Search This Blog

Tuesday, October 6, 2009

แนะวิธีบริหารกล้ามเนื้อคลายเมื่อย

สำหรับคนที่วัน ๆ ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ เป็นเวลานาน ๆ ไม่ใครก็ใครคงต้องเกิดอาการปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า หรือมีอาการทางสายตาอื่น ๆ บ้าง ปัจจุบันอาการทางสายตา ที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มีเพิ่มขึ้น จากสถิติพบว่า ผู้ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 50% มีอาการปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า และปวดศีรษะ รวมทั้งมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดหลัง เมื่อยคอ อาการเหล่านี้ มักเกิดกับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน

ถ้าหากคุณเป็นอีกคนหนึ่ง ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่านั้น หรือไม่ ก็เริ่มมีอาการอย่างที่บอกบ้างแล้ว ต่อไปนี้ คือ เคล็ดลับเพื่อถนอมดวงตาเวลาใช้คอมพิวเตอร์
  1. กะพริบตาให้ถี่ขึ้น " อาการตาแห้ง " เกิดจากการที่เรากะพริบตาน้อยลง เนื่องจากมีสมาธิขณะทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ อัตราการกะพริบตาจะลดลงจาก 20 - 22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6 - 8 ครั้งต่อนาที ถ้าไม่อยากตาแห้ง ควรจะกะพริบตาให้ถี่ขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตา เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น
  2. จัดวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ให้บริเวณหน้าต่าง อยู่ทางด้านข้างของจอคอมพิวเตอร์ เพื่อลดแสงตกสะท้อนบนหน้าจอ และควรจัด ให้มีระยะห่างระหว่างจอภาพกับตัวเราประมาณ 50 - 70 ชม. จัดระดับจดภาพจากจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ ให้อยู่กว่าระดับสายตาประมาณ 4 - 9 นิ้ว ไม่ควรให้จอภาพอยู่สูง หรือต่ำเกินไป
  3. ปรับความสว่างของห้อง ควรปิดไฟบางดวง ที่รบกวนการทำงาน เพราะปัญหาส่วนใหญ่ เกิดจากความสว่างที่มากเกิน ไป ถ้ามีแสงจ้าจากหน้าต่าง ควรใช้มูลี่เพื่อปรับแสงให้ผ่านได้เพียงบางส่วน และไม่เข้าตาโดยตรง หลีกเลี่ยงการใช้เฟอร์นิเจอร์ ที่มีพื้นผิวสะท้อน เช่น โต๊ะสีขาว ควรใช้วัสดุที่มีผิวด้าน ที่สะท้อนแสงไม่มากจะดีกว่า
  4. เลือกใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่ เวลาพิมพ์งาน ควรเลือกใช้ขนาดของตัวอักษรที่ใหญ่พอ และปรับความเข้มของตัวอักษรให้มากขึ้น ซึ่งขนาดตัวอักษร และความเข้มที่เหมาะสม จะสังเกตได้จากการที่เรายังสามารถ อ่านตัวอักษรได้ในระยะห่างเป็น 3 เท่าของระยะที่นั่งทำงาน หรือเลือกใช้จอคอมพิวเตอร์ชนิด LCD (จอแบน) ซึ่งจะช่วยถนอมสายตาได้ ดีกว่าจอคอมพิวเตอร์แบบเก่า (CRT)
  5. เลือกใช้แว่นตาที่เหมาะสมกับการใช้คอมพิวเตอร์ ควรเลือกใช้เลนส์สีเขียวอ่อน ที่ช่วยให้สบายตาภายใต้แสงจากหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ และเพื่อลดแสงสะท้อนจากจอภาพ โดยเลือกแว่นตา ที่มีกำลังขยายสำหรับระยะ 50 - 70 ซม. (ระยะกลาง) ซึ่งค่ากำลังของเลนส์ดังกล่าว จะแตกต่างจากเลนส์อ่านหนังสือ หรือเลนส์มองใกล้ ทั่วไป
  6. พักสายตา ทุก ๆ ชั่วโมง ควรเปลี่ยนอิริยาบถ หรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อพักสายตา และป้องกันอาการปวดเมื่อย จากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
วิธีบริหารกล้ามเนื้อตาแบบง่าย ๆ

" การบริหารกล้ามเนื้อตา " เป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อตา เพื่อช่วยลดความตึงเครียดของดวงตา อาการเพลียตา หรือปวดตา เนื่องจากใช้สายตามาก โดยมีวิธีปฎิบัติดังนี้
  1. กลอกตา ขึ้น - ลงช้า ๆ 6 ครั้ง โดยเหลือบตาขึ้นสูงสุด และลงต่ำสุด ในระหว่างการบริหารอย่างเกร็งลูกตา
  2. กลอกตาไปข้างขวา และซ้ายสลับกัน โดยกลอกตาไปให้ขวาสุด และซ้ายสุด ทำซ้ำ 2 - 3 ครั้ง
  3. ชูนิ้วขึ้นมา ให้อยู่ในระดับสายตา ห่างจากสายตาประมาณ 8 นิ้ว แล้วจ้องมองไปที่ระยะไกล ๆ ประมาณ 10 ฟุต สลับกับใช้ตามองระยะใกล้ ที่นิ้วมือใช้เวลามองแต่ละที่ประมาณ 2 - 3 วินาที ทำสลับไปมาเช่นนี้ ประมาณ 10 ครั้ง แล้วหยุดพัก 1 วินาที ทำประมาณ 2 - 3 รอบ
  4. กลอกตาเป็นวงกลมช้า ๆ โดยเริ่มกลอกตา ตามเข็มนาฬิกาก่อน แล้วกลอกตาทวนเข็มนาฬิกา ทำประมาณ 10 ครั้ง แล้วหยุดพัก 1 วินาที ทำประมาณ 2 - 3 รอบ

สุดท้าย คือ คำแนะนำจากความปรารถนาดีว่า เราควรตรวจสุขภาพตาปีละ 1 ครั้ง เพื่อวัดความดันตา ตรวจเช็กจอประสาทตา และความผิดปกติของสายตาเป็นประจำ เพราะโรคตาบางอย่างจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงขั้นรุนแรงแล้ว หากตรวจพบโรคตาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียสายตาได้ ดวงตาของเรามีค่าควรถนอมรักษาให้อยู่กับเรานานเท่านาน


ที่มา
ศูนย์เลสิคและรักษาสายตารัตนิน - กิมเบล

No comments:

Post a Comment