Search This Blog

Thursday, October 1, 2009

กินแล้วนอน.... ระวัง! โรคกรดไหลย้อน



" กรดไหลย้อน " คือ ภาวะที่น้ำกรดในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร และในบางรายอาจไหลย้อนขึ้นมาถึงคอ และกล่องเสียงได้

ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยโรคนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะ ลักษณะรูปแบบการดำรงชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป เกิดความเครียด มีความเร่งรีบในการทำงาน ทำให้ผู้คนนิยมรับประทานอาหารจานด่วน ที่อุดมไปด้วยไขมัน คาร์โบไฮเดรต และแคลอรี่สูง รวมทั้งการแพทย์ที่ก้าวหน้า และเครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้สามารถตรวจ และวินิจฉัยโรคนี้ได้มากยิ่งขึ้นด้วย

ภาวะนี้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อหูรูด ระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ อาการสามารถเกิดได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ในระยะเริ่มต้นอาจไม่รู้สึกว่า มีความผิดปกติ หรือมีอาการแต่อย่างไร และผู้ป่วยบางรายอาจไม่เคยมีอาการของโรคกระเพาะ หรือรักษาโรคกระเพาะมาก่อนเลยก็ได้

ลักษณะอาการ

น้ำกรดจะทำให้ระคายเคืองหลอดอาหาร ทำให้เยื่อบุอาหารเกิดการอักเสบ ผู้ป่วยจะเจ็บในอก รู้สึกแสบร้อนในอกได้ โดยเฉพาะเวลาเรอ นอกจากนั้น กรดยังสามารถระคายเคืองกล่องเสียงและคอหอยได้ด้วย ซึ่งอาการที่บริเวณคอหอยและกล่องเสียง คือ เสียงแหบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง โดยเฉพาะเสียงแหบในเวลาเช้า รู้สึกขมในปาก และคอหลังจากตื่นนอนใหม่ ๆ คอ และกล่องเสียงอักเสบบ่อย ๆ รักษาหายได้ไม่นาน ก็กลับมาเป็นใหม่อีก ระคายคอ และกระแอมบ่อยๆ รู้สึกว่าคอไม่โล่ง ไอเรื้อรัง แต่พบว่าปอดปกติดี กลืนอาหารลำบาก กลืนติด ๆ กลืนไม่ลง กลืนแล้วเจ็บในคอ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรจุก ๆ ในคอ ลมหายใจมีกลิ่น มีกลิ่นปาก มีเสมหะในคอจำนวนมาก รู้สึกว่า เหมือนมีเสมหะไหลลงคออยู่เรื่อย ๆ

ผู้ป่วยบางท่านอาจมีแค่อาการใด อาการหนึ่ง ในขณะที่บางท่านอาจมีหลาย ๆ อาการร่วมกันได้ อาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิด คิดว่ามีเนื้องอก หรือก้อนมะเร็งในคอ ทั้งนี้ เมื่อทำการตรวจวินิจฉัยแล้ว แพทย์ไม่พบก้อนเนื้อเหล่านั้นเลย กรณีนี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจ วิตกกังวล และยิ่งเกิดความเครียดมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน คือ โรคกระเพาะ ที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และต่อเนื่อง การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ การดื่มเครื่องดื่ม ที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อคโกแลต การรับประทานอาหาร ที่มีไขมันสูง รสจัด หรือมีส่วนประกอบของมะเขือเทศในปริมาณมาก การเข้านอนหลังรับประทานอาหารเสร็จ 2 -3 ช.ม. ภาวะโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน การสวมเสื้อผ้าที่คับแน่น ก็มีผลทำให้เกิดโรคนี้ได้ หรือ การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาหวัดบางชนิด เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย ภาวะกรดไหลย้อนนั้นแบ่งได้เป็น 2 อย่างด้วยกัน คือ
  • การตรวจด้วยกระจก ที่ใช้สำหรับตรวจกล่องเสียง และคอโดยเฉพาะ
  • การตรวจด้วยการส่องกล้อง ซึ่งการส่องกล้องนั้น แยกได้ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ
*ส่วนที่ 1 คือ การส่องกล้องเพื่อตรวจดู ตั้งแต่ลำคอจนถึงกล่องเสียง
*ส่วนที่ 2 คือ การส่องกล้องเพื่อดูหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร

การส่องกล้องดูลำคอและกล่องเสียงนั้น สามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ใช้เวลาไม่นาน ไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรมา (ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร)

ส่วนการส่องกล้องดูหลอดอาหารและกระเพาะอาหารนั้น ผู้ป่วยต้องเตรียมตัว โดยงดน้ำ และอาหารมาก่อน เนื่องจาก ต้องมีการใช้ยาชา หรือวางยาสลบ และเพื่อที่จะได้ไม่มีเศษอาหารในกระเพาะอาหารมารบกวน ขณะที่ทำการส่องกล้อง

ในผู้ป่วยบางรายพบว่า " มีอาการในอกคล้ายกับผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิด" จึงทำให้อาจต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น การกลืนแป้ง การเอ็กซ์เรย์ หรือเอ็กซ์เรย์ คอมพิวเตอร์ ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมเหล่านี้ก็ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด หรือทรมานต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด

สำหรับแนวทางในการรักษาภาวะกรดไหลย้อนนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง

แนวทางที่ 1 :
แพทย์จะให้คำปรึกษา และแนะนำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง ที่มีผลต่อโรคนี้ เช่น ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ แพทย์จะแนะนำให้งดสูบ ในผู้ป่วยที่ชอบรับประทานอาหารปริมาณมาก ๆ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารแค่พอดี ไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มเกินไป ผู้ป่วยโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมาก แพทย์จะแนะนำให้งดอาหารรสจัดจำพวกเผ็ด และเปรี้ยว รวมทั้ง อาหารที่มีไขมันสูง และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ชา กาแฟ ช็อคโกแลต) และงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย รวมทั้งลดอาหาร ที่มีส่วนประกอบของมิ้นท์ และมะเขือเทศจำนวนมาก
แนวทางที่ 2 :
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยา เพื่อควบคุมการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งในปัจจุบัน ยาชนิดนี้มีอยู่หลายกลุ่ม และกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ ก่อนใช้ยา และไม่ควรซื้อยาลดกรดรับประทานเอง เนื่องจากยานั้น ๆ อาจไม่เหมาะสม กับสภาวะที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่
แนวทางที่ 3 :
ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น และไม่ตอบสนองต่อการรักษา 2 แนวทางแรก แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารนั้นกระชับขึ้น

ภาวะกรดไหลย้อนนั้น ควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมและต่อเนื่อง การรับประทานยาเฉพาะเวลาที่มีอาการ หรือเฉพาะตอนที่เป็นมาก ๆ มักไม่เพียงพอ ที่จะทำให้หายได้ และเมื่อรักษา จนอาการดีขึ้นแล้ว ก็ควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วให้ต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ อาจย้อนกลับมาก่อความรำคาญให้ผู้ป่วยได้อีกเรื่อย ๆ ถ้าผู้ป่วยยังมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นอยู่

เมื่อใดที่ผู้ป่วยเป็นโรคนี้ ท่านไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือละเลยที่จะตรวจและรักษา หรือดูแลร่างกาย เนื่องจากพบว่าภาวะน้ำกรดไหลย้อนมีส่วนสัมพันธ์กับมะเร็งของกล่องเสียง และมะเร็งของหลอดอาหารด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และมีอาการของโรคนี้มานานเกิน 5 ปี

ที่มา
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

No comments:

Post a Comment