เริ่มเป็นในระยะแรก

เมื่อดูจากสถิติจะพบว่า ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในระยะที่ปานกลาง มีโอกาสรอดชีวิตที่ 3 ปี ประมาณ 50% แต่หากมาด้วยมะเร็งตับระยะลุกลาม อัตรารอดชีวิตที่ 3 ปี เพียง 8%

แม้ว่าการรักษาแบบใหม่โดยใช้ยารักษาแบบเฉพาะจุด หรือ targeted cancer treatment  จะถูกคิดค้นขึ้น เพื่อแทนที่การรักษาแบบเดิม เช่น การฉายแสง หรือเคมีบำบัด ช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วยได้ยาวนานขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงยา ก็ไม่ได้ถูกลงไปกว่าการรักษา ด้วยเคมี แถมยังแพงกว่าด้วยซ้ำ

“ยาดังกล่าว สามารถบล็อคหรือหยุด การทำงานของเซลล์มะเร็ง ไม่ให้ทำลายเซลล์ข้างเคียง ซึ่งเป็นเซลล์ปกติ  เริ่มใช้รักษามะเร็งปอด และไต ประมาณ 8 ปี พิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุการอยู่รอดนานขึ้น จนกระทั่งเริ่มใช้กับมะเร็งตับใน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศไทย ยาชนิดนี้พึ่งขึ้นทะเบียนโดย อย. เมื่อต้นปี

สำหรับประเทศไทยแล้ว การรักษามะเร็งสำหรับผู้ป่วยรายได้น้อย  คนฐานะปานกลาง หรือแม้แต่ข้าราชการ ที่มีสวัสดิการคุ้มครอง เป็นหลักประกันสุขภาพ ยังติดขัดในหลายด้าน  ทันทีที่งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลถูกกระจายให้ครอบคลุมทุกโรค ผ่านทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้การเข้าถึงยารักษามะเร็งราคาแพง ที่ยากอยู่แล้ว แคบเข้าไปอีก

นั่นเป็นเรื่องที่ทำให้แพทย์ ที่คลุกคลีกับอยู่กับผู้ป่วยโรงมะเร็ง เกิดความหวั่นใจ จากจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ หน้าใหม่ที่เข้ามายังสถาบันมะเร็ง ราว  4-5  รายต่อวัน ไม่รวมหน้าเก่า ใช่ว่าจะรักษาได้หายขาย

"ในเมื่อมะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการตายของประชากรทั่วโลก ขณะที่มะเร็งตับ แม้จะครองอัน 3 รองจาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร จากจำนวนผู้ป่วยราว 6 แสน คนต่อปี เราต้องพยายามหากลไกช่วยเหลือผู้ป่วย ที่มีรายได้น้อย ไม่เกิน 2 ล้าน 5 แสนบาทต่อปี ให้สามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น"

หนทางที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีโอกาสเข้าถึงยาได้ในนาทีนี้ มีอยู่หนทางเดียว คือ ขอความร่วมมือจากบริษัทยา สนับสนุนการเข้าถึงยารักษาแบบใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มคน เอเชียตะวันออก จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี ที่พบเป็นโรคมะเร็งตับสูงกว่าคนยุโรป

มูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้หารือกับบริษัท ไบเออร์ ผู้ผลิตยาดังกล่าว ริเริ่มโครงการ N-PAP เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาแบบเฉพาะจุดได้เช่นเดียวกับ ประเทศอื่น ๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน

สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถทดลองใช้ยาเฉพาะจุดได้ หากสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายใน 3 เดือนแรก หรือราว 5-6 แสนบาท หากยาที่ได้รับช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น จริง บริษัทยา จะยอมให้ใช้ยาฟรีตลอดการรักษา

ยาตัวนี้ ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกคน ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับยา ยอมรับว่าเป็นวิธีการรักษาแบบเรื้อรัง อายุยืนยาวขึ้น 3 เดือน ถึง 1 ปี

มะเร็งตับที่เกิดจากเชื้อไวรัส ตับอักเสบบี  มักจะถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยเริ่มแสดงอาการปรากฏเมื่อเข้าสู่วัย กลางคน หรือ 35-65 ปี กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง และควรเข้าถึงยาให้มากที่สุด ถ่ายทอดทางพันธุกรรมระหว่างคลอด ปรากฏการณ์ของโรคเกิดในวัยทำงาน

แน่นอนโครงการดังกล่าว มีเงื่อนไข โดยจำกัดเฉพาะผู้รายได้น้อย และมีความสามารถในการรับยา  ซึ่งไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชีย รองจากจีน ที่เริ่มต้นการรักษาในรูปแบบนี้ไปแล้ว ตั้งแต่ยาดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียน ในประเทศ

ประเทศไทยยังคงมีผู้ป่วยโรคมะเร็งอยู่เป็นจำนวนมาก หากแนวทางดังกล่าวได้ผล อาจนำไปสู่การผลักดัน การรักษามะเร็งชนิดอื่นตามมา โดยคาดว่าการเข้าถึงยาที่มากขึ้นในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ 200-500 คน จะสามารถลดอัตราการตายดังกล่าวได้ถึง 10% ภายในอีก 4-5 ปี

ที่มา
นายแพทย์วิโรจน์ เหล่าสุนทรศิริ
หัวหน้าศูนย์วิจัยทางคลินิก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

Saturday, March 13, 2010

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน

การปฐมพยาบาล คือ การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในขั้นแรก ก่อนส่งโรงพยาบาล หรือก่อนจะถึงมือแพทย์ ทุกคนควรมีความรู้ในการปฐมพยาบาล เพื่อที่จะใช้เวลาทุกวินาที ให้เป็นประโยชน์ที่สุด เพื่อช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น


  
การปฐมพยาบาลนั้น ต้องทำด้วยความรวดเร็ว และถูกต้อง ขั้นแรกต้องระงับความตื่นเต้นตกใจ ตั้งสติให้ดี ไม่ว่าคนที่คุณต้องช่วยเหลือ จะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือแม้แต่คนแปลกหน้า
  • -พยายามอย่าให้คนมุง เพื่อให้คนเจ็บได้รับอากาศบริสุทธิ์ ปลอดโปร่ง มีแสงสว่างเพียงพอ และสะดวกในการปฐมพยาบาล
  • -โทรเรียกรถพยาบาลก่อน แล้วรีบตรวจดูคนเจ็บ และปฐมพยาบาลเบื้องต้น
  • -กรณีที่คนเจ็บยังมีสติ ควรแนะนำตัวเอง สอบถามชื่อนามสกุลของคนเจ็บ และสอบถามอาการ
  • -กรณีที่คนเจ็บหมดสติ ให้ตรวจดูว่ายังหายใจหรือไม่

การกู้ชีพ

  •  -หากคนเจ็บหายใจไม่สะดวก หรือหยุดหายใจ ให้เริ่มผายปอดแบบเป่าปาก โดยให้คนเจ็บนอนหงาย จับปลายคางให้เชิดขึ้น มือกดหน้าผากไว้ ตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่า ไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในปาก หรือลำคอ หากตรวจพบ ให้ล้วงออกมาให้หมด เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
  •  -ใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกคนเจ็บ มืออีกข้างดึงปลายคางไว้ เพื่อเปิดช่องปาก จากนั้นสูดลมเข้าปอด แล้วเป่าเข้าไปทางปากของคนเจ็บ สังเกตว่าลมเข้าปอด โดยดูจากการเคลื่อนไหวของหน้าอก รอให้ลมออกจากปอดก่อน แล้วจึงเป่าครั้งที่สอง
  •  -จากนั้นให้สำรวจชีพจร ง่ายที่สุด คือ ที่คอ บริเวณสองข้างของลูกกระเดือก หากคลำชีพจรไม่พบ ให้นวดหัวใจด้วย
วิธีการนวดหัวใจ

  •  -ให้นั่งคุกเข่าอยู่ข้างตัวคนเจ็บ ให้เข่าข้างหนึ่งอยู่บริเวณเอว อีกข้างอยู่บริเวณหัวไหล่ วางมือข้างที่ไม่ถนัด ตรงกึ่งกลางหน้าอกเหนือกระดูกลิ้นปี่เล็กน้อย วางมือข้างที่ถนัดไว้ด้านบน แล้วยืดแขนให้ตรง โน้มตัวมาข้างหน้า ถ่ายน้ำหนักลงไปบนแขน เริ่มนวดหัวใจโดยการกดมือลงไป
  • -จังหวะการนวด คือ 15 ครั้งต่อ 10 วินาที แรงกดให้ดูจากการยุบตัวของหน้าอก ควรยุบแค่ประมาณ 1 ½ ถึง 2 นิ้ว หลังจากนวดครบ 15 ครั้ง ให้เป่าปาก 2 ครั้ง แล้วตรวจดูชีพจรอีกครั้ง หากยังไม่มีชีพจร ให้เริ่มนวดหัวใจอีกครั้ง ทำจนกว่าคนเจ็บจะเริ่มหายใจเองได้ หรือรถพยาบาลมาถึง

การเคลื่อนย้ายคนเจ็บ

-หากบาดเจ็บที่คอ หรือกระดูกสันหลัง ห้ามเคลื่อนย้ายคนเจ็บ หากเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ ที่ประสบอุบัติเหตุ อย่าเพิ่งถอดหมวกกันน็อก จนกว่าจะตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีกระดูกคอ หรือหลังหัก

รู้ได้อย่างไรว่ากระดูกสันหลังหักหรือไม่

  • -หากเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่มีความรุนแรง มีโอกาสสูงที่คนเจ็บจะกระดูกสันหลังหักจากแรงกระแทก
  • -หากคนเจ็บยังมีสติ ลองให้เขาขยับนิ้วมือ นิ้วเท้า เป็นจังหวะ หรือลองให้คนเจ็บบีบมือของคุณ หากยังเคลื่อนไหวนิ้วได้ หรือยังมีแรงบีบ กระดูกสันหลังไม่น่าจะหัก
  • -ลองหาวัตถุแข็ง ๆ ลากบริเวณฝ่าเท้า หากมีการตอบสนองแบบเดียวกับจั๊กจี๋ หรือหัวแม่โป้งกระดิก เป็นสัญญาณที่ดี
  • -แต่หากลองทำทุกอย่างแล้ว ไม่มีการตอบสนองที่ดี นั่นเป็นสัญญาณว่า คนเจ็บอาจมีกระดูกสันหลังหัก ไม่ควรเคลื่อนย้ายคนเจ็บ ยกเว้นว่า อยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงเกินไป เช่น ไฟไหม้ ใกล้เชื้อเพลิงที่อาจระเบิด บนถนนที่อาจถูกรถทับ หรือตึกที่กำลังจะถล่ม ให้เคลื่อนย้ายคนเจ็บอย่างถูกวิธี และทำด้วยความระมัดระวังที่สุด

วิธีการเคลื่อนย้าย

สำหรับคนเจ็บ ที่สงสัยว่าอาจจะมีกระดูกสันหลัง หรือกระดูกคอหัก ก็คือ การลากไหล่ โดยยืนอยู่เหนือศีรษะของคนเจ็บ ย่อเข่าลง สอดมือทั้งสองข้างเข้าไปที่ใต้แขนของคนเจ็บ แล้วจับให้แน่น ให้ศีรษะ และคอของคนเจ็บอยู่ระหว่างแขนทั้งสองข้างของคุณ ค่อย ๆ เดินถอยหลังทีละก้าวช้า ๆ โดยลากไปตรง ๆ ห้ามลากไปทางซ้าย หรือขวา พยายามให้ศีรษะ คอ ลำตัว และขาของคนเจ็บ อยู่ในแนวเส้นตรงระนาบเดียวกัน สังเกตด้วยว่า เสื้อของคนเจ็บไม่รั้งที่คอ จนขาดอากาศหายใจ

ให้ออกแรงลากโดยใช้กำลังขา ย่อเข่า พยายามให้หลังเหยียดตรง จะเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกหลัก และช่วยให้คุณไม่ปวดหลัง

การห้ามเลือด

หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดของคนเจ็บโดยตรง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบล้างมือด้วยสบู่ รวมทั้งบริเวณที่เปื้อนเลือด ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

การห้ามเลือดทำได้โดย

  • -ใช้นิ้วมือกดไว้ตรงบาดแผล
  • -ใช้ผ้าสะอาดพันปิดแผลไว้ อย่าให้แน่นจนชา
  • -หากไม่มีผ้าพันแผล เราสามารถดัดแปลงสิ่งของใกล้ตัวมาใช้ได้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ชายเสื้อ ชายกระโปรง เนคไท
  • -แผลที่แขน หรือขาให้ยกสูง จะช่วยให้เลือดไหลช้าลง ปกติเลือดจะหยุดไหล ภายในเวลาประมาณ 15 นาที ถ้าเลือดไหลไม่หยุด ให้กดเส้นเลือดแดงใหญ่ ที่ไปเลี้ยงแขน ขา
  • -การกดเส้นเลือดแดงใหญ่ เพื่อห้ามเลือด ให้กดบริเวณเหนือบาดแผล ตำแหน่งที่ใช้กดเพื่อห้ามเลือด คือ ถ้าเลือดไหลที่แขนให้กดแขนด้านใน ช่วงระหว่างข้อศอกและหัวไหล่ ถ้าเลือดไหลที่ขา ให้กดที่หน้าขาบริเวณขาหนีบ **การห้ามเลือดโดยการกดเส้นเลือดแดงใหญ่นั้น ควรทำก็ต่อเมื่อ ใช้วิธีการห้ามเลือดโดยการกดบาดแผล หรือใช้ผ้าพันแผลแล้ว ไม่ได้ผล เพราะจะทำให้อวัยวะที่ต่ำกว่าจุดกดขาดเลือดไปเลี้ยง หากกดนาน ๆ กล้ามเนื้ออาจตายได้ จึงไม่ควรกดเส้นเลือดแดงใหญ่เกินกว่าครั้งละ 15 นาที
  • -ไม่ควรถอดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าของคนเจ็บ แม้ว่าจะเปื้อนเลือดจนชุ่มแล้ว เพราะอาจยิ่งทำให้เลือดไหลออกมาอีก

กระดูกหัก

  • -หากมีเลือดออก ให้ห้ามเลือดทันที
  • -หากกระดูกแทงทะลุออกมานอกผิวหนัง ห้ามจับกระดูกกลับเข้าที่เดิม
  • -สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือคนเจ็บที่กระดูกหัก ก็คือ การใส่เฝือก เพื่อยึดไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ถ้ากระดูกหักที่แขน มือ หรือข้อศอก ให้ใส่ผ้าคล้องแขนด้วย
  • -สิ่งที่จะใช้ทำเฝือกได้ ก็คือ วัสดุที่แข็ง และไม่ยืดหยุ่น เช่น ไม้กระดาน ด้ามไม้กวาด หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร ที่นำมาม้วนให้แข็ง หากพื้นผิวของวัสดุไม่เรียบ ให้หาผ้ารองไว้ชั้นในก่อน
  • -เฝือกควรมีความยาวมากกว่าอวัยวะส่วนที่หักเล็กน้อย ผูกเฝือกด้วยเชือก เนกไท ผ้าพันคอ หรือเศษผ้าที่หาได้ โดยไม่ควรผูกให้แน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากสังเกตว่าบริเวณนั้น เปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ หรือมีอาการชา ให้รีบคลายเฝือกออก

แผลถูกแทง

  • -หากวัตถุที่แทงมีขนาดยาวมาก สามารถตัดให้สั้นลงได้ โดยทำอย่างระมัดระวัง แต่ห้ามดึงออก เพราะ จะทำให้เลือดออกมากยิ่งขึ้น หรือเพิ่มอันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียง
  • -ห้ามเลือดโดยใช้ห่วงผ้ารองไม่ให้วัตถุนั้นปักลึกมากยิ่งขึ้น
  • -ไม่ควรให้กินอะไรทั้งสิ้น ให้คนเจ็บอยู่นิ่ง ๆ ให้มากที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

แผลถูกยิง

  • -ห้ามเลือดโดยใช้วิธีกดลงบนบาดแผลโดยตรง หรือกดเส้นเลือดแดงเหนือบาดแผล
  • -ถ้ามีกระดูกหักร่วมด้วยให้ดามกระดูกที่หัก ให้คนเจ็บนอนนิ่ง ๆ ห่มผ้าให้อบอุ่น เพื่อป้องกันการช็อค
  • -งดให้น้ำ หรืออาหารใด ๆ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 

 

 

Tuesday, March 9, 2010

หลอดเลือดสมองผิดปกติ

"สมอง" อวัยวะชิ้นสำคัญของร่างกาย หากถูกโรคหลอดเลือดในสมองคุกคาม จะแสดงอาการโดยเฉียบพลัน ซึ่งลักษณะอาการที่เกิดขึ้น สามารถระบุตำแหน่ง ที่หลอดเลือดในสมองอุดตัน หรือมีเลือดออกได้
  
เริ่มจาก ‘สมองใหญ่’ มีขนาดใหญ่ และอยู่ด้านบนสุด สามารถแยกย่อยออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย
  • -สมองใหญ่ส่วนหน้า (Front lobe) มีหน้าที่สั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหว หรือที่เข้าใจกันว่า สมองข้างขวาสั่งด้านซ้าย และสมองข้างซ้ายสั่งด้านขวานั่นเอง สมองบริเวณนี้หาก เกิดโรคหลอดเลือด จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงด้านตรงข้ามกับสมองซีกที่เกิด ความผิดปกติ รวมทั้งใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หากเป็นมาก ร่างกายอาจไม่สามารถขยับได้เลย เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก แต่ถ้าพอขยับได้ เรียกว่า อัมพฤกษ์ แถมยังส่งผลกระทบต่อส่วนของการสั่งให้พูด หากเกิดขึ้นกับสมองด้านซ้าย โดยผู้ป่วยจะพูดไม่ได้ พูดได้บางคำ ต่อประโยคไม่ได้
  • -สมองใหญ่ส่วนข้าง (Parietal lobe) คอยรับรู้การสัมผัส ความรู้สึกเจ็บ ร้อน เย็น จากร่างกายซีกด้านตรงข้าม หากเกิดโรคหลอดเลือดสมองขึ้น จะเกิดอาการชาด้านตรงข้ามกับสมองที่เกิดปัญหา
  • -สมองใหญ่ส่วนขมับ (Temporal lobe) มีหน้าที่ในการจดจำ และแปลเสียง ที่ได้ยินเป็นภาษาที่ใช้ ถ้ามีปัญหาจะทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าใจ เสียงที่ได้ยิน แม้เป็นภาษาที่ใช้มาก่อนก็ตาม
  • -สมองใหญ่ส่วนท้ายทอย (Occipital lobe) ทำหน้าที่ รับภาพที่ส่งมาจากตา หากโรคดังกล่าวเกิดขึ้นกับบริเวณนี้ จะทำให้มองไม่เห็นครึ่งซีกของลานสายตา
  • -สมองใหญ่ส่วนใน (Insular lobe) คอยควบคุมประสาทอัตโนมัติ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง
  
นอกจากสมองใหญ่แล้ว ยังมี แกนสมอง (Brain stem) มีสายใยประสาทจากสมองลงมาที่ไขสันหลัง และจากไขสันหลังขึ้นไปยังสมอง ควบคุมการทำงานของเส้นประสาทสมอง 12 คู่ ประสานการทรงตัวกับสมองเล็ก หากผิดปกติจะมีอาการแขน ขา อ่อนแรง ชา เห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด เดินเซ กินอาหารแล้วสำลัก เวียนศีรษะ ภาพหมุน อาจหมดสติโดยไม่รู้ตัว
  
สุดท้ายเป็น สมองเล็ก (Cerebellum) อยู่ด้านหลังสุด คอยประสานสมองต่าง ๆ ให้ทำงานสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว หากสมองส่วนนี้เสีย ผู้ป่วยจะเดินเซ ทรงตัวไม่ได้ พูดไม่ชัด เวียนศีรษะ แต่ไม่มีอาการอ่อนแรง

ที่มา
โรงพยาบาลพญาไท

Monday, March 8, 2010

ซีเรียล โฮลวีท

เป็นที่ทราบกันดี ถึงความสำคัญของการรับประทานอาหารมื้อเช้า แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของครอบครัวในปัจจุบัน ทำให้อาหารเช้า "ซีเรียล" ได้เข้ามามีบทบาท และกลายเป็นผู้ช่วยสำคัญให้แก่ครอบครัวยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก  เพราะ สะดวก ง่ายในการเตรียม  และลงตัวเหมาะกับช่วงเวลาที่เร่งรีบ

ที่สำคัญที่สุด นอกจากคุณค่าทางสารอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังมีปริมาณน้ำตาล และไขมันที่น้อยกว่าอาหารเช้าทั่วไปที่นิยมรับประทาน  กล่าวว่า อาหารมื้อเช้าเป็นมื้ออาหารที่มีความสำคัญที่สุด ทุกวันที่เราตื่นขึ้นมา ร่างกายต้องการพลังงานในการประกอบกิจกรรมตลอดทั้งวัน   ดังนั้น ถ้าเราไม่กินอาหารเช้า จะทำให้เกิดกรด และเป็นโรคกระเพาะได้ การกินอาหารเช้าไม่จำเป็นต้องกินอาหารหนัก แต่ควรรับประทานให้ครบ 5 หมู่

ไลฟ์สไตล์ของครอบครัวในปัจจุบัน ต้องพบกับความเร่งรีบในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา "ซีเรียล โฮลวีท" จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่สามารถตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบันได้อย่างค่อนข้างลงตัว  
เนื่องจาก ธัญพืชโฮลวีทผ่านกระบวนการผลิต ที่ขัดสีน้อย มีเยื่อหุ้มเมล็ด ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งต่างจากธัญพืชที่ขัดสีออกไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเหลือเป็นคาร์โบไฮเดรต  ซีเรียล โฮลวีท มีเส้นใยอาหารสูง อีกทั้งอุดมไปด้วยวิตามิน ที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ และมีแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ช่วยนำออกซิเจน ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ  ของร่างกาย รวมทั้ง ใยอาหาร เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบขับถ่าย เมื่อรับประทานซีเรียล ที่ทำจากโฮลวีทเป็นอาหารเช้า จะทำให้ร่างกายย่อยอาหารอย่างช้า ๆ และค่อย ๆ ปลดปล่อยพลังงานออกมา ช่วยให้ร่างกาย มีพลังงานต่อเนื่องจนถึงมื้อกลางวัน  ทำให้มีสมาธิ ในการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ 

ซีเรียล โฮลวีท เหมาะสำหรับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะคนที่ต้องการลดน้ำหนัก   ควรกินควบคู่กับนมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนย ซึ่งจะค่อย ๆ ย่อยเป็นพลังงานออกมา ทำให้อยู่ท้องได้นานกว่า และช่วยลดการกินอาหารจุกจิกระหว่างวัน

นอกจากนี้ โฮลวีทยังสามารถช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคหัวใจ  เพราะ โฮลวีทมีไฟเบอร์สูง ทำจากข้าวสาลีอบแห้ง ซึ่งจะมีโพแทสเซียม และฟอสฟอรัสสูง  สารอาหารพวกนี้จะช่วยในการบำรุงหัวใจ โรคความดันโลหิต  เพราะ อาหารประเภทธัญพืช และโฮลวีท มีโซเดียมน้อย จะช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวานชนิดที่สอง การกินอาหารประเภทธัญพืช จะช่วยลด และรักษาระดับน้ำตาลได้ โดยการชะลอการดูดซึมคาร์โบไฮเดรต เข้าสู่กระแสเลือดได้อีกด้วย  โรคท้องผูก  ด้วยการได้รับสารอาหารที่มีไฟเบอร์สูง  เนื่องจาก กากใยอาหารจะเป็นตัวช่วย ในระบบขับถ่ายได้เป็นอย่างดี  เพราะร่างกายย่อยไม่ได้

ที่มา
ภัทรพร ลูกน้ำเพชร นักกำหนดอาหาร
โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน

ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด

เมื่อแฟนสุดเลิฟไม่ยอมคลุม "ถุงยาง" และยังไม่พร้อมมีบุตร ผู้หญิงจึงต้องยึดหลัก "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" กินยาคุมปลอดภัยไว้ก่อน  ผู้หญิงทุกวันนี้ นิยมกินยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดกันมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ไม่ใช่กินเพราะคุมกำเนิดอย่างที่ผ่านมาแล้ว แต่ต้องการผลพลอยได้จากยาคุมในอีกมุมหนึ่ง ที่ทำให้ขนาดหน้าอกเพิ่มขึ้น สิวน้อยลง
“การกินยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด เพื่อรักษาสิว เพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่กว่าปกติ เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะ หากเลือกยาไม่สัมพันธ์กับฮอร์โมนในร่างกาย ผลที่ตามมา อาจเป็นผลข้างเคียงจากยา และยังสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง  หรือเฉพาะจุดที่ร่างกายมีปัญหาจะดีกว่า” 

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงในการพิจารณาเลือกซื้อยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด คือ จุดประสงค์ของยา ซึ่งเหมาะสำหรับการป้องกันการตั้งครรภ์ ในระยะเวลา 5-10 ปี   เนื่องจาก เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก แต่ผู้กินต้องเสียเงินประจำทุกเดือน และต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง ในการกินต่อเนื่องในเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน

ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดโดยทั่วไป จะประกอบด้วย ฮอร์โมนสังเคราะห์ 2 ชนิด  คือ เอสโตรเจน และโปรเจสโตเจน ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในร่างกาย เพื่อที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ คนที่ต้องการคุมกำเนิดด้วยยาคุมควรปรึกษาแพทย์ก่อน

การสังเกตว่า ยาคุมที่กินอยู่มีผลข้างเคียงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง เช่น น้ำหนักตัว หลังจากกินยาคุมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่ มีอาการปวดศีรษะ หรือไมเกรน คลื่นไส้อาเจียน เจ็บตึงคัดเต้านม หน้าเป็นฝ้า ในระยะ 2-3 เดือนแรกของการกินยา   หรือมีอาการต่อเนื่องหรือไม่ และหากพบอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อขอคำแนะนำในการกินที่ถูกต้อง

สมัยก่อน ยาเม็ดคุมกำเนิดจะมีขนาดฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงถึง 150 ไมโครกรัม ซึ่งถือว่าสูงมาก ทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ง่าย   
วิธีเลือกซื้อยาเม็ดคุมกำเนิดที่ปลอดภัย ควรพิจารณายาคุมกำเนิด ชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณต่ำเป็นอันดับแรก  เพราะ จะมีส่วนช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องน้ำหนักตัว หลังการกินยาต่อเนื่อง 2-3 เดือน

สำหรับคนที่แพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และมีอาการน้ำหนักเพิ่มมากจนผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อขอรับคำแนะนำเช่นกัน เพื่อสามารถพิจารณา เลือกกินยาคุมชนิดเม็ดแบบอื่น ที่สอดคล้องรับกับฮอร์โมนของร่างกายเรา   เนื่องจากปัจจุบัน มียาเม็ดคุมกำเนิดวางจำหน่ายในตลาดมากมายให้เลือก

ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดมี 3 ชนิดได้แก่ ชนิดฮอร์โมนรวม ชนิดฮอร์โมนเดี่ยว หรือชนิดไร้เอสโตรเจน และยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฉุกเฉิน โดยยาคุมชนิดเม็ดแบบไร้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เหมาะสำหรับคนที่แพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ลดอาการข้างเคียง เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม อาการบวมน้ำ ไม่ตึงคัดเต้านม หน้าเป็นฝ้า รวมถึงลดการปวดศีรษะ แต่อาจมีราคาแพงกว่ายาคุมทั่วไป
การกินยาเม็ดคุมกำเนิดที่เหมาะกับร่างกาย ไม่เพียงลดอาการข้างเคียงดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในระยะยาว มีผลงานวิจัยบ่งชี้อีกว่า มีประสิทธิภาพ ช่วยเรื่องรอบเดือนให้มาสม่ำเสมอ ลดอาการปวดประจำเดือน และประจำเดือนมามาก โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และลดอาการเครียด ก่อนมีประจำเดือนได้ รวมถึงลดอาการก่อนวัยหมดประจำเดือน  

การกินยาคุมยังช่วยลดความเสี่ยง ในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งลำไส้ ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ก้อนเนื้องอกที่เต้านม และรังไข่ชนิดไม่ร้ายแรง การอักเสบในอุ้งเชิงกราน และการตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย

สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฉุกเฉิน มีประสิทธิภาพคุมกำเนิดเพียง 70% ส่งผลให้ประจำเดือนมาผิดปกติ และอาจมีประจำเดือนแบบกะปิดกะปอยหลายเดือนต่อเนื่อง

สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น ควรเลือกกินยาเม็ดคุมกำเนิดแบบปกติจะดีกว่า เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
“การคุมกำเนิดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยากินแบบที่เป็นฮอร์โมน ยาฝัง ไม่ได้ป้องกันเรื่องกามโรค หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์   หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรหาวิธีการป้องกันอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย”

อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องพูดถึง คือ สาวประเภทสอง ที่หันมานิยมกินยาคุม เพื่อเสริมอึ๋ม นับว่าไม่สมควรกิน  เพราะ การที่หน้าอกใหญ่ขึ้น  เป็นอาการของเซลล์ที่หน้าอก มีการบวมน้ำ เหมือนมีฟองน้ำที่มีน้ำอัดอยู่เยอะ ๆ   ปัจจุบัน ถึงแม้ยังไม่มีงานวิจัย ที่บ่งชี้ว่ามีผลข้างเคียงอย่างใดต่อสาวประเภทสอง แต่ที่น่ากลัว คือ คนที่กินในปริมาณมาก เช้า กลางวัน เย็น อาจส่งผลให้ตับทำงานหนักจนเกิดภาวะตับวายได้

ที่มา
นพ. มานพชัย ธรรมคันโธ
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

Sunday, March 7, 2010

ข้อแนะนำในการเลือกซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกาย



ท่านที่กำลังตัดสินใจ ที่จะเริ่มต้นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ หรือท่านที่ออกกำลังกายอยู่แล้ว ด้วยวิธีการต่าง ๆ  เช่น การเดิน การวิ่ง การเต้นแอโรบิค ถ้าหากท่านเริ่มเบื่อ หรือมีเวลาน้อยลง ที่จะต้องเดินทางไปศูนย์ออกกำลังกาย ท่านอาจพิจารณาหาซื้ออุปกรณ์ หรือเครื่องออกกำลังกาย ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน โดยมีข้อพิจารณา ดังนี้
  • -ท่านมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคข้อต่อเสื่อม โรคหืดหอบ โรคถุงลมโป่งโพง หรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ  เช่น โรคไต โรคเบาหวาน ท่านควรที่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะประกอบไปด้วย ความหนัก ความนาน และความบ่อย   ดังนั้น อุปกรณ์ หรือเครื่องออกกำลังกายชนิดใดเหมาะสม ท่านควรสอบถามจากแพทย์ด้วย
  • -อุปกรณ์ หรือเครื่องออกกำลังกายแต่ละชนิด จะให้ประโยชน์ต่อร่างกายส่วนต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป ท่านควรจะเลือกอุปกรณ์ชนิดที่มีประโยชน์ ตรงกับความต้องการของท่าน
  • -อุปกรณ์ หรือเครื่องออกกำลังกายแต่ละชนิด จะให้ความสะดวกสบาย มีความยากง่ายในการใช้ มีความสนุกขณะออกกำลังกาย แตกต่างกันออกไป ตามความชอบของแต่ละบุคคล   ดังนั้น ถ้าท่านยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกชนิดใดดี ท่านอาจทดสอบอุปกรณ์เหล่านั้นจากศูนย์ออกกำลังกายต่าง ๆ  ก่อน
  • -อุปกรณ์ หรือเครื่องออกกำลังกายที่เป็นที่ชื่นชอบ หรือเหมาะสมกับทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย อาจจะหาไม่ได้ แต่ถ้าท่านคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยสำหรับทุกคนไว้ ท่านอาจสอบถามจากผู้ขาย และสมาชิกในครอบครัวด้วยก่อนตัดสินใจ
  • -ข้อสุดท้าย ถือเป็นข้อที่สำคัญที่สุด คือ อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกาย ไม่ใช่เป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือของประดับบ้าน เหมือนเช่นที่หลาย ๆ บ้านมีไว้  หากท่านตัดสินใจเลือกซื้อชนิดใด หรือซื้อไว้แล้ว ขอให้ท่านได้เริ่มใช้ และสุขภาพของท่านจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

ปานแดง ปานดำ

ปานแดง ปานดำ เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดทั้ง 2 อย่าง และเป็นปัญหาที่นำมากล่าวร่วมกัน แต่ในความจริงความผิดปกติทั้ง 2 อย่างนี้ เป็นคนละเรื่องกันเลย 

กล่าวคือ ปานแดง เป็นความผิดปกติของเส้นเลือด ส่วนปานดำเป็นความผิดปกติของเซลล์สร้างสีของผิวหนัง 

หลักเกณฑ์ในการรักษาก็แตกต่างกัน คือ ปานแดง หรือ Strawberry Hemargiona นั้น เป็นมาแต่กำเนิด และอาจหายเองได้หรือ ฝ่อตัวลงได้เองโดยไม่ต้องทำอะไร   โดยทั่วไป เราจะดูอาการก่อนในขวบปีแรกหลังคลอด  หลังจากนั้น มักจะฝ่อตัวลง เรามักจะเริ่มให้การรักษาหลังจากอายุ 5 ปี ในส่วนที่เหลือ  ยกเว้น ปานแดงบางตำแหน่ง  เช่น บริเวณเปลือกตา, หรือมีเลือดออก เป็นต้น การรักษาปานแดงมีหลายวิธี ตั้งแต่การใช้เลเซอร์ชนิดที่เหมาะกับปานแดง, การผ่าตัด หรือการฉีดยา

สำหรับการรักษาปานดำ หรือปานสีน้ำเงิน อาจรักษาโดยใช้เลเซอร์สำหรับปานดำ, การผ่าตัด, การรักษาโดยใช้ความเย็น เป็นต้น

ข้อเสนอแนะสำหรับความผิดปกติในเรื่องนี้ คือ การรักษาเรื่องปานแดงและปานดำนี้ เป็นความพิการที่มีมาแต่กำเนิด ที่สามารถรับการปรึกษา และรักษาได้ในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีหลายตำแหน่ง ที่มีเครื่องมือพร้อมในการรักษาอยู่แล้ว

Saturday, March 6, 2010

ข้อศอกด้าน-ดำ

หากเกิดขึ้นกับผู้ชาย ดูไม่น่าเกลียดเท่าไหร่ แต่กับสาว ๆ คงไม่ชอบแน่ ๆ ใคร ๆ ก็อยากมีผิวใสนวลเนียนไปทั้งร่างกายทั้งนั้น   สำหรับสาว ๆ ที่ชอบเท้าศอก แต่ก็กลัวไม่อยากให้ศอกด้าน-ดำ เรามีวิธีมาแนะนำ ให้เรามีข้อศอกสวย ๆ โชว์ได้เต็มที่อย่างมั่นใจไม่อายใคร

เคล็ดไม่ลับข้อที่ 1
ถ้าอยากเท้าข้อศอก หลีกเลี่ยงให้ข้อศอกของเราสัมผัสกับพื้นผิวของวัตถุโดยตรง เพราะผิวหนังของเรานิ่มและยืดหยุ่น และพื้นผิววัตถุโดยมากและจะแข็ง เป็นสาเหตุให้ศอกเราด้านได้ ต่อไปนี้ให้หาผ้ามารองใต้ศอก แต่ถ้าไม่มีผ้า ให้ใช้ฝ่ามือรองไว้ข้างใต้ข้อศอกก็ได้จ้ะ ก็เพื่อให้ลดแรงกดทับระหว่างผิวหนังของเรากับพื้นผิววัสดุนั่นเอง

เคล็ดลับไม่ข้อที่ 2
หมั่นดูแลผิวบริเวณข้อศอกซักหน่อย ด้วยกับหมั่นทาครีม หรือโลชั่นเป็นประจำ ขัดสครับผิวบริเวณข้อศอกบ้างสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง วิธีนี้สามารถใช้กับเข่าก็ได้ ส้นเท้าก็ดี เพราะให้เราเป็นผู้หญิงที่มีผิวสวยไร้ที่ติ เสริมความมั่นใจให้เราได้

“ดวงตา เป็นหน้าต่างของหัวใจ”

ประโยคที่ได้ยินเป็นประจำ การที่เราจะมองใครคนหนึ่งว่า สวยหรือไม่ ตาก็เป็นจุดที่สำคัญจุดหนึ่ง ถ้าใครมีดวงตาที่ผ่องใส ผิวหนังรอบตาไม่มีมลทิน ก็ทำให้หน้าดูสวยไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าใครมีปัญหาขอบตาคล้ำ ก็ทำให้ใบหน้าดูหมอง ไม่สดใส ความสวยงามก็ลดลงไปแล้ว   ดังนั้น การรักษาผิวรอบดวงตาที่หมองคล้ำ ทำให้กลับมาสดใส จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ปัญหาใต้ตาคล้ำ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย ๆ ในคนไทย ก่อนจะมาถึงการรักษา ควรจะต้องทราบถึงสาเหตุเสียก่อน เพื่อให้การรักษาได้ผลดีขึ้น และเป็นการป้องกันไม่ให้รอยดำเป็นมากขึ้น

สาเหตุของขอบตาดำ
มีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ บางคนมีสาเหตุจากหลาย ๆ สาเหตุไม่ว่าจะเป็น

สาเหตุแรกมาจากกรรมพันธุ์ ถ้าคนไทยมีขอบตาดำ แล้วลองหันไปมองญาติพี่น้อง พ่อแม่ของคุณดูว่า เป็นแบบเดียวกับที่คุณเป็นหรือไม่ ถ้าเป็นละก็ การรักษาและป้องกันอาจจะยาก

สาเหตุมาจากภูมิแพ้ คนที่เป็น ภูมิแพ้ จะพบว่าเส้นเลือดดำ ที่อยู่รอบตาจะขยายใหญ่มากกว่าคนทั่วไป และเส้นเลือดดำเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นสาเหตุให้ขอบตาของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ดูคล้ำกว่าคนทั่วไป

การระคายเคืองแถว ๆ รอบตา ก็สามารถทำให้ขอบตาคล้ำได้เช่นกัน การขยี้ตาบ่อย ๆ เพราะการขยี้ตา จะกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสี ให้เพิ่มจำนวนขึ้นบริเวณนั้น หรือแม้แต่การแพ้ครีมทารอบดวงตา บางคนอาจแพ้สารบางอย่างในครีม ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่า ใครจะแพ้สารตัวใด ใครบ้างที่จะเป็น ถ้ารู้ว่าแพ้ คงต้องหยุดการทาครีมดังกล่าว ถ้าไม่ทราบอาจต้องพึ่งการทดสอบว่า แพ้สารที่ต้องสงสัยหรือไม่

การอดนอน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสาเหตุนี้ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในสภาพสังคมปัจจุบัน ใครที่รู้ตัวว่าอดนอนบ่อย ๆ หรือนอนดึก  ก็ขอให้นอนเร็วขึ้น เพื่อที่ขอบตาจะได้ดูสดใสกว่าเดิม หรือแม้แต่เป็น ปานโอตะ ซี่งปานโอตะนี้ คือ เซลล์เม็ดสีที่อยู่ในชั้นหนังแท้  พบในบางคนที่มีความผิดปกติ ที่เซลล์สร้างเม็ดสีอยู่ผิดที่ ซึ่งมักพบบริเวณรอบ ๆ ตา โดยมากมักจะเป็นข้างเดียว แต่มีบางคนอาจเป็นได้ทั้ง 2 ข้าง ทำให้ขอบตาดูเขียวคล้ำ

วิธีการรักษาขอบตาดำก็ไม่ยาก ถ้าไม่ใจร้อน รักษาแบบได้ผลช้า ๆ ก็ใช้เป็นยาทาใต้ตา ที่มีส่วนผสมของ Whitening เช่น วิตามินซี 

แต่ถ้าต้องการให้เห็นผลดีมากขึ้น และได้ผลเร็ว ๆ การรักษาด้วยเลเซอร์ หรือเครื่องแสงเข้มข้น เป็นวิธีที่ได้ผลดี เลเซอร์ที่ใช้รักษาขอบตาดำได้ ที่นิยมมากที่สุด คือ Nd-yag laser   นอกจากนี้ เลเซอร์ตัวนี้ยังสามารถรักษาภาวะปานโอตะได้ด้วย   หลังยิงเลเซอร์ ผิวบริเวณนั้นจะเป็นสะเก็ด และสะเก็ดจะหลุดออกภายใน 1-2 อาทิตย์ และผิวของตาที่คล้ำ ก็จะดูขาวขึ้น

เครื่องแสงเข้มข้น คล้ายกับเลเซอร์ แต่ต่างกันที่หลังจากยิงเสร็จแล้ว จะไม่เป็นแผล แต่อาจจะเป็นสะเก็ดฝอย ๆ เล็กน้อย แต่เครื่องนี้ไม่สามารถรักษาภาวะปานโอตะได้

ขอบตาดำ เป็นเรื่องที่ต้องรักษากันนาน และถ้าไม่รู้จักดูแลตัวเองให้ดี นอนหลับไม่เพียงพอ ไม่ช้าขอบตาก็กลับมาดำได้อีก ดังนั้น การดูแลเอาใจใส่รอบดวงตาเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะเริ่มเป็นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด...^^

Wednesday, March 3, 2010

ธรรมชาติบำบัด

ธรรมชาติบำบัดให้ผล และประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้ยาสังเคราะห์ เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษา และไม่มีผลข้างเคียง เป็นการกลับไปสู่ธรรมชาติ
สมุนไพรไทยมีหลากหลายชนิด ที่ช่วยรักษาโรคต่าง ๆ ได้ผลดีมาก

ว่านรางจืด เป็นว่านล้างพิษ ดีท็อกซ์ ถ้าเกิดเราเป็นเบาหวาน มีน้ำตาลอยู่ในเลือดมาก จนกระทั่งเกิดกรดสะสม มีกรดหลายตัวที่เกิดจากน้ำตาล สะสมมาจนคั่งค้างอยู่ตามผิวหนัง  ตามหลอดเลือด อวัยวะต่าง ๆ แล้วเกิดพิษ   ว่านรางจืดช่วยแก้พิษได้ และช่วยลดน้ำตาลในเลือด เพราะเป็นว่านที่ดีท็อกซ์พิษโดยเฉพาะ เป็นยาแก้พิษ หากได้รับพิษมาให้ใช้รางจืด  หรือหากเกิดพิษเบื่อเมา กินรางจืดก็จะหาย

อีกชนิดนึงที่มีคุณสมบัติเทียบเคียงได้กับว่านรางจืด คือ ย่านางแดง หรือถ้าเกิดหาย่านางแดงไม่ได้ ให้ใช้ใบย่านางเขียว ที่เรากินอยู่ในครัวเรือนสด ๆ ก็จะมีคุณสมบัติเทียบเท่ารางจืด แต่ว่าย่านางจะใช้สำหรับแก้พิษเฉียบพลัน ส่วนว่านรางจืดแก้พิษเมาเบื่อ แต่อย่างไรก็ตาม ว่านรางจืดไม่ได้ช่วยแก้เบาหวาน

สมุนไพรที่จะแก้เบาหวานได้จริง ๆ  ส่วนมากจะเป็นสมุนไพรที่มีรสขม เช่น บอระเพ็ด ใบอินทนินทร์ เอาไปต้มก็แก้ได้ดี ขมิ้นเครือแห้ง ก็ใช้การได้ดี และที่ดีมากอีกตัวหนึ่ง คือ อบเชย ก็ช่วยได้เหมือนกัน และมีอีกหลายตัว ที่ช่วยในเรื่องเบาหวานได้ดีมาก  แต่ขอแนะนำ ให้กินผสมกันหลาย ๆ ตัว ไม่ควรกินสมุนไพรเดี่ยว ๆ  ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินจริง ๆ เช่น โดนยาเบื่อ ในเด็ก ๆ ที่อาจเผลอเรอกินยาเบื่อเข้าไป ซึ่งต้องปฐมพยาบาล เพราะหายาตำรับใหญ่ไม่ทัน ก็อาจเอารางจืดให้กิน หรือย่านาง กินประทังไปก่อนถึงโรงพยาบาล

วิธีการใช้สมุนไพรในการแก้เบาหวาน  เช่น บอระเพ็ด ใบอินทนินทร์ อบเชย  มะระขี้นก และยอดมะระ สามารถกินสดได้เลย จะตากแห้ง บดผง อัดแคปซูลกินก็ได้ หรือแปรรูปอย่างอื่น เช่น บอระเพ็ดแช่อิ่ม มะระขี้นกแช่อิ่ม ซึ่งจะทำให้ความขมลดลงไป ผลไม้รสขมทั้งหลาย รับประทานแก้โรคเบาหวานได้
วิวัฒนาการการแปรรูป อาจจะมีผลทางยาลดลงไปบ้าง แต่ว่าก็ยังอยู่ในระดับที่ช่วยรักษาโรคได้อยู่ ในทางวิทยาศาสตร์ยังถือว่า รับประทานได้ผลดีกว่ายาสังเคราะห์ และสามารถกิน เป็นของทานเล่น ทานเป็นขนมได้

สมุนไพร 3 ชนิด ที่มีสรรพคุณช่วยละลายลิ่มเลือด ได้แก่ หญ้าลิ้นมังกร (เล่งจือเฉ้า)   ใบแปะก๊วย หนุมานประสานกายสด 1 ช่อ มี 7 ใบ ใช้ทั้งหมด 7 ช่อ เอามาผสมกับใบแปะก๊วย นำมาชงกับน้ำ   ทานจิบเป็นน้ำชา เช้า 1 ครั้ง เย็น 1 ครั้ง รับประทานไปเรื่อย ๆ ไม่มีผลข้างเคียง แก้อาการแข็งตัวของลิ่มเลือดได้ดีมาก

สมุนไพรแก้เส้นเลือดขอด สลายลิ่มเลือด อีกหนึ่งตำรับ คือ ว่านชักมดลูก สบู่เลือด ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน มหาเมฆสากเหล็ก และทรหด ใช้อย่างละ 1 ส่วน เฉพาะว่านชักมดลูกใช้  2 ส่วน นำมาบดรวมกัน อัดแคปซูล หรือชงกินกับน้ำก็ได้ สมุนไพรดังกล่าว สามารถช่วย รักษาการนอนกรน ซีสต์ในมดลูก ได้อีกด้วย

 

Sunday, February 28, 2010

กระเพาะอาหารอักเสบ

กระเพาะอาหารอักเสบ หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร หมายถึง การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และในลำไส้เล็กส่วนต้น อาจเกิดได้ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด   ส่วนหนึ่งเชื่อว่า เกี่ยวข้องกับการหลั่งกรด ในกระเพาะอาหารมากขึ้น มีความต้านทานที่ผิวของเยื่อบุกระเพาะอาหารลดลง อาจมีความสัมพันธ์กับสภาวะทางจิตใจ หรืออาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็ได้

ส่วนกลุ่มที่หาสาเหตุได้ ได้แก่ กลุ่มที่มีโรคอื่น ๆ ร่วม เช่น ภาวะช็อคติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะการหายใจล้มเหลว หรือจากการรับประทานยาบางอย่าง เช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน เป็นต้น

อาการของโรคกระเพาะอาหาร
สามารถเป็นได้ตั้งแต่ อาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำในเด็ก ทารกอาจมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร โดยไม่มีอาการอื่นมาก่อนก็ได้, ส่วนเด็กอายุ 1 เดือน ถึง 1 ปี ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มักมีอาการรับประทานน้อย เลี้ยงไม่โต, ในเด็กวัยก่อนเรียน อาการที่พบบ่อย คือ การอาเจียน ร่วมกับอาการปวดท้อง, ในเด็กที่โตขึ้น จะเหมือนผู้ใหญ่ มักมีอาการปวดท้องเรื้อรัง ที่บริเวณลิ้นปี่ โดยจะรู้สึกปวดมากเวลาหิว บางครั้งก็ปวดเวลาหลับตอนกลางคืน หรือหลังตื่นนอนตอนเช้า และอาการปวดจะลดลง หลังรับประทานอาหารเข้าไป

ผู้ป่วยที่มีอาการ ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน ถ้าหากเป็นโรคกระเพาะจริง ๆ การรักษาตั้งแต่เริ่มต้น จะง่ายกว่าการรักษาเมื่อเป็นเรื้อรัง

วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร เท่าที่ทุกท่านพอจะทำได้ คือ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวด ประเภทแอสไพริน, หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด, น้ำอัดลมทุกชนิด ในกรณีของเด็ก ๆ ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นภายในครอบครัว จะช่วยในการรักษาโรคนี้ทางอ้อมได้ส่วนหนึ่งเหมือนกัน

น้ำยาบ้วนปาก

ท่านควรจะบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากทุกวัน น้ำยาบ้วนปากจะช่วยขจัดกลิ่นปากได้ชั่วคราว   นอกจากนี้ สารฟลูออไรด์ในน้ำยาบ้วนปากจะช่วยป้องกันฟนผุได้ บางท่านอาจจะรู้สึกว่าปากไม่สะอาด หากไม่ได้ใช้น้ำยาบ้วนปาก ยาบ้วนปากบางชนิดจะช่วยป้องกันไม่ให้หินปูนเกาะฟัน เพราะจะช่วยทำให้คราบจุลินทรีย์อ่อนตัวลง จนสามารถใช้แปรงสัฟัน แปรงออกได้ หากท่านต้องการใช้น้ำยาบ้วนปาก ที่ช่วยขจัดคราบบุหรี่ ท่นควรจะอ่านฉลากยาก่อนซื้อ

ดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น น้ำยาบ้วนปากจะช่วยขจัดกลิ่นปากเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากท่านมีกลิ่นปากเหม็น ที่ไม่หายด้วยน้ำยาบ้วนปาก ท่านควรจะปรึกษาหมอฟัน เพราะอาจเกิดจากปัญหาอื่น ๆ ได้

Friday, February 26, 2010

เล็บขบ

เล็บขบ
เป็นปัญหาให้แก่ท่าน จนท่านไม่สามารถออกจากบ้าน ไปไหนมาไหนได้ตามปกติ เพราะ มีความเจ็บปวดค่อนข้างมาก  บางรายต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ หรือที่เรียกไข่ดัน  ความเจ็บปวดเกิดจาก ขอบเล็บที่งอกเข้าไปในผิวหนังข้าง ๆ แล้วทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ และเป็นหนองข้าง ๆ เล็บ 

สาเหตุของเล็บขบ
ส่วนใหญ่เกิดจากการตัดเล็บที่ไม่ถูกวิธี เครื่องมืออาจจะไม่สะอาดเพียงพอ มีแผลเลือดออกจากการตัดเล็บแล้ว ไม่ทำความสะอาดให้ดี บางรายอาจเกิดจากการใส่รองเท้าคับเกินไป บางรายอาจเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เพราะ ลักษณะการงอกของเล็บ มักจะงอกเข้าในเนื้อ แทนที่จะงอกออกมาตรง ๆ เล็บขบของนิ้วโป้งพบได้บ่อยกว่านิ้วอื่น ๆ

การป้องกันไม่ให้เล็บขบ

ท่านจะต้องพยายามตัดเล็บให้ถูกวิธี พิถีพิถัน อย่าตัดลึกจนเกินไป จนเกิดแผลเลือดออก และให้ทำความสะอาด ถ้าเกิดบาดแผล  และควรใส่รองเท้าที่เหมาะสม ไม่บีบรัดที่หัวรองเท้าจนเกินไป

การรักษา
ภาวะเล็บขบ กรณีมีอาการไม่มาก ท่านอาจดูแลตนเองโดยพยายามใช้เท้าให้น้อย ยกเท้าสูง ทำความสะอาดรอบ ๆ เล็บที่อักเสบ  โดยอาจแช่เท้าด้วยน้ำผสมด่างทับทิม หรือใช้สำลีชุปแอลกอฮอล์ เช็ดทำความสะอาด หากเกิดการอักเสบจนนิ้วเท้าบวมแดง สงสัยว่าจะมีหนองตรงใต้ขอบเล็บ ท่านควรไปรับการตรวจรักษาให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น เพราะ หากรอไว้นานเกินไป การอักเสบอาจลุกลามจน ต้องตัดเล็บออกบางส่วน เพื่อให้หนองไหลออกได้สะดวก มิฉะนั้นการอักเสบติดเชื้อจะไม่หาย

ภาวะกลั้นปัสสาวะ / อุจจาระไม่ได้

ภาวะกลั้นปัสสาวะ / อุจจาระไม่ได้

การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในผู้สูงอายุ ก็เหมือนในคนอายุน้อย คือ ต้องมีสาเหตุ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจจะเป็นการติดเชื้อ ปัญหาของเรื่องต่อมลูกหมาก หรืออาจเป็นความผิดปกติ ที่เกิดจากเส้นประสาท ที่มีหน้าที่ในระบบควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งโดยมาก จะมีปัญหาในการกลั้นอุจจาระไม่ได้พร้อมกันไปด้วย เพราะเป็นเส้นประสาทเส้นเดียวกัน

สำหรับการที่พบปัญหานี้ในคนสูงอายุได้บ่อยกว่าคนอายุน้อย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อหูรูด ที่ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ และอุจจาระ ทำให้ไม่มีกำลังเพียงพอ จึงเกิดปัสสาวะ อุจจาระเล็ดราดได้ง่าย

ภาวะกลั้นปัสสาวะ หรืออุจจาระไม่ได้จะหายไปได้ ถ้าในกรณีที่เกิดจากสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัญหาเรื่องต่อมลูกหมาก หรือในกรณีของการกลั้นอุจจาระไม่ได้ในผู้สูงอายุบางคน อาจเกิดจากการที่รับประทานอาหารประเภทกากใย จำพวกผักผลไม้น้อยเกินไป

ส่วนกรณีที่เป็น สาเหตุจากเส้นประสาทที่ควบคุมเสียหน้าที่ไป เช่น เส้นเลือดในสมองแตกเกิดอัมพาต ผู้ที่ได้รับภยันตรายต่อไขสันหลังจากอุบัติเหตุ แล้วเกิดอัมพาต หรือโรคสมองฝ่อในผู้สูงอายุ ในกลุ่มพวกนี้ค่อนข้างจะมีปัญหาในการรักษาให้ดีได้เหมือนปกติ

ถ้าการ รักษาด้วยวิธีธรรมดาแล้วไม่ดีขึ้น ผู้ที่มีปัญหาอาจต้องการการตรวจรักษา และการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ หรืออุปกรณ์พิเศษ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคที่เรียกว่า ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ

Wednesday, February 24, 2010

ชาเขียว

ชาเขียว เป็นเครื่องดื่ม ที่ชาวจีนนิยมมากกว่า 4 พันปีมาแล้ว  ในตำราแพทย์แผนโบราณของจีน ชามีสรรพคุณหลายอย่าง  เช่น ช่วยย่อยอาหาร ล้างสารพิษ และเชื่อว่า เป็นยาอายุวัฒนะ

ชามีมากมายหลายชนิด แต่สามารถจัดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ชาดำ และชาเขียว

ข้อแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มนี้ คือ การหมัก
ซึ่งรสชาติของชาดำนั้น จะเข้มข้นกว่าชาเขียว แต่ชาเขียวมีสารที่สำคัญ  ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนไปในขบวนการหมักชา และมีคุณภาพมากกว่า

นักวิจัยหลายท่านยืนยันว่า สารสำคัญในชาเขียวช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ หลายชนิด เช่น ช่วยลดโคเลสเตอรอล และความดัน  ชาเขียวยังมีสรรพคุณ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด ลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง และกระตุ้นการสร้างตัวของเม็ดเลือดขาว เพิ่มภูมิต้านทานแก่ร่างกาย

เกลือแร่ อยู่ในอาหารชนิดไหน??

เนื่องจาก เกลือแร่มีมากมายหลายชนิด เพื่อให้ท่านได้เข้าใจพอที่จะเลือกอาหาร ที่มีเกลือแร่ ที่ท่านสนใจ หรือมีความสงสัย เราขอแนะนำอาหารที่มีเกลือแร่ ที่เป็นที่สนใจของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ดังนี้
  • -แคลเซียมทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง มีมากใน นม เนยแข็ง กระดูกปลา ถั่ว เมล็ดแห้ง เช่น ถั่งเหลือง ถั่วเขียว และผักใบเขียวบางชนิด เช่น ใบขี้เหล็ก ใบคะน้า
  • -ฟอสฟอรัส ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง มีมากในเนื้อสัตว์ต่างๆ เนยแข็งและนมวัว
  • -โซเดียม และคลอรีน มีมากในเกลือแกง อาหารทะเล เนื้อสัตว์ นม และไข่
  • -โพแทสเซียม มีมากในผัก ผลไม้ นม เนื้อสัตว์ และถั่วเมล็ดแห้ง
  • -เหล็ก มีมากในไข่แดง ตับ เลือด เนื้อสัตว์ และถั่วเมล็ดแห้ง
  • -ไอโอดีนมีมากใน อาหารทะเล และเกลือที่เติมไอโอดีน
  • -ฟลูออรีนมีมากใน หัวหอม ถั่วเหลือง ชา กาแฟ และน้ำดื่มที่มีการเติมฟูลออรีน

เกลือแร่อย่างเพียงพอด้วยกล่าวโดยสรุป อาหารที่ให้เกลือแร่ส่วนใหญ่ได้แก่ เนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ และถั่วเมล็ดแห้ง ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนมาก มักได้เกลือแร่เช่นเดียวกันนั่นเอง

Tuesday, February 23, 2010

ทำอย่างไรเมื่อต้องขับรถนาน ๆ??

อาการปวดเมื่อย และวิธีการบรรเทาอาการเบื้องต้น

ทั่ว ๆ ไปแล้ว อาการปวดบ่า กระบอกตา คอ หลัง หน้าขา (สะโพก) และน่อง เป็นอาการที่พบได้บ่อย เรามาลองดูสาเหตุ และการบรรเทาอาการเหล่านี้กัน
  • -เมื่อขับรถต้องใช้สายตามาก ไม่สามารถพักสายตาได้ ต้องเพ่ง และมองไปข้างหน้าตลอด ถ้าหากแสงแดดจ้า ก็จะทำให้ตาต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการเพ่งสายตา มีผลต่อท่าทางของคอ คือ คอต้องตั้งตรงนาน ๆ ย่อมมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อคอทำงานหนักและเกิดอาการล้าได้
  • -การเมื่อยล้าของคอ ส่งผลต่อการบีบรัดเส้นประสาท โดยเฉพาะที่ฐานกะโหลกด้านหลัง ทำให้ปวดศีรษะ และกระบอกตาได้

วิธีการแก้ไขปัญหาปวดกระบอกตา และล้าของตา คือ ต้องใส่แว่นปรับสายตา หากมีปัญหาเรื่องสายตาสั้นหรือยาว จะทำให้ลดการเพ่งในขณะขับรถ และหากขับรถในเวลาที่แดดจัด ควรใช้แว่นกันแดด เพื่อลดปริมาณแสง ที่อาจทำให้ม่านตาทำงานหนักได้   ขณะที่พักรถ หรือช่วงติดไฟแดง อาจใช้เวลาเล็กน้อย ที่จะมองไปยังต้นไม้ที่มีสีเขียว หรือหลับตาพักสายตาสักครู่ และหากเป็นไปได้การนวดบริเวณต้นคอ และบ่า 2 ข้าง จะสามารถลดความตึงเครียด ของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ส่งผลให้ความรู้สึกล้าลดลงได้

ในขณะขับรถ กล้ามเนื้อบ่าจะทำงาน เพื่อยกบ่า และแขนในการควบคุมพวงมาลัย หากการจับพวงมาลัยห่างจากตัวมาก จะมีผลทำให้ต้องเอื้อมมือ ยืดแขนไปข้างหน้า กล้ามเนื้อบ่า และไหล่จึงทำงานมากขึ้นอีก และทำให้เกิดอาการเมื่อยล้ากล้ามเนื้อบ่า และเกิดกล้ามเนื้ออักเสบได้ในที่สุด ซึ่งสามารถตรวจได้ โดยการคลำกล้ามเนื้อนั้น ๆ จะพบลำ หรือปมแข็งในกล้ามเนื้อ เมื่อกด ก็จะมีอาการเจ็บและร้าวได้

ดังนั้นการปรับระยะ และความสูงของพวงมาลัยเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ต้องเข้าใจว่า ในขณะขับ ต้องทิ้งน้ำหนักแขนส่วนหนึ่งไว้ที่พวงมาลัย ไม่เกร็งแขน และไหล่ตลอด การเกร็ง และยกแขนนี้ อาจทำให้การควบคุมพวงมาลัย ทำได้ยากกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลดอาการตึง และปวดเมื่อยบ่านี้ได้ โดยการหมุนไหล่ แบบกายบริหารของเด็ก ๆ ที่หมุนไหล่มาข้างหน้าและย้อนกลับหลัง โดยทำเมื่อหยุดพัก หรือหากเมื่อย ในขณะขับรถท่านสามารถทำการแบะไหล่ไปด้านหลัง และแอ่นตัวมาข้างหน้า  หรือทำการหมุนไหล่ข้างเดียวได้ โดยพิจารณาถึงความปลอดภัยในขณะขับขี่เป็นหลัก

สำหรับอาการปวดเมื่อยหลังเกิดขึ้นได้ เนื่องจากท่านั่ง เป็นท่าที่หมอนรองกระดูกสันหลัง มีแรงกดมากกว่าท่าอื่น ๆ  แม้ว่าจะมีเบาะพนักพิงก็ตาม แต่หลังที่อยู่ในลักษณะโค้งงอ ย่อมส่งผลต่อแรงดันในหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยมีแรงกดด้านหน้าหมอนรองกระดูกมากกว่าด้านหลัง หมอนรองกระดูก จึงมีแนวโน้มที่จะปลิ้นไปทางด้านหลัง และอาจเกิดปัญหาของหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้ เอ็น และกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านหลัง จะถูกยืดมากกว่าเมื่อหลังอยู่ในท่าตรง

 ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเมื่อพักรถ คือ ค่อย ๆ ลงจากรถ ไม่ลุกแบบพรวดพราด และก่อนจะลุกขึ้น ควรทำการยืดตัว และแอ่นหลังประมาณ 3-4 ครั้งก่อน แล้วค่อยลุกขึ้น และเมื่อลุกขึ้นแล้ว ควรทำการยืดหลัง และแอ่นหลัง ในขณะท่ายืนอีก 10 ครั้ง แล้วถึงจะทำการก้มหลัง หรือใช้งานหลังได้ตามปกติ เหตุที่ให้ทำเช่นนี้ เพราะว่าเอ็นที่อยู่ด้านหลัง เมื่อนั่งนาน ๆ จะล้า ขาดความยืดหยุ่นตัว และถ้าก้มบิดตัว หรือใช้งานหลังหนัก ๆ (เช่น การยกของหนัก) การก้มขณะที่จะลุกจากรถ อาจมีผลต่อการเคลื่อน หรือปลิ้นตัวของหมอนรองกระดูกสันหลังได้

หากเกิดอาการปวดเมื่อยล้า หลังขณะขับรถ คุณสามารถนำหมอนเล็ก ๆ สอดไว้ที่หลังส่วนล่างระหว่างเบาะ กับหลังของคุณ เพื่อให้หมอนเป็นตัวดัน ให้หลังแอ่นตัวเล็กน้อย แต่ไม่ควรนั่งพิงหมอนนั้นตลอด เพราะจะเกิดความล้าต่อหลังได้เช่นกัน

การขับรถเกียร์อัตโนมัติ ความเมื่อยล้ากล้ามเนื้อหน้าขา และน่อง เกิดได้จากการที่ต้องขยับขา เพื่อการเหยียบเบรก และคันเร่ง ขณะที่ถ้าขับรถเกียร์ธรรมดา จะมีอาการเมื่อยล้าขาซ้ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเหยียบคลัตช์

การแก้ไข หรือลดอาการปวด ขณะขับรถ สามารถทำได้โดยการหมุนข้อเท้า จิกปลายเท้า กระดกปลายเท้าขึ้น เหยียดปลายเท้าลงให้สุด โดยสามารถทำกับเท้าข้างซ้ายข้างเดียวในขณะขับรถ และหากเมื่อหยุดพักแล้ว คุณสามารถทำการหมุน หรือดัดต่อเท้าข้างขวา รวมทั้งทำการยืดกล้ามเนื้อหน้าขาได้ การยืดกล้ามเนื้อหน้าขา ทำได้โดยยืน แล้วพับเข่าไปด้านหลัง โดยเอามือช่วยจับเข่างอเข้ามายังก้น

อย่างไรก็ตาม การขยับเขยื้อน ออกกำลังกายแบบนี้ เป็นการบรรเทาอาการเท่านั้น และหากทำขณะขับรถ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยในการขับขี่เป็นหลักด้วย

สิ่งที่จะต้องทำที่สุด คือ การหยุดพักบ่อย ๆ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ล้างหน้าล้างตา และทำการออกกำลังกายตามที่ได้กล่าวมา หรือทำการบิดขี้เกียจก็ได้ ในลักษณะเหมือนการบิดขี้เกียจตอนเช้า ก่อนลุกขึ้นมาอาบน้ำ และเมื่อถึงที่หมายแล้ว ควรทำการนอนยกขาสูง โดยการนอนราบกับพื้น แล้วทำการยกขาแบบงอเข่าเล็กน้อย พาดกับเก้าอี้หรือโซฟา เพื่อให้เลือดไหล และน้ำเหลืองไหลกลับได้ง่ายขึ้น และทำให้หลังได้พักตัวลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อหลังได้

ขณะที่นอนนั้น คุณอาจใช้ผ้าเย็น ประคบที่บ่า หรือคอเพื่อช่วยลดอาการตึงบริเวณฐานคอได้อีกด้วย

ที่มา:
นิตยาสาร หมอชาวบ้าน

Saturday, February 20, 2010

ปวดหลัง

เมื่อปวดหลัง หลายต่อหลายคนหาทางออก ด้วยการนวดเพื่อบำบัดบรรเทาอาการ แต่ทำไมอาการปวดก็ยังเป็นเรื้อรัง ไม่หายซักที และหลายครั้งที่ปวดมากเสียจนต้องร้องโอดโอย!! ออกมาเลยทีเดียว..

ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ ช่วย หมายถึง คุณไม่ต้องเสียเงินไปซื้อของที่เขาโฆษณาว่า ช่วยให้หายจากการปวดหลังได้ ไม่ว่าจะเป็นที่นอน หรือเครื่องช่วยใด ๆ คือ คุณไม่ตกเป็นเหยื่อเขานั่นเอง   ก่อนอื่น คุณต้องรู้จักอาการของคุณก่อนว่า คุณปวดหลังแบบไหน  ไม่มีหมอคนไหน จะรู้อาการดีไปกว่าตัวคนไข้เอง เพียงแต่หมอจะถามได้ตรงประเด็นกว่า และเขารู้จักโรคได้ดีกว่าคนไข้เท่านั้นเอง
*ถ้าคุณปวดหลังแล้ว มีอาการร้าวลงมาที่ขาข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง แล้วมีอาการขาชา ขาอ่อนแรง ทั้งเวลาเดินนาน ๆ หรือไม่ได้เดินก็ชา หรืออ่อนแรง หรือทุกครั้งที่ก้ม หรือแอ่นหลัง จะมีอาการเหมือนไฟฟ้าช็อตไปที่ขา เมื่อพบอาการเหล่านี้ ไปหาหมอกระดูกที่คุณรักษาอยู่ประจำ ให้เขาดูให้จะดีกว่ารักษาเองนะครับ

แต่ถ้าคุณปวดเฉพาะที่หลัง หรือเอว เดินก็ปวด นั่งนาน ๆ ก็ปวด ยืนนาน ๆ ก็ปวด หรือตื่นนอนมาก็ปวด  บางทีต้องพึ่งลูกหลานให้ช่วยเหยียบให้  บางคนก็ต้องพึ่งหมอนวดชนิดไม่มีมาอาบน้ำ หรือมานวดให้ บางทีอาการหายบ้าง ไม่หายบ้าง หรือหายปวดไปสามสี่วัน พอกลับไปทำงานโรคนี้ก็กลับมาอีก

โรคปวดหลังชนิดนี้ เป็นโรคที่เกิดจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ
พออักเสบที คุณก็ปวดหลังที รับประทานยาลดการอักเสบ หรือยาคลายกล้ามเนื้อที ก็หายไปสามสี่วันแล้วก็เป็นอีก หรือนอนพักสักคืน ตื่นมาก็หายปวด หรือให้ใครนวดให้สักพักก็ดีขึ้น

ปัญหาของโรคปวดหลังชนิดนี้ จึงไม่ใช่การรักษาให้หาย แต่อยู่ที่รักษาเท่าไหร่ไม่หายขาดสักที เราลองมารู้จักโรคปวดหลัง จากกล้ามเนื้อหลังอักเสบกันดีกว่า เมื่อรู้จักแล้ว คุณจะทราบว่าจริง ๆ แล้วโรคนี้รักษาไม่ยาก เพียงแต่อาศัยความขยันของคุณเล็กน้อย ใส่ใจตัวเองอีกนิด ปรับปรุงบุคลิกภาพของคุณอีกหน่อยเท่านั้น

โรคปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบนี้ เราคิดได้สองอย่าง คือ กล้ามเนื้อหลังทำงานมากเกินไป หรืออีกอย่าง กล้ามเนื้อหลังก็อ่อนแรงเกินไป หรือทั้งสองอย่าง..
1. กล้ามเนื้อหลังทำงานมากเกินไป เกินกำลังความสามารถของกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ หลายคนมักเข้าใจผิดว่า กล้ามเนื้อหลังจะทำงานมาก เมื่อเราต้องยกของหนัก ถ้าเป็นอย่างนั้นกรรมกรแบกหามคงเป็นโรคนี้กันทุกคน… แต่ …ไม่จริงหรอกครับ กล้ามเนื้อหลังจะทำงานตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะยืน นั่ง เดิน หรือแม้กระทั่งนอน และจะทำงานเพิ่มอีกมาก เมื่ออิริยาบถของเราไม่ถูกสุขลักษณะ ฉะนั้น วิธีที่จะทำให้ไม่เป็นโรคปวดหลังจากสาเหตุนี้ก็คือ
  • - ต้องลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลังลง ด้วยการปรับปรุงบุคลิกภาพของคุณเสียใหม่ ไม่ว่าท่ายืน เดิน หรือนั่ง พยายามเตือนตัวเองให้หลังตรงอยู่เสมอ ในระยะแรก ๆ อาจจะเมื่อยบ้าง แต่พอคุณคุ้นเคยแล้ว อะไร ๆ ก็ดูดีไปหมด อาการปวดหลังก็ดีขึ้น แถมยังดูสมาร์ตขึ้นอีกด้วยครับ สำหรับเรื่องการนอน ถ้าคุณเป็นคนที่ปวดหลัง เมื่อตื่นนอน หรือต้องตื่นตอนดึก เพราะปวดหลังให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า สาเหตุอาจเกิดจากที่นอนของคุณ
อย่าเพิ่งครับ! อย่าเพิ่งเปลี่ยนที่นอนใหม่ให้เสียเงินโดยใช่เหตุ ลองลงมานอนที่พื้นดูก่อน ใช้ผ้านวมสักผืนปู เพื่อไม่ให้เจ็บตรงปุ่มกระดูก ถ้านอนพื้นแล้ว หายปวดหลัง ลองกลับมานอนบนที่นอนอีกครั้ง ถ้านอนบนที่นอนแล้ว ปวดหลังอีก ก็เปลี่ยนที่นอนเถอะครับ   แต่ถ้านอนบนที่นอนแล้ว ไม่ปวดหลังอีก หรือถ้านอนบนที่นอนก็ปวด ลงมานอนพื้นก็ปวด แสดงว่า…ที่นอนของคุณไม่ใช่สาเหตุของอาการปวดหลังแล้วล่ะครับ
2. กล้ามเนื้อหลังอ่อนแรง สาเหตุไม่ใช่เป็นโรค เพียงแต่คุณขาดการออกกำลังกาย ที่กล้ามเนื้อหลังเท่านั้นเอง โดยเฉพาะท่านที่ไม่ได้เล่นกีฬาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นประจำ วิธีที่จะทำให้ไม่เป็นโรคปวดหลังจากสาเหตุนี้ก็คือ
  • - ต้องทำกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงขึ้น เรามาแก้ปัญหานี้ด้วยการออกกำลัง เฉพาะที่กล้ามเนื้อหลังกันดีกว่าครับ ท่าการออกกำลังกล้ามเนื้อหลังมีอยู่ 2 ท่า
  • *ท่าแรก เป็นการยืดกล้ามเนื้อ  เริ่มต้นให้นอนหงาย เอาแขนแนบลำตัว ชันเข่าขึ้นให้ต้นขาทำมุมกับพื้นประมาณ 45 องศา จากนั้นให้ยกสะโพกขึ้น ดันขึ้นไปให้สุด ค้างไว้ 10 วินาที แล้วเอาลง…อย่างนี้นับเป็น 1 ยก
  • *ท่าที่สอง เป็นการทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น  เริ่มต้นให้นอนหงาย จากนั้นงอเข่า งอสะโพก พร้อมกับเอามือกอดไว้ที่เข่า ดึงให้เข่าเข้ามาชิดหน้าอกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยกศีรษะให้หน้าผากชิดหัวเข่า ค้างไว้ 10 วินาที แล้วเอาลง…อย่างนี้นับเป็น 1 ยก

ให้หมั่นทำทุกวัน วันละ 30 ยก ในแต่ละท่าเป็นอย่างน้อย แรก ๆ ถ้าทำไม่ถึง ก็ไม่เป็นไรครับ ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วกัน เมื่อใดที่กล้ามเนื้อหลังของคุณแข็งแรง พอที่จะรับงานได้ทั้งวัน และการทำงานของกล้ามเนื้อหลังลดลง ด้วยการปรับปรุงบุคลิกของคุณ…ปัญหาปวดหลังก็หายขาด 

ผมจะไม่ฟันธงว่าคุณจะหายปวดได้ในระยะเวลาอันสั้น อย่างน้อยก็ประมาณเดือนหรือสองเดือน แต่ถ้าคุณเริ่มทำเสียแต่วันนี้ อีกสองเดือนคุณก็หายปวดหลังแล้ว 

ที่มา
ศูนย์กระดูกสันหลังโรงพยาบาลเวชธานี

Friday, February 19, 2010

แอนติบอดี้ กับ เชื้อไวรัส

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ป้องกันตัวเอง โดยพยายามขจัดสิ่งแปลกปลอม อีกทั้งทำลายแอนติเจนแปลกปลอม ที่ร่างกายได้รับจากภายนอก  โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสก็เช่นเดียวกับการติดเชื้ออื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อรา  กล่าวคือ แอนติเจนของไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย เปรียบเสมือนข้าศึกบุกเข้าโจมตีฐานที่ตั้ง ร่างกายจะใช้กลไกหลายชนิด ในการป้องกันการรุกรานของเชื้อไวรัส

อาวุธร้ายของเชื้อไวรัส แอนติเจน หรือบรรดาข้าศึกเหล่านี้ ได้แก่ แอนติเจน ที่ผิวของไวรัส surface antigen เปรียบเสมือนหน่วยจู่โจม ที่เข้ามาประชิดเซลล์ของร่างกาย แอนติเจนบางชนิด ปรากฎอยู่ที่โครงสร้างภายในของตัวไวรัสเอง เรียกว่า structural subunit และ capsid  นอกจากนี้ การติดเชื้อไวรัส ยังมีอาวุธร้ายแรงอีกชนิดหนึ่ง คือ เอ็นซัยม์ ที่ไวรัสสร้างขึ้น ซึ่งมีพิษสงแตกต่างกันไป บางชนิด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ร่างกายเป็นอย่างมาก บางชนิดช่วยให้การติดเชื้อเป็นไปโดยง่าย และลุกลาม แพร่กระจายมากยิ่งขึ้น

หากพิจารณาจากโครงสร้างของ ไวรัสโรคซาร์ CoV-Sars ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ มีขนาด 17.5 กิโลเบส   จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประกอบด้วย แอนติเจนหลักหลายชนิด  ชนิดแรก เป็นแอนติเจนที่ผิวเรียกว่า S-protein (surface antigen) ส่วนแอนติเจนอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ M-protein N-protein และ HE-protein สำหรับบทบาทที่ชัดเจนของแอนติเจนแต่ละชนิด ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในขณะนี้

ไวรัส ทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อผิดเพี้ยน

นอกจาก การทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อโดยตรงแล้ว ไวรัสยังก่อให้เกิดแอนติเจนใหม่ new antigen ที่ผิวของของเซลล์ ที่ติดเชื้อสร้างขึ้น  เนื่องจาก อิทธิพลของไวรัสที่เข้าไปอยู่ในเซลล์ แอนติเจนใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ให้มีปฎิกิริยาตอบสนอง ซึ่งนำไปสู่การทำลายเซลล์ที่มีแอนติเจนใหม่นั้น   จากการศึกษาทางห้องปฏิบัติการ พบว่าไวรัสส่วนใหญ่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้แทบทั้งสิ้น

ไวรัสบางชนิด สามารถเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของตัวเองได้มาก เรียกว่า antigenic shift เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อครั้งแรก ไม่สามารถป้องกันร่างกาย เมื่อมีการติดเชื้อในครั้งหลัง  ตัวอย่างของไวรัสที่มีความสามารถดังกล่าว ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza virus เป็นต้น

ภูมิคุ้มกันจำเพาะชนิดแอนติบอดี้

แอนติบอดี้ ที่จำเพาะต่อไวรัส ทำหน้าที่ต่อต้านไวรัส ในระยะที่มิได้อยู่ภายในเซลล์  พบว่า แอนติบอดี้ ชนิด IgM และ IgG เมื่อจับกับแอนติเจนของเชื้อไวรัสแล้ว จะกระตุ้นให้เกิดการทำลาย ผ่านทางระบบคอมพลีเมนต์ complement ชนิด classical pathway แต่ หากเป็นแอนติบอดี้ ชนิด sIgA (เช่น บริเวณเยื่อเมือกต่าง ๆ ) จะไม่มีการกระตุ้นคอมพลีเมนท์ทาง pathway นี้

แอนติบอดี้ทำลายล้างเชื้อไวรัส

กลไกการทำงานของแอนติบอดี้ ต่อไวรัสมีหลายประการ บางชนิดสามารถลบล้างความสามารถของไวรัส ในการก่อการติดเชื้อ เรียกว่า Neutralization ไวรัสที่มีแอนติบอดี้จำเพาะจับอยู่ ไม่สามารถจับกับเซลล์ของร่างกาย ไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกาย และไม่สามารถลอกหลุดโปรตีน ที่หุ้มกรดนิวคลิอิกของเชื้อไวรัสได้

วิธีการทำให้ไวรัสแตกสลาย

ร่างกายมนุษย์มีระบบคอมพลีเม้นต์ complement system ร่วมในการทำงานกับแอนติบอดี้ เพื่อทำให้ไวรัสแตกสลาย  กลไกดังกล่าวเกิดขึ้นกับไวรัส ที่มีเปลือกเป็นสารประเภทไขมัน ได้แก่ ไวรัสเริม herpes virus โคโรนาไวรัส coronavirus อะรีนาไวรัส arenavirus พารามิกโซไวรัส paramyxovirus และมิกโซไวรัส myxovirus  นอกจากนี้ คอมพลีเมนต์ยังทำงานร่วมกับแอนติบอดี้ ช่วยทำให้เซลล์ของร่างกายมนุษย์จับกินไวรัสได้   วิธีดังกล่าว เรียกว่า opsonization และเซลล์ที่ทำหน้าที่จับกินไวรัสนี้ มีชื่อเรียกว่า ฟาโกซัยท์ phagocytes

ยับยั้งการทำงานของเอ็นซัยม์ไวรัส

ร่างกายสามารถสร้างแอนติบอดี้ต่อเอ็นซัยม์ของไวรัสบางชนิด ซึ่งส่วนส่วนใหญ่อยู่ที่ผิวของไวรัส ทำให้ไวรัสที่เพิ่มจำนวนแล้ว และอยู่ภายในเซลล์ของร่างกาย ไม่สามารถออกมาจากเซลล์ได้   วิธีการนี้ ถือว่าช่วยขัดขวางการแพร่กระจายของไวรัสได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น แอนติบอดี้ต่อเอ็นซัยม์ neuraminidase ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza virus

บทสรุป

จะเห็นได้ว่า ร่างกายสามารถกำจัดไวรัสได้หลายวิธี ผ่านทางระบบแอนติบอดี้ ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นภายหลังการติดเชื้อนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีกลไกภูมิคุ้มกันจำเพาะด้านเซลล์ ที่มีบทบาทสำคัญในการทำลาย ไวรัส รวมทั้งเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสอีกด้วย

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

โรคอัลไซเมอร์

ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์การแพทย์มีความเจริญก้าวหน้าไปมาก ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้พบโรค ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของร่างกายมากขึ้นในผู้สูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดแข็งตัว ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือแตก (ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตครึ่งซีก) โรคไขข้ออักเสบจากความเสื่อม โรคกระดูกพรุน และโรคสมองเสื่อมโดยไม่มีสาเหตุ เราเรียกโรคโรคนี้ว่า โรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของระบบประสาทส่วนกลาง  พบว่า ทั่วโลกมีคนเป็นโรคนี้กว่า 20 ล้านคน โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจะมีอายุสั้น และเสียชีวิตภายใน 10 ปีหลังเกิดโรค จนถึงปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ได้ อัลไซเมอร์พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จนไม่สามารถดูแลตนเองได้

อาการของผู้ป่วยอาจแบ่งได้เป็น 4 ระยะ
  1. ระยะที่หนึ่ง ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องของความทรงจำ มีอาการลืมในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น ในขณะที่ความทรงจำในอดีตยังดีอยู่ ผู้ป่วยจะดูเชื่องช้าลง ไม่กระฉับกระเฉง เริ่มจำหนทาง หรือชื่อคนบางคนไม่ได้  ในช่วงนี้ ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์โกรธง่าย หรือซึมเศร้า การดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ เริ่มตั้งแต่การให้เวลาผู้ป่วยในการตอบคำถาม หรือการตอบสนองกับสิ่งรอบข้าง  เนื่องจากผู้ป่วยจะเชื่องช้าลง จากการทำงานของสมองที่เสียไป ควรจะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความกังวล โดยบอกขั้นตอนทีละลำดับช้า ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยทำตามได้ และควรจัดให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนเป็นช่วง ๆ จะทำให้ผู้ป่วยอารมณ์ดีขึ้น
  2. ระยะที่สอง ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการตัดสินใจ อาจคิด หรือพูดอะไรซ้ำ ๆ  เริ่มมีปัญหาเรื่องการรับรู้ เช่น ผู้ป่วยอาจจะทำน้ำร้อยลวกมือตนเอง แล้วมองบาดแผลเฉย ๆ โดยไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น  นอกจากนี้ ยังสูญเสียความสามารถทางคำพูด ไม่สามารถบ่งบอกในสิ่งที่ตนเองคิด หรือเข้าใจผ่านทางภาษาได้ การดูผู้ป่วยในระยะนี้ ควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยจัดกิจวัตรประจำวันให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวได้ง่ายขึ้น บางครั้งควรทบทวนในสิ่งที่ผู้ป่วยพูด และเน้นสรุปในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการจะสื่อ เพื่อช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้ปฏิทินตัวใหญ่ ๆ การแขวนนาฬิกาให้ผู้ป่วยเห็นได้ง่าย  นอกจากนี้ญาติและครอบครัวของผู้ป่วย ต้องช่วยกันสังเกต และประเมินในเรื่องความสามารถด้านต่าง ๆ และพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยเทียบกับพฤติกรรมเดิม เพื่อให้ทราบความสามารถที่ลดลงในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในช่วงนั้น ๆ ได้
  3. ระยะที่สาม ผู้ป่วยมีความบกพร่อง ในเรื่องความรู้ความสามารถมากขึ้น ไม่สามารถจดจำสถานที่ต่าง ๆ ได้ เริ่มบกพร่องในการดูแลสุขอนามัยของตนเอง และไม่สามารถทรงตัวได้ดี ขณะยืน หรือเดิน  ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการโรคจิตหวาดระแวง หรือมีหูแว่วได้ การดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ญาติจะต้องคอยดูแล และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้ป่วยที่ถดถอยลง ในรายที่มีอาการโรคจิต หูแว่ว จำเป็นต้องพบแพทย์ และรับประทานยา เพื่อควบคุมพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
  4. ระยะที่สี่ ผู้ป่วยอาจออกจากบ้าน เร่ร่อนบ่อยขึ้น และอาจมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ หรือพูดซ้ำ ๆ ตลอด   นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย ที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ผู้ป่วยอาจจะจำใครไม่ได้เลย หรือจำเรื่องรายบางสิ่งได้เป็นนาที และลืมภายในไม่กี่นาที การดูแลผู้ป่วยระยะนี้ จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา  เนื่องจากผู้ป่วย ไม่สามารถดูแลตนเองได้เลย รวมถึงเรื่องกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทาน ซึ่งผู้ป่วยอาจเคี้ยว หรือกลืนอาหารเองไม่ได้ การเตรียมอาหารที่บดหยาบ และไม่เหลวจนเกินไป จะช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานได้ง่ายขึ้น พยายามป้อนน้ำทีละน้อย แต่บ่อยขึ้น เพื่อลดภาวะการขาดน้ำของผู้ป่วย  นอกจากนี้ การดูแลเรื่องการขับถ่ายเป็นสิ่งสำคัญ ต้องพยายามพาผู้ป่วยเข้าห้องน้ำให้ถี่ขึ้น เพื่อลดการถ่ายเรี่ยวราด รวมทั้ง เรื่องการดูแลความสะอาดของร่างกาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางผิวหนัง

โรคอัลไซเมอร์รักษาหรือป้องกันได้หรือไม่?

ในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ได้ผลจริงจัง ในการป้องกันการเสื่อมของสมอง หรือหยุดยั้งการตายของเซลล์สมองที่เป็นเร็ว และมากกว่าปกติในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ การรักษาผู้ป่วยมี 2 อย่าง คือ
  1. การรักษาตามอาการ ได้แก่ ยาที่ควบคุมจิตใจ และพฤติกรรมที่ก้าวร้าว การให้ยานอนหลับ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่หลับเวลากลางคืน ยาแก้เกร็ง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการพาร์คินสันร่วมด้วย และให้อาหารทางสายยาง ในผู้ป่วยที่รับประทานอาหารเองไม่ได้
  2. การรักษาอาการสมองเสื่อม  เนื่องจาก ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีการขาดสาร Acetylcholine ในสมอง ยาที่ได้ผลในการรักษาอาการ เป็นยาที่เพิ่มสาร Acctylcholine ในสมอง ยาตัวแรกชื่อ Tacrine แต่ไม่นิยมใช้ เนื่องจากมีผลข้างเคียงมาก  ที่พบบ่อย คือ ตับอักเสบ ยาเพิ่มสาร Acetylcholine ในสมองรุ่นที่สอง ได้แก่ Donepezil เป็นยาที่ผลข้างเคียงน้อย และช่วยลดอาการสมองเสื่อมได้ อย่างมีนับสำคัญในผู้ป่วยที่มีอาการระยะที่ 1 และ 2 (อาการน้อยถึงปานกลาง)

หากญาติผู้ใหญ่ของท่านเริ่มมีอาการโรคอัลไซเมอร์ ควรจะดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นกำลังใจที่ดีต่อผู้ป่วย

ที่มา
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

Thursday, February 18, 2010

แกงเลียง ต้านมะเร็ง

อาหารเป็น 1 ใน 3 ต้นเหตุก่อมะเร็งทุกชนิด หากจะกำจัดก้อนเนื้อร้าย คงต้องใช้วิธีหนามหยอกเอาหนามบ่ง ก็ต้องรักษาด้วยอาหารนี่แหละ

อาหารไทย สุดยอดตำรับอาหารต้านโรคตัวจริงเสียงจริง เพราะ ฤทธิ์เดชภายในจากพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านนั้น ปราบปรามเหล่ามะเร็งร้ายได้ชะงักงัน  ครั้นลองสืบค้นข้อมูลรอบตัวเราแล้ว จะพบว่าอาหารไทยล้วนประกอบด้วย พืช ผัก ผลไม้ และสมุนไพรในไทยมากมายก่ายกอง แถมยังซ่อนอิทธิฤทธิ์ต้านมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยถึง 81% ไว้อย่างเหลือเชื่อ  และสุดยอดอาหารไทยพิฆาตมะเร็ง ต้องยกนิ้วให้ “แกงเลียง”

แกงเลียง ให้คุณค่าด้านวัฒนธรรม เพราะมีรากเหง้าแห่งความเป็นไทยสูง มันเป็นหนึ่งในตำรับอาหารโบราณ ที่จัดไว้เป็นสำรับ โดยมีข้าวสวยร้อนหอมกรุ่นเป็นหลัก และรายล้อมด้วย กับข้าวหลายอย่าง ทั้ง ต้ม แกง ยำ พล่า ผัด ทอด หมก และเครื่องจิ้ม ซึ่งมีผักหลากหลายให้เห็นกันโต้ง ๆ เป็นเครื่องเคียง

ผศ. ดร. สมศรี เจริญเกียรติคุณ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่าแกงเลียงเป็นอาหารพื้นบ้านของไทย ที่มีพืชผักสมุนไพรหลายชนิด และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านรส และกลิ่น  ได้ลิ้มรสเผ็ดจากพริกไทย และกลิ่นจากใบแมงลัก

สารพันวัตถุดิบ ที่นำมาปรุงอาหารก็ยังหาได้ง่าย มีอยู่ในท้องถิ่น จึงกินได้เป็นประจำ กลายเป็นเมนูแสนอร่อย ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งยังป้องกัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ  ในบรรดาส่วนผสมเครื่องแกงนั้น
พริกไทย จะช่วยย่อยอาหาร ทำให้รู้สึกสบายท้อง ช่วยขับลม ขับเหงื่อ และลดความร้อนในร่างกาย  ส่วนหอมแดง บรรเทาอาการหวัด หายใจไม่ออก และสำหรับพริกขี้หนูนั้น จะช่วยเจริญอาหาร ขับลม เป็นยาระบาย ช่วยขับเสมหะ แก้หวัดได้ด้วย

วัตถุดิบหลักของแกงเลียง เริ่มด้วยตัวพระเอกอย่าง ใบแมงลัก สามารถแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ  ส่วนตำลึง ก็ช่วยแก้โรคผิวหนัง แก้ไข้ บำรุงสายตา  และสำหรับเจ้าบวบอวบ ๆ สามารถบำรุงหัวใจ เป็นยาระบาย แก้ร้อนในได้ดี ตบท้ายด้วยฟักทอง เต็มไปด้วยเบต้าแคโรทีน ช่วยบำรุงสายตา

แล้วถ้านำองค์ประกอบทั้งสองมารวมกัน  แกงเลียงชามนั้นจะประกอบด้วย น้ำพริก ผัก เนื้อสัตว์ น้ำแกง และเครื่องปรุงรส น้ำพริกแกงเลียงจะแปลกกว่าน้ำพริกแกง ชนิดอื่น เพราะมีพริกไทย หัวหอม กะปิ กุ้งแห้ง บ้างใส่ปลาย่างหรือปลากรอบ และดัดแปลงได้หลากหลาย ทำให้น้ำแกงมีลักษณะข้น ตามด้วยใบแมงลักมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน แล้วเติมตำลึง ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน หัวปลี บวบ ผักหวาน ฯลฯ ลงไป ตกแต่งให้สวยด้วยเนื้อสัตว์ ได้แก่ กุ้งสด เนื้อไก่ ฯลฯ ปรุงรสด้วยน้ำปลาหรือเกลือ

ผลลัพธ์คือ อาหารที่มีใยอาหารเต็มเปี่ยม ให้พลังงานและไขมันต่ำ แต่กินจนอิ่มหนำ แถมพวกมันยังระดมกำลังเป็นฤทธิ์ยา ช่วยกันต้านการอักเสบและความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ รวมทั้งเหนี่ยวนำการตายของเซลล์มะเร็งได้ด้วย  จากผลวิจัย พบว่าหนูทดลองบริโภคเมนูสุขภาพนี้ หนึ่งหรือสองหน่วยบริโภค ตลอด 6 สัปดาห์ สามารถลดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้กว่า 45-48% เลยทีเดียว  สาเหตุก็เพราะแกงเลียงมีสารพฤกษเคมีสำคัญ  2 กลุ่มที่มีผลดีต่อสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มแคโรทีนอยด์ และกลุ่มฟลาวานอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง

มีคำอธิบายจากห้องทดลองอีกว่า หลังจากนำสารสกัดเอธานอล และเฮกเซนของแกงเลียงไปทดสอบ ศักยภาพต้านการก่อกลายพันธุ์  พบว่า แกงเลียงช่วยต้านการกลายพันธุ์ใน แบคทีเรีย Salmonella typhimurium สายพันธุ์ TA 98 และ TA 100 ซึ่งเป็นต้นเหตุของเซลล์ผิดปกติในร่างกายได้  อีกทั้ง สารสกัดในแกงเลียง ยังต้านการเกิดความเสียหาย ที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นอีกกลไกหนึ่ง ที่อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้เช่นกัน และยังมีศักยภาพการเหนี่ยวนำการทำงานของเอนไซม์  NAD พบมากในตับ ซึ่งทำหน้าที่กำจัดสารพิษ สารก่อมะเร็งบางชนิด

 อย่ามัวแต่อ่านข้อมูลวิทยาศาสตร์จนตาลาย ประเดี๋ยวจะเตรียมเมนูฆ่ามะเร็งร้ายไม่ทันมื้อเย็นนี้

เซ็กเสื่อมของแถมจากออฟฟิศซินโดรม

เซ็กเสื่อมของแถมจากออฟฟิศซินโดรม

หากคุณนั่งใน ออฟฟิศทั้งวัน ห่างไกลการออกกำลังกาย มีอาการปวดร้าวตามแขน ขา บ่า ไหล่ ที่ไม่หายขาด อาจจะเป็นสาเหตุของโรค “ออฟฟิศ ซินโดรม”


โรค “ออฟฟิศ ซินโดรม” (Office Syndrome) ซึ่งเจ้าโรคมนุษย์ทำงานเนี่ย มักจะเกิดกับคนทำงานออฟฟิศ ที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม จำพวกนั่งจุมปุ้กอุดอู้อยู่หน้าคอมเป็นเวลานาน ๆ ไม่ได้ขยับออกไปไหน เป็นชั่วโมง ๆ ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเมื่อยตามแขน ขา หลัง ไหล่

อาการยอดฮิต คือ ปวดหลัง รองลงมา คือ ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหัว ซึ่งเชื่อว่า เป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้าโรคออฟฟิศซินโดรมนี่หล่ะ มนุษย์ทำงานวัย 16-24 ปี ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคนี้มากถึง 55% โดยเฉพาะสาวออฟฟิตทั้งหลาย เสี่ยงกว่าผู้ชายด้วย แถมไม่น่าเชื่อว่า เจ้าโรคนี้จะทำให้เกิดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศตามมาอีกด้วย

อาการปวดร้าวไปตามแขน ขา หลายครั้งพบว่า เกิดจากปัญหาของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะปัญหา การหดเกร็งของกล้ามเนื้อแบบ Office Syndrome ซึ่งเป็นโรคของคนเมือง ที่ทำงานออฟฟิศขะมักเขม้น ไม่ได้ออกกำลังกาย คุณภาพชีวิตไม่ดี พักผ่อนน้อย อาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้อนี้ อาจจะรุนแรงน้อย หรือทรมานมาก

ยาแก้ปวดก็ไม่สามารถทำให้หายขาดได้ เนื่องจากการปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งตัวนี้ มีอาการคล้ายกับกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท  หรืออาจพบทั้งสองโรคพร้อมกัน เนื่องจากปัญหาของกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลังนั้น มีความสัมพันธ์กัน

โรคกระดูกสันหลัง ที่สามารถกดทับเส้นประสาท ที่พบบ่อยในคนทำงาน และมักจะถูกวินิจฉัยบ่อย ๆได้แก่ โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้น (HNP) ช่องกระดูกเสื่อมตีบทับเส้นประสาท (Spinal Stenosis) กระดูกเสื่อมทับไขสันหลังส่วนคอ (CSM) หมอนรองกระดูกเอวเสื่อม (DDD) กระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนทับเส้น เป็นต้น

ที่สำคัญ ความผิดปกติอย่างหนึ่งของผู้มีกระดูกสันหลังเบียดทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย นอกจากปัญหา ปวดคอ  ปวดหลังแล้ว สิ่งที่คนมักมองข้ามไป คือ ปัญหาเรื่องการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ทั้งหญิง และชาย โดยอาจเกิดขึ้นจาก ความเจ็บปวดของเส้นประสาท ทำให้ลดความรู้สึกลง หรือ ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เนื่องจากการกดทับเส้นประสาท

ผู้ป่วยมักจะมีอาการหย่อนสมรรถนะทางเพศแบบแฝงอยู่ได้ทั้ง ไม่มีอารมณ์ นกเขาไม่ขัน หลั่งเร็ว หรือช้าผิดปกติ และอื่น ๆ อีก สาเหตุ เพราะกระดูกสันหลัง เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่าง ๆ มากมาย เลี้ยงการทำงานของแขน ขา และ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ความรู้สึกต่าง ๆ ในร่างกายด้วย  ดังนั้น ในกรณีที่มีการทำลายของการทำงานระบบไขสันหลัง หรือ การรบกวนการทำงานของ ไขสันหลัง จึงส่งผลทำให้เกิดการอ่อนแรงของแขนขา หรือแม้แต่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ แถมทางแก้นั้น นอกจากจะรักษาปัญหากระดูกสันหลังแล้ว ยังช่วยให้ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศดีขึ้นอีกด้วย

การแก้ไขมีทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ในกรณีของออฟฟิศซินโดรม แต่สำหรับการรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคทางกระดูกสันหลังนั้น ยังสามารถรักษาได้โดย “การผ่าตัด”  อาทิ ผ่าหมอนรองกระดูกแบบแผลเล็ก (Microdiscectomy) ผ่าตัดขยายช่องทางออกของเส้นประสาท (Laminectomy) การผ่าตัดเชื่อมข้อที่คอด้านหน้า (Cervical Fusion) เป็นต้น  แนวทางการผ่าตัดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย

จากการศึกษาจากต่างประเทศ พบว่า ภายหลังจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้รับการผ่าตัดแก้ไข ภาวะการกดทับไขสันหลังส่วนคอ (Cervical cord decompression) ไป ผู้ป่วยทั้งหมดนอกจากจะดีขึ้นจากอาการอ่อนแรงของแขน หรือ ขา แล้ว  ยังมีผลพลอยได้ ทำให้ปัญหาการมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Sexual dysfunction) ดีขึ้นได้  โดยเฉลี่ยแล้ว ทำให้ดีขึ้นได้มากกว่าสองเท่าจากเดิม ผลลัพธ์นี้นับว่า เป็นของแถมที่ได้จากการผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังทับ เส้นประสาทอีกประการหนึ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง

แต่ถ้าเกิดสงสัยว่า ตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือเปล่า ก็สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะสายเกินแก้ หรือถ้าจะให้ดีที่สุด ควรหันมาใส่ใจ และป้องกันกันดีกว่า เรียกว่า กันไว้ดีกว่าแก้ยังใช้ได้ดีเลยหล่ะ   อย่างเช่น จัดข้าวของบนโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบ  ย้ายข้าวของรก ๆ มาวางทางซ้ายมือซะ ให้ทางขวาปล่อยโล่ง เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหว หยิบจับสิ่งของ โต๊ะทำงานควรมีระดับพอดีกับข้อศอก จะได้กดคีย์บอร์ดถนัด ๆ ตัวคีย์บอร์ดควรมีแป้นรองข้อมือ เก้าอี้นั่งควรเป็นแบบที่ปรับขึ้นลงได้ และมีพนักพิงรองรับศีรษะ จอคอมพิวเตอร์ควรเลือกใช้แบบจอแบน LCD มากกว่าจอแก้ว CRT เพราะ จอลักษณะโค้งมน จะทำให้ต้องเพ่งสายตามากกว่าจอแบน

ที่สำคัญ คือ ปรับนิสัยตัวเอง ถ้ารู้ตัวว่านั่งหลังค่อมก็ต้องนั่งหลังตรง หมั่นหยุดพักสายตา ลุกไปยืดเส้นยืดสายทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง เพื่อลดอาการ ตาแห้ง น้ำตาไหล เคืองตา ตามัว ปรับภาพได้ช้าลง ซึ่งเกิดจากการนั่งจ้องคอมเป็นเวลานาน ๆ ทำให้กระพริบตาน้อย ประกอบกับสภาพอากาศในห้องแอร์แห้ง ๆ ส่งผลให้น้ำตาระเหยมาก ทำให้เคืองตา ตาแห้ง ยิ่งนั้งจ้องข้อมูลบนจอเป็นพรืด ยิ่งทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานหนัก ควรหยุดพักสายตาเป็นระยะทุก ๆ 20 นาที หรือลุกออกไปเดินเล่นทุก 1 ชั่วโมง และควรจัดจอคอมพิวเตอร์ ให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา 15 องศา เพื่อลดอาการปวดตา ปวดคอ ควรปรับแสงสว่างคอมพิวเตอร์ให้มากประมาณ 3 เท่าของความสว่างของสภาพแวดล้อม

ที่มาโดย
สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

Wednesday, February 17, 2010

โรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa)

โรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa) เป็นภาวะที่บุคคลปฏิเสธ ที่จะรับประทานอาหาร เพื่อคงน้ำหนักไว้ในระดับปกติ โดยมีทัศนคติที่ผิดต่อรูปร่า งและน้ำหนักตัวผิดปกติ  คนที่เป็นโรคนี้ จะเป็นคนที่กลัวอ้วน กลัวเอามาก ๆ เห็นน้ำหนักตัวเองเป็นศัตรู ปฏิเสธอาหารอย่างมากจนผ่ายผอม ในสังคมปัจจุบันสนใจน้ำหนักตัว ไม่ต้องการอ้วน ไม่ต้องการหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน คาดว่ามีผู้ป่วยโรคกลัวอ้วนเสียจนผอมเกินไป ราวร้อยละ 0.5-1.8 ของประชากร มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นราว 5-10 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า ในผู้ป่วยทั้งหมดจะเป็นผู้ชาย ไม่เกินร้อยละ 5-10 อาการของโรค มักเริ่มตอนวัยรุ่น โดยเฉลี่ยจะเริ่มเป็นเมื่ออายุ 17 ปี มีบ้างที่เป็นตอนเรียนมัธยมต้น หรือตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พบมากในประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศที่เจริญแล้ว ประเทศด้อยพัฒนาจะพบน้อยกว่า

สาเหตุ
  1. ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
  2. เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม
  3. ผู้ป่วยมักเป็นวัยรุ่นที่เป็น "เด็กดี" "เด็กตัวอย่าง" ของครอบครัว มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์แบบ ย้ำคิดย้ำทำ ขาดทักษะในการใช้ชีวิตในสังคม มีความเป็นตัวของตัวเอง มีปัญหาความขัดแย้งในจิตใจเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกไม่มีค่า มักทำตามความคาดหวังของผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ
  4. เกิดจากการมองภาพตนเองบิดเบือน มองเห็นสัดส่วนร่างกายอ้วนไป ทั้งๆที่ไม่ได้อ้วน มักปฏิเสธว่าไม่หิว ไม่ป่วย บอกว่าสบายดี มักแยกแยะความหิวไม่ได้
  5. บางรายพบปัจจัยที่เกี่ยวกับครอบครัว ถูกเลี้ยงดูแบบใกล้ชิดหรือปกป้องมากเกินไป
  6. ปัจจัยทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ ค่านิยมยึดติดอยู่กับความผอมบาง ต้องการสวย เชื่อว่าผู้หญิงผอม คือ แฟชั่น คิดว่าคนอ้วนเป็นคนที่ดูแลตนเองไม่ดี หรือคิดว่า คุณค่าวัยรุ่นขึ้นอยู่กับรูปร่างหน้าตาที่น่ารักหรือหุ่นดี
  7. การที่วัยรุ่นมีวิกฤติของชีวิต เช่น ความต้องการเป็นตัวของตัวเอง ค่านิยม สัมพันธภาพกับผู้อื่น บางครั้งอาจเกิดความขัดแย้งกับบิดามารดา โดยเฉพาะการมีสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศ
ปัจจัยเสี่ยงของโรค
  1. การเลี้ยงดูของพ่อแม่
  2. ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  3. ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์
  4. โรคทางอารมณ์ ซึมเศร้า บุคคลิกภาพผิดปกติ ติดสารเสพติด
  5. นักร้อง นักแสดง นางแบบ นักเต้นบัลเลต์ ยิมนาสติก
  6. ในผู้ชายพบบ่อยในพวกเกย์และนักวิ่งมาราธอน
อาการ
  1. ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน หรือนักศึกษาสาวที่ขยันเรียน มีความรับผิดชอบสูง ผลการเรียนดี เป็นคนค่อนข้าง "สมบูรณ์แบบ" บิดามารดามักประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสูง ผู้ป่วยมักไม่ชอบงานสังคมสังสรรค์นัก
  2. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานราว 15% เช่น ควรหนัก 60 กิโลกรัม ก็หนักเพียง 50 กก. หรือควรหนัก 50 กก. ก็เหลือแค่ 42 กก. หรือน้อยกว่า เป็นต้น
  3. โรคนี้ถือเป็นความผิดปกติทางจิตใจชนิดหนึ่ง โดยมีความเชื่อผิดเกี่ยวกับน้ำหนักและรูปร่างตัวเอง บางคนยังเชื่อว่า น้ำหนักมากเกินไปทั้ง ๆ ที่ความจริงอยู่ในขั้นผอมแห้ง บางคนเชื่อว่าอวัยวะบางส่วนของตัวอ้วนไป ความคิดเต็มไปด้วยเรื่องเกี่ยวกับอาหาร น้ำหนักตัว และการควบคุมอาหาร ในที่สุดเมื่อสนใจแต่เรื่องพวกนี้ ก็จะไม่มีเวลาสนใจเรื่องอื่น ทำให้การเรียน การทำงาน และมนุษยสัมพันธ์แย่ลง
  4. ผู้ป่วยจะกลัวมาก ๆ เกี่ยวกับการที่น้ำหนักเพิ่มขึ้น และที่แปลก คือ เมื่อยิ่งผอม น้ำหนักลด กลับยิ่งกลัวมากขึ้นไปอีก ความกลัวน้ำหนักเพิ่มนั้น มากเสียยิ่งกว่ากลัวตายจากการปฏิเสธอาหาร แทนที่จะรู้สึกผ่อนคลายหรือเบาใจ เมื่อน้ำหนักลดลงได้เขากลับกลัวมากขึ้นไปอีก
  5. จะพบอาการไม่มีประจำเดือนได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนี้ สาเหตุเกิดจากความเครียดอย่างรุนแรงจากการอดอาหาร ทำให้ฮอร์โมนของสมองที่ควบคุมการมีประจำเดือนลดลง การอดอาหารยังไปกดการหลั่งของฮอร์โมนเพศ ทำให้ขาดความสนใจทางเพศ การพัฒนาทางเพศจะล่าช้าในผู้ป่วยพวกนี้ สาเหตุอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น ผู้ป่วยมักแยกตัวจากสังคม เพราะขาดความเชื่อมั่น นับถือตัวเอง และกลัวว่าเมื่อเข้าสังคมแล้ว จะดำเนินชีวิตอย่างที่ทำอยู่ไม่ได้
  6. ผู้ป่วยมักมีความประพฤติแบบย้ำคิด-ย้ำทำ ร่วมด้วย ชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยพิธีรีตอง ส่วนตัวอาจ นับเมล็ดข้าวที่รับประทาน คำนวณพลังงานที่ได้จากอาหาร ชั่งน้ำหนัก วัดสัดส่วนของร่างกาย ผู้ป่วยโรคนี้จะปฏิเสธความเจ็บป่วยของตัวเอง ไม่ยอมรับว่าป่วย ทำให้รักษาลำบาก คิดว่าความคิดตนเองถูกต้อง ส่วนคนอื่นต่างหากที่เพี้ยนไป
อาการเตือนของโรค
  1. ตั้งใจอดอาหารด้วยตัวเอง และน้ำหนักลดลง
  2. กลัวการเพิ่มน้ำหนักตัว หลังรับประทานอาหารหรือชั่งน้ำหนักตัว พบการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
  3. ปฏิเสธการรับประทานอาหาร
  4. ปฏิเสธความหิว กลัวอ้วนอย่างที่ควบคุมไม่ได้
  5. ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ชั่งน้ำหนักตัวบ่อยเกินปกติ
  6. มีขนอ่อนมากขึ้นตามตัวแขนขา หรือใบหน้า
  7. ขี้หนาว
  8. ประจำเดือนไม่มาหรือไม่สม่ำเสมอ
  9. ผมบางลง
  10. มีความรู้สึกว่าตัวเองอ้วนทั้งๆ ที่ความเป็นจริงผอมมาก มีความกังวลเรื่องรูปร่างมากเกินปกติ

พฤติกรรมของผู้ป่วย มีได้ 2 แบบ
  1. แบบจำกัด (Restricting Type) หมายถึง จะรับประทานอาหารน้อย และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพลังงานสูง พวกนี้มักจะออกกำลังกายมากและหนัก ในช่วงที่มีอาการ ไม่ได้มีการรับประทานครั้งละมาก ๆ หรือมีการขับอาหารจากร่างกาย เช่น ทำให้ตนเองอาเจียน หรือใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ หรือยาสวนถ่ายอย่างพร่ำเพรื่อ หรือเป็นประจำ
  2. แบบกินมาก/ออกมาก (Binge-Eating/Purging Type) หมายถึง เมื่อรับประทานอาหารแล้วใช้วิธีทำให้ตัวเองอาเจียน ใช้ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ หรือสวนอุจจาระ ในช่วงที่มีอาการ จะมีการรับประทานครั้งละมาก ๆ หรือมีการขับอาหารจากร่างกาย เช่น ทำให้ตนเองอาเจียน หรือใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ หรือยาสวนถ่าย
เกณฑ์การวินิจฉัยโรค
  1. น้ำหนักตัวต่ำกว่าร้อยละ 85 ของน้ำหนักตัวปกติตามอายุและส่วนสูง
  2. กลัวอ้วนอย่างมาก กลัวการที่น้ำหนักขึ้น แม้ว่าตนเองจะมีน้ำหนักตัวน้อย
  3. การรับรู้น้ำหนักตัว หรือรูปร่างของตนผิดปกติ พบปัญหาในการประเมินตนเอง ขึ้นอยู่กับเรื่องน้ำหนักตัว หรือรูปร่างอย่างมาก หรือปฏิเสธปัญหาน้ำหนักตัวที่ต่ำอยู่ในขณะนั้น
  4. ภาวะขาดประจำเดือนในหญิงที่เริ่มมีประจำเดือนแล้ว ไม่มีประจำเดือนติดต่อกัน 3 รอบ
การวินิจฉัยแยกโรค
  1. โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น มะเร็ง
  2. โรคเบาหวาน ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์
  3. โรคระบบทางเดินอาหาร ความผิดปกติของการดูดซึมสารอาหาร
  4. โรคเอดส์
  5. โรคทางจิตเวช เช่น จิตเภท ซึมเศร้า
โรคแทรกซ้อน
  1. โรคแทรกซ้อนส่วนใหญ่ เกิดจากผลของการอดอาหาร เป็นความพยายามของร่างกาย ที่จะอนุรักษ์พลังงานไว้ใช้ในภาวะที่ขาดแคลน
  2. ผู้ป่วยที่ใช้วิธีอาเจียน ถ่ายท้อง หรือขับปัสสาวะจะสูญเสียธาตุโปตัสเซียม เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะและกล้ามเนื้อเกร็งได้
  3. โรคแทรกทางหัวใจ เป็นสาเหตุการเสียชีวิต ที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคนี้ อาจหัวใจเต้นช้าแค่ 40 ครั้งต่อนาที
  4. อาเจียนบ่อย ๆ ทำให้เคลือบฟันสึกกร่อน และต่อมน้ำลายบวมคล้ายเป็นคางทูม กล้ามเนื้อกระเพาะ และลำไส้ จะลีบและอ่อนลงจาการที่ใช้งานน้อย ทำให้อาหารคงอยู่ในและท้องผูก
  5. ผิวหนังจะแห้ง ผมบนศีรษะบางลง มีขนอ่อนตามลำตัวและแขนขามากขึ้น
  6. อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง กระดูกบางลง กระดูกหักง่าย
  7. ไตทำงานผิดปกติ อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง
  8. เม็ดโลหิตและเกร็ดเลือดลดน้อยลง
การรักษา
  1. ประเมินว่าผู้ป่วยมีโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่ และมีโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง
  2. เป้าหมายเบื้องต้นในการรักษาคือ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการอดอาหาร ผู้ป่วยและครอบครัว จะได้รับคำแนะนำและอธิบายถึงแผนการรักษา
  3. นักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ นักจิตวิทยา และจิตแพทย์ ล้วนมีความสำคัญในการร่วมทีมรักษา เริ่มแรกต้องค่อยๆ เพิ่มอาหาร เพื่อป้องกันกระเพาะขยายตัว ป้องกันการบวมและหัวใจล้มเหลว
  4. บางกรณีต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยที่น้ำหนักลดมากกว่าร้อยละ 30 ของน้ำหนักปกติ ผู้ป่วยที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยที่ติดยาระบาย หรือยาขับปัสสาวะและกรณีที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกแล้วไม่ได้ผล
  5. การรักษาในโรงพยาบาลจะใช้เวลาประมาณ 10-12 สัปดาห์ จึงจะเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ก่อนให้ผู้ป่วยกลับบ้าน ควรลองปล่อยผู้ป่วยกลับบ้านเฉพาะวันหยุดดูก่อน เพื่อปรับตัวสักระยะหนึ่ง เมื่อกลับบ้านได้แล้วยังต้องนัดกลับมาติดตามการรักษาไปอีกเป็นเดือน หรือเป็นปีทีเดียว เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
  6. เริ่มการรักษาทางจิตตั้งแต่แรก และติดตามไปเรื่อยๆ จนผู้ป่วยปกติ
  7. พฤติกรรมบำบัดมีส่วนในการรักษามาก ทั้งวิธีให้รางวัลและลงโทษ
  8. ในผู้ป่วยอายุน้อยการใช้วิธีครอบครัวบำบัดจะได้ผลดีมาก ต้องระลึกเสมอว่าโรคนี้มีผลกระทบต่อครอบครัวทั้งหมด การให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวเพื่อแก้ปัญหาในสิ่งแวดล้อมของครอบครัว จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

การดูแลและวิธีแก้ไข
  1. เสริมให้วัยรุ่นมีความเชื่อมั่นในตนเอง
  2. เสริมพลังอำนาจในตนเองให้รู้สึกว่าสามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆได้
  3. เรียนรู้ที่จะเคารพตนเอง เชื่อว่าตนเองเป็นอิสระ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ครอบครัวหรือ สังคมเท่านั้น
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่
  5. ส่งเสริมทักษะในการใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น


ที่มา
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

Tuesday, February 16, 2010

วิธีสังเกตุ โรคมะเร็ง

โรคมะเร็ง เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่รู้ชื่อ แต่ไม่เคยรู้ว่า มะเร็งคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร???


โรคมะเร็ง เป็นโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ร่างกาย ในระดับสารพันธุกรรมภายในเซลล์ ทำให้เซลล์ผิดปกติ และมีการเพิ่มจำนวนขึ้น เกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมมากระตุ้น ได้แก่ สารก่อมะเร็ง และมลพิษที่อยู่รอบตัวเรา

 มะเร็งเกิดได้กับทุกเพศ และทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่มะเร็งจะเกิดขึ้น ในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

หมั่นสังเกต 7 สัญญาณเตือน
  1. มีก้อนเนื้อ ที่เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในร่างกาย และก้อนโตเร็ว รวมทั้งเต้านม และถุงอัณฑะ
  2. มีเลือดออก หรือตกขาวมาก ประจำเดือนผิดปกติ
  3. กลืนอาหารลำบาก หรือรับประทานอาหารแล้วไม่ย่อย
  4. ไอรื้อรัง หรือเสียงแหบเรื้อรัง
  5. มีการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะผิดปกติไป เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายเป็นมูกเลือด โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน หรือ ท้องผูกสลับท้องเสีย
  6. เป็นแผลเรื้อรัง แผลเป็นวงกว้าง รักษาไม่หาย
  7. มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ปาน หรือไฝ เช่น เปลี่ยนสี มีขนาดใหญ่ขึ้น

ดังนั้น การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควรอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง เภสัชกร และพยาบาล ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูง และลดการเกิดอาการข้างเคียง จากการได้รับยาเคมีบำบัด โดยการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับศัลยแพทย์ และรังสีแพทย์ ในการวางแผนการรักษาต่อไป

“คอเลสเตอรอล” ไขมันแห่งชีวิต




คอเลสเตอรอล คือ ไขมันประเภทหนึ่ง มีลักษณะกึ่งแข็ง กึ่งเหลว พบได้ในเซลล์ของอวัยวะทั่วไปในร่างกาย จินตนาการง่าย ๆ ว่าส่วนประกอบที่เป็นของเหลวในตัวเรา ล้วนมีคอเลสเตอรอลแทรกซึม เป็นเจ้าถิ่นอยู่ทุกอณู ไม่เว้นแม้แต่ส่วนสำคัญที่สุดอย่าง ก้อนไขมันทรงประสิทธิภาพที่เรียกว่า สมอง

คอเลสเตอรอลมีบทบาทสำคัญหลายประการ อย่างที่เราคาดไม่ถึง ทั้งเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ ช่วยในการส่งผ่านสารละลายต่างๆ เข้าออกเซลล์ หรือรับส่งสัญญาณมาสู่เซลล์ และยังเป็นสารตั้งต้นการสร้างน้ำดี สำหรับย่อยไขมันที่เรากินเข้าไป รวมทั้ง มีส่วนสำคัญในการผลิตสารจำพวกสเตียรอยด์ฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนที่ไปควบคุมระบบเกลือแร่ และการทำงานของไต เป็นต้น
ถ้าคุณคิดว่าคอเลสเตอรอลส่วนใหญ่มาจากอาหารแล้วล่ะก็ เปลี่ยนความคิดใหม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่แล้ว ตับของคุณสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นมาเอง และเพราะคอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดไม่ละลายในน้ำ ก่อนร่างกายนำไปใช้ จึงต้องมีการรวมตัวเข้ากับโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อ อะโพโปรตีน (apoprotein) เพื่อเปลี่ยนรูปเป็นไลโพโปรตีน (lipoprotein) หน้าตาคล้ายไข่แดงที่ถูกหุ้มด้วยไข่ขาว หลังเสร็จสิ้นการเปลี่ยนรูปร่าง คอเลสเตอรอลในรูปแบบไลโพโปรตีน จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางกระแสเลือด  เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

คอเลสเตอรอลหายไปไหน

คอเลสเตอรอลส่วนหนึ่ง จะถูกนำไปสร้างเป็นน้ำดี หรือน้ำย่อย และอีกส่วนนำไปสร้างไลโพโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อ วีแอลดีแอล (VLDL: Very Low-Density Lipoprotein) ซึ่งประกอบไปด้วย ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นส่วนใหญ่ มีคอเลสเตอรอลอยู่เล็กน้อย พร้อมโปรตีนที่ช่วยให้มันละลายอยู่ในเลือดได้ ระหว่างทางที่วีแอลดีแอลเดินทางในเส้นเลือด จะมีเอนไซม์ ที่ย่อยเอาไตรกลีเซอร์ไรด์ไปใช้ ซึ่งไตรกลีเซอร์ไรด์นี้ ให้พลังงานมากกว่าคาร์โบไฮเดรต และโปรตีนถึง 2 เท่า ช่วยในการสร้างน้ำนม เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของกล้ามเนื้อ และหัวใจ

ไตรกลีเซอร์ไรด์ที่ใช้ไม่หมด จะถูกนำไปเก็บไว้ในไขมัน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรอง เมื่อไตรกลีเซอร์ไรด์ถูกดึงออกไปจากวีแอลดีแอลหมดแล้ว จะเหลือเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่สุด ในชื่อ แอลดีแอล (LDL: Low-Density Lipoprotein) หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี แต่ยังมีประโยชน์ คือ เมื่อผ่านไปถึงอวัยวะไหน ก็จะถูกดึงคอเลสเตอรอลไปใช้งานได้ทันที เมื่อวนครบทุกส่วนแล้ว หากแอลดีแอลยังถูกใช้ไม่หมด ก็จะถูกลำเลียงเข้าสถานีสุดท้าย คือ ตับ ซึ่งตับก็จะนำแอลดีแอลที่เหลือนี้ ไปสร้างเป็นวีแอลดีแอลอีกครั้ง เป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไป

แอลดีแอล VS เอชดีแอล กำเนิดไขมันตัวร้าย ตัวดี
จริง ๆ แล้วทั้งแอลดีแอล และเอชดีแอลมีที่มาเหมือนกัน คือ เป็นคอเลสเตอรอลในรูปไลโพโปรตีน แต่แตกต่างกันที่น้ำหนักของโมเลกุล มวลที่มีโมเลกุลคอเลสเตอรอลมากกว่า เรียกว่า แอลดีแอล หรือไขมันตัวร้าย ที่แม้จะมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ข้อร้ายที่ปรากฎ คือ นำไขมันและไตรกลีเซอร์ไรด์ออกจากตับ ไปสะสมไว้ตามหลอดเลือด สร้างปัญหาให้แก่หลอดเลือด

คนที่กินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน และคอเลสเตอรอล เมื่อรวมกับที่ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลออกมาตามปกติ จะทำให้วัฏจักรคอเลสเตอรอลในร่างกายไม่สมดุล คือ มีมากจนเกินพอดี เหลือใช้ ตับทำลายไม่ทัน บางส่วนจึงเหลือรอด ออกไปสะสมตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงบริเวณนั้น สูญเสียการทำงาน ทั้งตีบ ตัน หรือแตก เป็นเหตุให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ  ตามมา

ส่วนมวลที่มีโมเลกุลของคอเลสเตอรอลน้อยกว่า เรียกว่า เอชดีแอล (HDL: High density Lipoprotein) อุดมไปด้วยฟอสโฟลิพิด มีหน้าที่ทำความสะอาดหลอดเลือด เก็บคราบไขมันที่แอลดีแอลทิ้งไว้ กลับคืนมาที่ตับ แล้วขับออกทางน้ำดี ส่วนหนึ่งจะถูกไฟเบอร์ในอาหารจับ และขับออกทางอุจจาระ จะเปรียบเอชดีแอลว่า เป็นผู้พิทักษ์ความสะอาดก็คงไม่ผิดนัก

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งไขมันร้าย คอยเสริมการทำงานของแอลดีแอล นั่นคือ ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ที่คอยขัดขวางการทำงานของเอชดีแอล และเมื่อใดที่ร่างกายเรามีโรคอย่างความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน เจ้าไตรกลีเซอร์ไรด์ และแอลดีแอล ก็พร้อมปฏิบัติการขั้นสุดยอด ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น จนอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้

อันตรายจากไขมันร้าย แอลดีแอล

ในคนปกติที่ไม่มีความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน แม้ผลตรวจร่างกายจะบอกว่า คุณมีปริมาณแอลดีแอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง ทั้งยังมีค่าเอชดีแอลที่ต่ำ ก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไร เพราะเจ้าไขมันวายร้าย 2 ชนิดนี้ จะออกฤทธิ์วาดลวดลายได้ ก็ต่อเมื่อร่างกายเรามีอาการของโรคสองชนิดข้างต้นเท่านั้น ถ้าเรายังแข็งแรงดีวายร้ายก็จะไม่มีพิษสงอะไรเลย แต่ถ้าคุณมีอาการของโรคใดโรคหนึ่ง หรือทั้งสองโรค กอปรกับอายุที่มากขึ้น แอลดีแอลก็จะได้ใจ พร้อมทำร้ายอวัยวะสำคัญ ๆ อย่างหัวใจ สมอง และตับ ไต ได้อย่างน่ากลัว
  • คอเลสเตอรอลกับหัวใจ จากการวิจัยของต่างประเทศพบว่า คอเลสเตอรอลเริ่มสะสมตามหลอดเลือดหัวใจได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี และจะอันตรายยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม เป็นโรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรม ที่ทำให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลมากกว่าปกติ หากพบว่า มีความเสี่ยงดังกล่าว และผลตรวจร่างกายชี้ชัดว่ามีปริมาณคอเลสเตอรอลสูง ควรรีบไปพบแพทย์
  • คอเลสเตอรอลกับสมอง เมื่อคอเลสเตอรอลเข้าไปสะสมในเส้นเลือด ที่ไปเลี้ยงสมอง ไม่ว่าจะบริเวณใดก็ตาม จะก่อให้เกิดความผิดปกติบริเวณนั้น ๆ เช่น หากเส้นเลือดบริเวณสมอง ส่วนควบคุมการทรงตัวเกิดตีบ ตัน หรือแตก ร่างกายก็สูญเสียการควบคุมการทรงตัว กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือพาร์คินสัน หากเกิดกับเส้นเลือดสมองส่วนควบคุมการรับรู้ อาจทำให้ความจำเสื่อม เป็นอัลไซเมอร์ เป็นต้น แต่ก่อนที่อาการผิดปกติของเส้นเลือดจะส่งผลถึงสมอง มักจะเกิดขึ้นกับหัวใจก่อนเสมอ
  • คอเลสเตอรอลกับตับ และไต หากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตับ หรือไตเกิดอาการตีบ แตกหรือตัน ก็อาจทำให้ตับ หรือไตสูญเสียการทำงาน ถึงขั้นตับวาย หรือไตวายจนเสียชีวิตได้

สรุปแล้ว คอเลสเตอรอลจะทำร้ายเราได้ ก็ต่อเมื่อเราเป็นโรค หรือเสี่ยงกับโรคอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว และโดยธรรมชาติ คอเลสเตอรอลจะไปฝังตัว เป็นคราบอยู่ตามเส้นเลือดแดงหลัก ที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ การที่จะเกิดอันตรายใด ๆ หรือรุนแรงแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับว่าเส้นเลือดที่มีปัญหานั้น อยู่บริเวณไหน และโดนทำลายไปมากเพียงใด คำเตือนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า ถึงเวลาลดคอเลสเตอรอลหรือยัง จะอยู่ในสมุดรายงานการตรวจร่างกายประจำปีของคุณ นอกจากนี้ วิธีการป้องกันที่สุด คือ การออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 วัน จะช่วยเพิ่มปริมาณเอชดีแอล เพื่อต่อกรกับแอลดีแอลและไตรกลีเซอร์ไรด์อย่างได้ผล

ส่วนการควบคุมอาหาร และรับประทานอาหารที่ให้แอลดีแอลต่ำ ก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ยังให้ผลน้อยกว่าการออกกำลังกาย

ที่มา
นิตยสาร Health & Cuisine

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis)

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ มักเริ่มพบในวัยเด็ก โดยพบประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวได้ถึง ร้อยละ 70 เช่น ประวัติว่าพ่อแม่เป็นหืดหอบ ลมพิษ หรือน้ำมูกไหล เพราะแพ้อากาศ

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เป็น ๆ หาย ๆ พบบ่อยในเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน กล่าวคือ ผู้ป่วยมักมีประวัติเยื่อบุตาอักเสบ แพ้อากาศ ไอ จามบ่อย ๆ หรือหอบหืด โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง เช่น ตอนเช้ามืด คนในครอบครัวผู้ป่วย มักมีประวัติโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุต่าง ๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ แพ้อากาศ ไอจามบ่อย ๆ หอบหืด หรือผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ไม่ได้เกิดจากการแพ้อาหาร หรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เกิดจากผิวหนังของผู้ป่วยไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งสภาพร้อน เย็น แห้ง ชื้น เชื้อโรค และสารเคมีที่ระคายผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวเลย ก็เป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ในยีนของครอบครัวผู้ป่วย โดยไม่เกิดอาการก็ได้

โรคนี้แบ่งลักษณะตามช่วงอายุได้เป็น 3 ช่วง

  1. ช่วงวัยทารก เริ่มมีอาการคัน และผื่นขึ้น ตั้งแต่อายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ อาการคันอาจเป็นมากจนเด็กอายุถึง 2 ขวบ พบเป็นผื่นที่แก้มทั้ง 2 ข้าง หรือตามด้านนอกของแขน ขา ลำตัว ผื่นคันอาจเห่อขึ้นเมื่อเด็กฉีดวัคซีน เมื่อเด็กมีอาการผื่นคันอยู่แล้ว จึงต้องระมัดระวังในการฉีดวัคซีน หรือควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน
  2. ช่วงวัยเด็ก ผื่นผิวหนังในช่วงวัยเด็ก มักเป็นตาม ข้อแขน ข้อพับ และขา ผื่นจะแดง คลำดูได้หนากว่าปกติ อาการคันอาจเป็นรุนแรงมาก จึงทำให้เด็กหงุดหงิดรำคาญ
  3. ช่วงวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ พบว่า โรคผิวหนังภูมิแพ้ในวัยทารก และวัยเด็กอาจหายไปเองใน 2-3 ปี แต่กลับมากำเริบอีกครั้ง ในวัยรุ่น อาจมีอาการคันอย่างมาก อาการคันมักกำเริบตอนกลางคืน ผื่นคันมักเป็นตามข้อพับ แขน ขา ใบหน้า หัวไหล่ และด้านบน

อาการและลักษณะของผื่นแพ้

  1. ผื่นผิวหนังอักเสบในโรคนี้ อาการคันมาก ลักษณะเป็นผื่นแดง หรือมีตุ่มแดงนูน ตุ่มน้ำใส ซึ่งเมื่อแตกออกเป็นน้ำเหลืองไหลเยิ้มแล้วกลายเป็นสะเก็ดแข็ง ถ้าผื่นนี้เป็นมานาน เข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะพบเป็นแผ่นหนาแข็ง มีขุย ตำแหน่งที่พบผื่นแตกต่างกันได้ตามวัยของผู้ป่วยในเด็กเล็ก ช่วงขวบปีแรก ผื่นผิวหนังอักเสบ จะพบมากบริเวณใบหน้า ศีรษะ เด็กมักจะเอาแก้ม หรือศีรษะถูกไถกับหมอน ผ้า ที่นอน เพราะผื่นคันมาก
  2. ในเด็กวัยเรียน และผู้ใหญ่ ผื่นผิวหนังอักเสบ พบมากในบริเวณ ข้อพับแขน ข้อพับขา คอ ใบหน้า และผิวหนังตำแหน่ง ที่มีการเสียดสี แต่ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นเกิดทั่วร่างกายได้
  3. โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นโรคที่มีผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ในเด็กทารกมักเป็นผื่นคันที่แก้ม รอบปาก หนังศีรษะ ซอกคอ เด็กที่โตขึ้นจะมีผื่นตามข้อพับ แขนขา หรือบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย ๆ เช่น ข้อศอก เข่า อาการที่สำคัญคือ “คันมาก” ผื่นจะกำเริบมากขึ้น เมื่อผิวแห้ง หรือมีเหงื่อออกมาก ยุงกัด อาการคันทำให้ผู้ป่วยเกา ส่งเสริมให้ผื่นลามกว้างขึ้น และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ผื่นกำเริบมากขึ้น
  1. สภาวะแวดล้อม เช่น สภาวะที่มีละอองเกสร ขนสัตว์ ไรฝุ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น
  2. เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา อาจแทรกซ้อน ทำให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนังของผู้ป่วย ผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิม จะกำเริบมากขึ้น  กรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
  3. ฤดูกาล ผื่นผิวหนังอักเสบ มักมีอาการมากขึ้น ในช่วงฤดูหนาว เพราะความชื้นในอากาศต่ำ อากาศแห้ง เย็น ทำให้ผิวหนังผู้ป่วยคันและเป็นผื่น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศที่ร้อน ทำให้เหงื่อออกมาก เกิดอาการคัน และเกิดผื่นเช่นเดียวกับในฤดูหนาว
  4. เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องประดับที่มีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์ จะทำให้เกิดการคันเพิ่มเติม
  5. สบู่ ครีม โลชั่น และผงซักฟอกที่ใช้เป็นประจำ สารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ละลายไขมัน หรือ/และอาจมีส่วนประกอบ ที่ก่ออาการระคายเคืองแก่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน และเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ง่าย
  6. อาหาร ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 10 พบว่า อาหารบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นแย่ลง มักพบในผู้ป่วยเด็ก เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์บางประเภท
  7. จิตใจที่วิตกกังวล ความเครียดก็สามารถทำให้โรคกำเริบได้
การวินิจฉัย
  1. การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ อาศัยประวัติที่ผู้ป่วยมีอาการคันตามตัว เป็นผื่นผิวหนังอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณข้อพับต่าง ๆ
  2. การทดสอบว่าผู้ป่วยแพ้อะไร เช่น การสะกิดฉีด หรือแปะยา ทดสอบใต้ผิวหนัง หรือใช้วิธีการเจาะเลือดตรวจว่าผู้ป่วยแพ้อะไร  ช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุของการแพ้ สารก่อภูมิแพ้ ที่พบบ่อยว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบมีหลายชนิด
  3. ผู้ป่วยและญาติควรสังเกตตัวเองว่า เมื่อสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมชนิดใดแล้ว ทำให้ผิวหนังอักเสบเห่อขึ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมเหล่านั้น
การรักษา
  1. หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น ไม่อยู่ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิเย็น หรือร้อนจัด และควรหลีกเลี่ยงภาวะ ที่ทำให้เหงื่อออกมาก
  2. รับประทานยาต้านฮิสตามีน ลดอาการคัด เมื่อมีอาการคันควรรับประทานยาต้านฮิสตามีน วันละ 2-3 ครั้งติดต่อ เว้น 5-7 วัน เพื่อลดอาการคัน เพราะอาการคัด ทำให้ผู้ป่วยต้องแกะเกาผิวหนัง ผื่นผิวหนังที่อักเสบจะกำเริบขึ้นได้ ยากลุ่มนี้ ได้แก่ คลอเฟนนิลามีน สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ข้อที่ควรระวัง คือ ยานี้มีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงนอน
  3. ยาทากลุ่มสเตรียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยานาน อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง
  4. กรณีที่มีตุ่มหนองเกิดแทรกซ้อนบนตุ่ม หรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

วิธีทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น
  1. ไม่ควรอาบน้ำอุ่นจัด หรืออาบน้ำบ่อยเกินไป
  2. ไม่ควรฟอกสบู่บ่อย ๆ โดยเข้าใจผิดคิดว่า อาการคัน เกิดจากความสกปรกของผิวหนัง การถูสบู่มาก ๆ ทำให้ผิวระคาย และแห้ง  กลับทำให้เป็นผื่นมากขึ้นอีก สบู่ที่เลือกใช้ ไม่ควรเป็นกรดหรือด่างจนเกินไป ไม่มีสี หรือน้ำหอมเจือปน
  3. ใช้สารเคลือบผิว (Emollients) ผสมน้ำแช่อาบ หรือ ทาผิวหนังทันทีหลังอาบน้ำ และใช้ครีม Moisturizer หรือ โลชั่นทาเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังบ่อย ๆ

วิธีลดอาการคัน
  1. การลดอาการคัน เพื่อลดการเกา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผื่นลุกลามขึ้น
  2. อย่าใช้เสื้อผ้าที่ระคายง่าย อับร้อน ควรใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ และควรซักล้างผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่มออกให้หมด
  3. ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมอากาศที่สบาย ไม่ร้อน หรือหนาวจนเกินไป
  4. ไม่ควรใช้น้ำหอม สเปรย์ และหลีกเลี่ยงขนสัตว์ ฝุ่น ควันบุหรี่
  5. อย่าออกกำลังกายมาก ขณะที่มีผื่นกำเริบ เพราะจะทำให้เหงื่อออกมาก และคัน
  6. ลดการเกา โดยตัดเล็บให้สั้น ตะไบเล็บอย่าให้คม ในเด็กเล็ก อาจสวมถุงมือให้เวลานอน เพื่อไม่ให้เกาเวลาหลับ

โรคภูมิแพ้ที่พบร่วมกัน
  1. กรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่า แพ้สารอะไร ควรพยายามหลีกเลี่ยงสารนั้น
  2. ถ้ามีโรคภูมิแพ้อย่างอื่นร่วมด้วย เช่น หืด โรคภูมิแพ้ทางจมูก ก็จะให้การรักษาไปพร้อม ๆ กัน
  3. การใช้ยา แพทย์อาจจะให้ยากิน เพื่อลดอาการคัน ยาทาลดอาการอักเสบของผิวหนัง หรือยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่แทรกซ้อน เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่อาจมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี แต่สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้
  4. หากได้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งจะหายจากโรคนี้ได้เมื่อโตขึ้น หลังอายุ 3 – 5 ปี ผู้ป่วยและพ่อแม่จึงไม่ควรจะท้อถอยหมดกำลังใจ ถ้ามีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์

แนวทางการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังภูมิแพ้
  1. ไม่ควรใช้สบู่มาก เพราะผิวหนังในโรคนี้แห้งมากอยู่แล้ว ถ้าจะใช้ให้ใช้สบู่อ่อน หรือสบู่ที่มีไขมันสูง ชำระล้างบริเวณที่สกปรกเท่านั้น ไม่ควรขัดฟอกแรง ๆ ไม่ควรนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ ใช้ขันตักอาบ หรืออาบน้ำฝักบัวจะดีกว่า ไม่ควรอาบน้ำร้อนจัด การเช็ดตัวให้ใช้วิธีซับ ไม่ควรเช็ด หรือถูแรง ๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ที่หนา ควรใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอโปร่ง ๆ ให้พยายามระงับสติอารมณ์ไว้ อย่าเครียด อย่าเกาบริเวณที่คัน
  2. ไม่ควรเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่มีขน เช่น สุนัข และแมว ไม่มีสุนัขพันธุ์ใด ที่ไม่กระตุ้นโรคภูมิแพ้ ความเข้าใจที่ว่าโรคภูมิแพ้เกิดจากขนสุนัขนั้นผิด ที่จริงสารก่อภูมิแพ้ในสุนัขนั้น คือ โปรตีนที่อยู่ในเศษขี้ไคล น้ำลาย และฉี่ ซึ่งสุนัขทุกตัวมีโปรตีนเหล่านี้ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ที่ต้องการเลี้ยงสุนัขจริง ๆ อาจต้องปรึกษาแพทย์ และไม่ควรให้สุนัขเข้าห้องนอน ควรอาบน้ำให้สุนัขทุกสัปดาห์ ไม่ควรใช้พรมปูพื้น เพราะทำความสะอาดยาก
  3. เก็บตุ๊กตายัดนุ่น และตุ๊กตาที่มีขนปุยออกไปให้หมด รวมถึงหมอนที่ยัดด้วยขนนก ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละออง สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันไอเสีย สเปรย์ น้ำมัน เพราะสารเหล่านี้กระตุ้นให้ผื่นผิวหนังกำเริบได้
  4. ระวังไม่ให้เป็นหวัด หรือโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เพราะการอักเสบติดเชื้อเหล่านี้ ทำให้ความต้านทานของผิวหนังต่ำลง และผิวหนังอักเสบกำเริบง่ายขึ้น พยายามไม่เข้าใกล้คนที่เป็นเริม เพราะผู้ป่วยที่มีผิวหนังอักเสบจากโรคผิวหนังภูมิแพ้อยู่แล้ว อาจได้รับเชื้อไวรัสเริม และเกิดการติดเชื้อเริมลุกลามได้มาผิดปกติ
  5. พยายามควบคุม และระงับสติอารมณ์ไว้ อย่ามีความเครียดมากเกินไป พบได้บ่อยว่า ผื่นผิวหนังกำเริบ เมื่อผู้ป่วยเครียด พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กก็ต้องไม่เครียด และวุ่นวายมากเกินควร พยายามอย่าเกาบริเวณที่คัน เพราะการเกาผิวหนังทำให้ผิวหนังถลอก และเกิดการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียตามมาได้
  6. ผู้ป่วยโรคนี้ และผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า แม้ว่าโรคนี้จะก่อให้เกิดความน่ารำคาญเพียงใดก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต จึงควรยอมรับสภาพความเป็นจริง ที่จะมีชีวิตอยู่กับโรคนี้ให้ได้ พยายามมองในแง่ดีว่า โรคนี้ในที่สุดมักจะดีขึ้น เมื่อมีอายุมากขึ้น

ที่มา
นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

Friday, January 29, 2010

"ขวดพลาสติก" หรือขวดเพท ที่นำมาล้างเรื่อย ๆ เกิดมีรอยร้าว บุบ แตก หรือเปลี่ยนสี อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และก่อมะเร็งให้คุณได้เหมือนกัน
ปัจจุบันหลายคนหวังลดขยะขวดน้ำพลาสติก ด้วยการนำขวดน้ำมาล้าง และนำกลับมาเติมน้ำใหม่ พกพาไปไหนต่อไหน ไม่ต้องซื้อน้ำดื่มขวดใหม่เรื่อย ๆ  ทำให้ประหยัดเงินและช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกต่างหาก แต่....

สาธารณสุขฯ ออกมาเตือนคนไทย ที่นิยมนำขวดเพทมาล้าง และบรรจุน้ำดื่มแช่เย็นไว้ในตู้เย็นว่า แม้ขวดเพทที่บรรจุน้ำดื่ม น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ จะมีความคงทนแข็งแรงกว่าขวดพลาสติกประเภทอื่น ๆ แต่การนำกลับมาล้างใช้ใหม่ ต้องระวังเป็นพิเศษ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้างทำความสะอาดขวดเพท ที่มีรูปทรง หรือร่องที่เป็นลวดลายสวยงามของขวด ที่ทำความสะอาดยาก และไม่สะอาดพอจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างดี


ถ้าสังเกตว่าขวดน้ำ ที่ผ่านการล้าง และใช้ซ้ำนาน ๆ มีรอยร้าว บุบ แตก มีสีที่เปลี่ยนไป ขุ่น หรือมีคราบเหลืองให้ทิ้งทันที

นอกจากนี้ยังฝากเตือน คนชอบซื้ออาหารห่อกลับบ้าน ถึงอันตรายจากการใช้โฟมใส่อาหาร ที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะโฟมใส่อาหาร ผลิตจากสารเคมีโพลีสไตลีน  ที่ไม่ทนต่อความร้อน ถ้าผู้ประกอบอาหารไม่รองใบตอง หรือถุงร้อนทั้งด้านบน และล่างโฟมก่อนวางอาหาร เมื่อถูกความมันจากอาหาร สารเคมีจะละลายได้ง่ายขึ้น เมื่อรับประทานสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นโรคมะเร็งได้

การมีใจประหยัด หรือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโลกก็ดีอยู่ แต่ก็อย่าลืมว่าสุขภาพตนเองก็สำคัญนะ

นวดหน้า แบบง่าย ๆ

ใครที่กำลังมองหน้าวิธีนวดหน้า วันนี้มีวิธีนวดหน้าแบบง่าย ๆ  มาบอก...

-เริ่มจากบริเวณหน้าผาก
ให้ใช้นิ้วกลางและนิ้วนาง เริ่มจากกึ่งกลางหน้าผาก นวดวนขึ้นเป็นแนวขดลวด (ขึ้นหนักลงเบา) นวดจนถึงบริเวณขมับ 6 จังหวะ ทำซ้ำ 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้าย ให้กดจุดที่ขมับเพื่อความผ่อนคลาย
-บริเวณรอบดวงตา และยกกระชับริมฝีปาก
ใช้นิ้วกลางและนิ้วนางนวดเบา ๆ บริเวณใต้ตา โดยเริ่มจากแนวโครงกระดูกเบ้าตาล่าง  วนไปมาเบา ๆ นับ 1 ครั้ง ทำซ้ำ 3 ครั้ง จากนั้นเริ่มนวดจากบริเวณใต้โพรงจมูก ลูบออกด้านข้าง ในลักษณะยกผิวขึ้น ลูบไปมา 3 ครั้ง และเลื่อนนิ้วลงมาบริเวณใต้ริมฝีปากล่าง ลูบออกตามแนวริมฝีปากในลักษณะยกขึ้น ทำซ้ำ 3 ครั้ง
-ยกกระชับกล้ามเนื้อบริเวณมุมปาก
ใช้ปลายนิ้วทั้งสองข้างนวด จากบริเวณกึ่งกลางคางขึ้นไปที่บริเวณมุมปากใน ลักษณะยกขึ้น ทำซ้ำ 3 ครั้ง
-ยกกระชับกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม
ใช้ปลายนิ้วทั้งสองข้างนวดจากบริเวณมุมปาก ในลักษณะยกผิวขึ้นเป็นมุมกว้าง ค้างไว้สักครู่แล้วค่อยลูบลง ทำซ้ำ 3 ครั้ง
-ผ่อนคลายความตึงเครียดบริเวณดวงตา
ใช้นิ้วกลางและนิ้วนาง กดบริเวณหัวตาทั้ง 2 ข้าง กดเบา ๆ นับ 1-3 แล้วลูบผ่านเปลือกตา และวนรอบดวงตา กลับมากดที่หัวตา ทำซ้ำ 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายลูบผ่านเปลือกตาไปกดจุดที่บริเวณขมับ

Friday, January 22, 2010

ทูน่า..โอเมก้ากระป๋อง

แค่เดินเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วหยิบ "ปลาทูน่ากระป๋อง" มันช่างง่ายดาย เปิดฝาเทใส่จาน คุณค่าสารอาหารยังครบถ้วน เหมือนเพิ่งโผล่พ้นจากทะเล เป็นเพราะเจ้าทูน่าตัวใหญ่ เนื้อแน่น มีก้างน้อย  ดันเกิดเป็นปลาทะเลน้ำลึก และอาศัยอยู่ในกระแสน้ำวนกลางมหาสมุทร มันช่างห่างไกลชายฝั่งเสียเหลือเกิน ปลาทูน่าจึงถูกจองจำใต้น้ำแข็ง จนขาดความสดเหมือนตอนมีชีวิต  แถมผู้บริโภคยังมีความต้องการสูง เกินกว่าจะรอให้ซื้อตัวเป็น ๆ จากตลาดได้  ปลาทูน่าต้องทำให้สุก ก่อนบรรจุกระป๋อง  แล้วนำมาวางบนชั้นสินค้าให้พวกเราเห็นจนชินตา

ปลาทูน่ากระป๋องในเมืองไทย มีอยู่หลายชนิด แต่ที่นิยมนำมาบริโภคกัน คือ พันธุ์สามัญที่สุดอย่าง SKIP JACK และ YELLOWFIN TUNA อายุเฉลี่ย 3-8 ปี และมีน้ำหนักตั้งแต่ 1.8 จนถึง 50 กิโลกรัมขึ้นไป

หลายคนชมชอบเนื้อสีชมพูอ่อนถึงสีขาว ของ “เนื้อไก่จากทะเล” ซึ่งเป็นชื่อเรียกเล่น ๆ ของทูน่า  บวกกับคุณสมบัติอาหารประเภทปลา ที่มีโปรตีนสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  แต่ปลาทูน่าเหนือชั้นกว่า  เพราะมีไขมัน และคอเลสเตอรอลต่ำ และยังเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ ทำให้ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก และคนรักสุขภาพต่างขานรับไว้ติดครัว 

คุณเชื่อหรือไม่ว่า ยังมีสิ่งสำคัญซ่อนตัวอยู่ในคุณสมบัติ “ไขมันต่ำ” ด้วย มัน คือ กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งร่างกายคนเราสร้างเองไม่ได้ แต่มีความจำเป็นต่อชีวิตโดยเฉพาะ โอเมก้า 3 (OMEGA-3)
โอเมก้า 3 ประกอบด้วยสารหลัก 2 ตัว ได้แก่ EPA (EICOSAPENTAENOIC ACID) ช่วยในเรื่องของภาวะระบบการไหลเวียนของเลือด ในร่างกายของคนเราอย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนเกราะป้องกันไขมันอุดตันหลอดเลือด ช่วยลดคอเลสเตอรอล ซึ่งจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้

ส่วนสารหลักอีกตัวหนึ่งในปลาทูน่า นั่นคือ DHA (DOCOSAHEXAENOIC ACID) ซึ่งมีประโยชน์โดยตรงกับสมอง ช่วยบำรุงเซลล์สมอง และเสริมสร้างความจำ ช่วยให้เราพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า “กินปลาแล้วฉลาด” ได้ผลจริง

แม้ปลาทูน่าจะ มีคุณประโยชน์สูง แต่สำหรับสำหรับสตรีมีครรภ์ เด็กเล็ก และหญิงที่เพิ่งคลอด ควรหลีกเลี่ยง หรือรับประทานแต่น้อย ประมาณ 3 ก้อนสำหรับไลท์ทูน่า หรือ 1 กระป๋องสำหรับทูน่าขาว  เพื่อป้องกันอันตรายจากสารปรอทตกค้างในกระป๋อง กว่า 6% ที่มาจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม

โดยทั่วไป ปลากระป๋องที่เปิดฝา ก็เปรียบเหมือนการเปิดฝาอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ฉะนั้น การปรุงอาหารด้วยปลาทูน่าจึงมีขั้นตอน ไม่ต่างจากอาหารสุกทั่วไป มันไม่ยุ่งยากเลย
  • -ทูน่าในน้ำเกลือ เหมาะสำหรับประกอบอาหารประเภท ผัด ทอด หรือรับประทานทันที
  • -ทูน่าในน้ำมัน นอกจากมีส่วนช่วยให้อร่อยแล้ว วิตามินบางชนิดจะละลายในน้ำมันเท่านั้น
  • -ทูน่าในน้ำแร่ จะช่วยเพิ่มแร่ธาตุธรรมชาติ ที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย

แม้พวกเราจะนำทูน่ามาทำไส้แซนวิช แต่ยังมีอาหารจำพวกบะหมี่ พาสต้า สลัด ทำขนมทาร์ต หรือปั้นทอด รอเป็นทางลือกมื้ออาหารหลักตอนเช้า สาย บ่าย เย็น หรือตอนท้องว่าง ๆ ได้อีก

ทูน่าที่เหลือในกระป๋องหลังจากรับประทานไม่หมด ยังเก็บไว้ได้หรือไม่ ?
ยังกินได้อีก เพียงแต่เคล็ดลับในการเก็บรักษาปลาทูน่านั้น ต้องถ่ายจากกระป๋องไปใส่ภาชนะอื่น ซึ่งไม่ใช่โลหะ แล้วปิดฝา นำไปใส่ตู้เย็นช่องปกติเท่านั้นเอง แต่ควรรับประทานให้หมด ภายใน 3 วัน ส่วนที่ยังไม่เคยเปิดฝา สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 36 เดือนเลยทีเดียว  แล้วถ้าหาก จะนำไปปรุงในมื้ออาหารต่อไป  ก็แค่นำไปอุ่น หรือปรุงผ่านความร้อน คุณค่าสารอาหารในปลาทูน่าก็ยังอยู่เท่าเดิม

หากตกลงปลงใจรับรักน้องทูน่าแล้ว ไปซุปเปอร์มาร์เก็ตคราวหน้า โปรดสังเกตข้อความข้างกระป๋องที่ว่า “เป็นมิตรกับปลาโลมา” ด้วย จะได้อิ่มท้องพร้อมกับอิ่มใจ