" ผงซักฟอก " เป็น " เกลือของกรดซัลโฟนิก " ซึ่งมีสมบัติชำระล้างสิ่งสกปรกทั้งหลายได้เช่นเดียวกับสบู่ ผงซักฟอกเป็นเกลือของกรดซัลโฟนิก เป็นสารซักล้าง ที่ผลิตขึ้นมาใช้แทนสบู่ มีสารลดแรงตึงผิวเป็นส่วนประกอบหลัก มีทั้งชนิดสังเคราะห์ และชนิดสกัดจากธรรมชาติ โดยทั่วไป เป็นเกลือโซเดียมซัลโฟเนตของสารไฮโดรคาร์บอน รวมถึงผงซักฟอกที่มีลักษณะเป็นผง เม็ดเล็ก ๆ หรือเกล็ด อัดขึ้นรูป กึ่งแข็งกึ่งเหลว แท่ง หรือลักษณะอื่น ๆ แต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ซักผ้าชนิดเหลว
บิลเดอร์ ฟอสเฟต
- " บิลเดอร์ ฟอสเฟต " เป็นส่วนประกอบของผงซักฟอก ประมาณร้อยละ 30-50 ทำให้น้ำมีสภาพเป็นเบส (ด่าง) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการชำระล้างสิ่งสกปรกทั้งหลายได้ดี
- " ฟอสเฟต " จะรวมตัวกับไอออนของโลหะ ในน้ำกระด้างเป็นสารเชิงซ้อน ทำให้ไอออนของโลหะในน้ำกระด้างไม่สามารถขัดขวางการกำจัดสิ่งสกปรกของผงซักฟอกได้
- " โพลีฟอสเฟต " ช่วยทำให้น้ำมันกระจายออก เป็นเม็ดเล็ก ๆ จนแขวนลอยอยู่ในน้ำได้ สิ่งสกปรก ที่ไม่ละลายน้ำกระจายตัว และช่วยปรับสภาพของน้ำกระด้าง ให้เป็นน้ำอ่อน
- " สารโซเดียมไทรโพลีฟอสเฟส (STPP) " ช่วยลดความกระด้างของน้ำ เป็นตัวช่วยให้น้ำ เป็นด่าง เพื่อให้ผงซักฟอกทำงานดีขึ้น และเป็นตัวกันสิ่งสกปรก ที่หลุดออกไม่ให้กลับมาจับที่ผ้าอีก สารนี้ลดความกระด้างได้ผลเป็นอย่างดี
- " ด่าง " จะแปรสภาพพวกไขมันให้เป็นสบู่ และรักษาความเป็นกรด-ด่างของน้ำซักให้คงที่
สารลดแรงตึงผิว
- " สารลดแรงตึงผิว (surfactant) " เป็นสารที่เมื่อละลายน้ำแล้ว จะช่วยลดแรงตึงผิวของน้ำ สารลดแรงตึงผิวอาจเป็นสารเคมีประเภท anionic, cationic หรือ nonionic ประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือส่วนผสมของสารเหล่านี้ " สารลดแรงตึงผิว " มีคุณสมบัติช่วยให้กิดฟอง และยังช่วยทำให้พื้นผิวสกปรกเปียกน้ำ ตลอดจนสามารถดึงสิ่งสกปรกออกจากพื้นผิว และกระจายอยู่ในน้ำ
- สารลดแรงตึงผิว ที่ใช้ชำระล้างสิ่งสกปรกทั้งหลาย ได้แก่ เกลือโซเดียมแอลคิลซัลโฟเนต โซเดียมแอลคิลเบนซิลซัลโฟเนต โดยผสมอยู่ประมาณร้อยละ 30 สารลดแรงตึงผิว เป็นหัวใจของผงซักฟอก เนื่องจากเป็นตัวที่ทำให้คราบสกปรก ที่ติดอยู่กับเนื้อผ้าหลุดออกได้ง่าย ปัจจุบันผู้ผลิตส่วนใหญ่นิยมใช้ สารลิเนียอัลคีลเบนซีนซัลโฟเนท (linear alkylbenzensulfonate หรือ LAS)
- สารลดความตึงผิว สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ คือ anionic surfactants, nonionic surfactants, cationic surfactants
สารลดความตึงผิว ประเภทแอนไอออน (anionic surfactants)
สารลดความตึงผิวประเภทนี้ มีประจุไฟฟ้าลบ (-) มีความสามารถในการชำระล้างคราบสกปรกประเภทดินโคลน ออกจากผ้าฝ้าย และเส้นใยธรรมชาติอื่น ๆ ได้ดีเป็นพิเศษ มีฟองมาก และจะทำงานได้ดีในน้ำที่มีอุณหภูมิสูง แต่จะใช้ได้ไม่ดีในน้ำกระด้าง
สารลดความตึงผิว ประเภทนอนไอออน (nonionic surfactants)
สารลดความตึงผิวนี้ ไม่มีประจุไฟฟ้า มีฟองน้อย ทำงานได้ดีในทุกสภาพน้ำ ไม่จำเป็นต้องเติมสาร ที่ทำให้น้ำอ่อน ดังเช่น สารลดความตึงผิวประเภทแอนไอออน สารประเภทนอนไอออน มีความสามารถในการชำระคราบไขมันออกจากพอลิเอสเตอร์ และเส้นใยสังเคราะห์อื่น ๆ ได้ดีเป็นพิเศษ
สารลดความตึงผิว ประเภทแคตไอออน (cationic surfactants)
สารลดความตึงผิวประเภทนี้ มีประจุไฟฟ้าบวก (+) นิยมผสมในน้ำยาปรับผ้านุ่มมากกว่าสารซักฟอก เพราะประจุไฟฟ้าบวกจะไปช่วยทำให้เกิดความสมดุล หลังจากเสื้อผ้าได้รับประจุไฟฟ้าลบในระหว่างการซัก
สารลดความกระด้างของน้ำ
- สารลดความกระด้างของน้ำ ไม่ได้ช่วยให้สิ่งสกปรกหลุดออกจากเนื้อผ้าโดยตรง แต่จะช่วยให้สารลดแรงตึงผิวมีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยจะรักษาสมดุลความเป็นกรดด่างของน้ำ และช่วยทำให้น้ำลดความกระด้างลง จึงทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกจากเนื้อผ้าได้โดยง่าย
- โซเดียมไทรโพลิฟอสเฟต (sodium tripolyphosphate: STPP) เป็นสารลดความกระด้างของน้ำ ที่ผู้ผลิตนิยมใช้กันมากที่สุด
- สารลดความกระด้างของน้ำชนิดอื่น ๆ ได้แก่ เกลือของกรดไนทริไทรแอซิติก (NTA) เกลือของกรดซิตริก เกลือของกรดโพลิคาร์บอกซิลิก (PAC) เกลือฟอสเฟต และซีโอไลต์
- ผงซักฟอกในประเทศไทย บางสูตรนิยมใช้สารซีโอไลต์ แทนสาร STPP
สารป้องกันการตกตะกอน
ผงซักฟอก ส่วนใหญ่ใส่สารป้องกันการตกตะกอน เพื่อมิให้เกิดตะกอนขึ้นระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ปัจจุบัน นิยมใช้โซเดียมคาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลส
สารที่ทำหน้าที่กันสนิม หรือรักษาความเป็นด่าง
ช่วยรักษาความเป็นด่าง ของผงซักฟอกตลอดการซัก ทำให้ผงซักฟอกไม่กัดภาชนะที่ซัก และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ของสารลดแรงตึงผิว สารที่ทำหน้าที่กันสนิม หรือรักษาความเป็นด่าง ได้แก่ โซเดียมซิลิเกต และโซเดียมคาร์บอเนต
สารเพิ่มความสดใส
สารเพิ่มความสดใส (optical brighteners) มีคุณสมบัติดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ ทำให้เกิดการเรืองแสง และสะท้อนเข้าตา ทำให้ดูเหมือนผ้าขาวสดใส
สารควบคุมการเกิดฟอง
- นิยมใช้สบู่ ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง ซึ่งทำจากไขวัว หรือ behenic acid
- สารควบคุมการเกิดฟอง มี 2 ประเภท คือ สารเพิ่มฟอง และ สารลดฟอง
- สารเพิ่มฟอง (foam boosters) นิยมเติมในผงซักฟอก ที่ซักด้วยมือ เพราะเมื่อเวลาซักจะมีฟองเยอะ ทำให้รู้สึกว่า ออกแรงน้อย
- สารลดฟอง (defoamers) นิยมเติมในผงซักฟอก ที่ซักด้วยเครื่อง เพื่อป้องกันการเกิดฟองล้นออกมานอกเครื่องซักผ้า
สารเร่งการฟอก (bleach activator) ใส่เพื่อขจัดรอยเปื้อน โดยไม่ทำลายเส้นใย ได้แก่ โซเดียมเพอร์โบเรต
สารช่วยละลาย
สารช่วยละลาย (hydrotrope) ใส่เพื่อให้ผงซักฟอกละลายน้ำได้ดีขึ้น ได้แก่ โซเดียมโทโลอิน หรือ ไซลีนซัลโฟเนต
สารแอนติออกซิแดนซ์
ใส่ในผงซักฟอกเพื่อยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน
เอนไซม์
เอนไซม์ เป็นสารอินทรีย์ ที่ช่วยย่อยโมเลกุลของแป้ง โปรตีน ไขมัน รวมทั้งคราบเลือด
น้ำหอม
เพื่อแต่งกลิ่นของผลิตภัณฑ์ให้น่าใช้ยิ่งขึ้น
สี
สี (dyes or pigments) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์น่าใช้ และดูสะอาด
สารป้องกันการคืนกลับ
- เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก ที่หลุดออกมาไม่ให้ไหลย้อนกลับมาเกาะบนเนื้อผ้าอีก ส่วนใหญ่นิยมใช้สารโซเดียมคาร์บอกซิเมทิลดรอกซีเอทเซลลูโลส เป็นหลัก บางผลิตภัณฑ์เลือกใช้ โซเดียมคาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลส เพื่อป้องกันการกลับเข้าไปจับใหม่ของสิ่งสกปรก ที่ถูกขจัดออกมาแล้ว ผลที่ได้ใกล้เคียงกัน
- ซิลิเกต (silicates) ช่วยทำให้สิ่งสกปรกกระจายตัว ป้องกันการกลับเข้าไปจับใหม่ของสิ่งสกปรก ที่ถูกขจัดออกมาแล้ว และป้องกันการกัดกร่อนของภาชนะ ที่ทำด้วยโลหะที่ใช้ในการซัก
- การทำให้สิ่งสกปรก และพื้นผิวเปียก (Wetting) ด้วย การใช้สารลดแรงตึงผิว โมเลกุลของสารลดแรงตึงผิว จะมีทั้งส่วนที่ละลายน้ำ และไม่ละลายน้ำ โดยส่วนของโมเลกุลของสารลดแรงตึงผิว ที่ไม่ละลายน้ำจะถูกผลักออกไป ทำให้โมเลกุลของสารลดแรงตึงผิวไปเรียงตัวอยู่ที่ผิวของน้ำ ทำให้พื้นผิวเปียก
- การสะเทิน (Neutralization) ธรรมชาติของสิ่งสกปรกโดยทั่วไป จะออกฤทธิ์เป็นกรด แต่สภาวะที่จะทำความสะอาดได้ดีนั้น ในน้ำซักต้องมีความเป็นด่าง
- การดึงสิ่งสกปรกออกจากพื้นผิว (Detergency) โดยอาศัยคุณสมบัติของสารลดแรงตึงผิว ไปลดแรงดึงดูดกันระหว่างสิ่งสกปรกและพื้นผิว
- การละลายน้ำ (Dissolving) สิ่งสกปรกบางอย่างสามารถขจัดออกได้ด้วยการละลายน้ำ
- การแปรสภาพเป็นสบู่ (Saponifiable) พวกไขมันต่าง ๆ เมื่อทำปฏิกิริยากับด่าง จะแปรสภาพเป็นสบู่ ซึ่งสามารถจะละลาย หรือแขวนลอยในน้ำได้
- การแขวนลอยในน้ำ (Emulsion) ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปิโตรเลี่ยมอื่น ๆ ที่ไม่ละลายน้ำ สามารถขจัดออกได้ โดยสารลดแรงตึงผิว จะเอาส่วนของโมเลกุล ที่ละลายได้ในน้ำมันเข้าไป ทำให้น้ำมันแขวนลอย และกระจายอยู่ในน้ำได้
- การกระจายตัว (Dispersion) สิ่งสกปรก ที่ไม่ละลายน้ำ เช่น ฝุ่นละอองต่าง ๆ เมื่อถูกขจัดออกมาแล้ว อาจรวมตัวกันเอง ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถกลับไปจับเส้นใยได้อีก ซึ่งสารพวกซิลิเกตจะป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกเหล่านี้รวมตัวกัน
- การป้องกันการกลับเข้าไปจับใหม่ (Redeposition) สิ่งสกปรกที่ไม่ละลาย เมื่อถูกขจัดออกมาแล้ว จะถูกแขวนลอยอยู่ในน้ำ แต่อาจกลับเข้าไปจับเส้นใยได้อีก จึงจำเป็นต้องเติมสารป้องกันการเข้าไปจับเส้นใยของสิ่งสกปรกจนกว่าจะมีการซักล้าง
- แม้ว่า ผงซักฟอกจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อน้ำ แต่ก็ผงซักฟกก็มีผลกระทบทางอ้อมต่อน้ำ โดยพืชในน้ำจะได้ธาตุอาหารจาก ผงซักฟอก ทำให้พืชเหล่านี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และอาศัยออกซิเจนที่มีอยู่ในน้ำ จนทำให้น้ำเน่าเสืย
- ผลเสียที่เกิดจากการใช้ผงซักฟอก อาจทำให้เกิดมลภาวะของน้ำ สารพวกฟอสเฟตจากผงซักฟอกเมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ จะทำให้พืชน้ำเจริญเติบโต รวดเร็ว ทำให้ขวางทางคมนาคมทางน้ำ ทำลายทัศนียภาพ ทำให้ออกซิเจนละลายน้ำไม่ได้ สิ่งมีชีวิตขาดออกซิเจนตายได้ และพืชน้ำเกิดมากอาจจะตายเน่า ทำให้น้ำเสีย
- จุลินทรีย์ ในน้ำสลายไม่สามารถสลายผงซักฟอกชนิดคาร์บอนอะตอม ที่แตกกิ่งก้านสาขา ทำให้เกิดการตกค้างในน้ำ เมื่อเข้าสู่ร่างกายของคนจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้
- ในผงซักฟอกบางชนิด มีฟอสเฟตซึ่งเป็นสารอาหารของสาหร่าย และพืชชั้นต่ำอื่น ๆ เมื่อฟอสเฟตจากสารซักฟอก ถูกชะล้างลงไปตามท่อลงไปสะสมในแม่น้ำลำคลอง ฟอสเฟตจะช่วยทำให้สาหร่าย และพืชชั้นต่ำเติบโตอย่างรวดเร็ว และอาศัยออกซิเจนที่มีอยู่ในน้ำไป จนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และในที่สุดแหล่งน้ำนั้น จะตื้นเขินลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นปลักตม ทำให้แหล่งน้ำเน่าเหม็น
- เอนไซม์ ในผงซักฟอกบางชนิด ซึ่งทำงานไม่ต่างอะไรกับเอนไซม์ย่อยอาหารในกระเพาะของคน แม้ว่าเอนไซม์ที่อยู่ในผงซักฟอก จะไม่เป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์
- สารประกอบที่อยู่ในผงซักฟอกเหล่านี้ สามารถทำอันตรายต่อสัตว์น้ำ และยังทำให้แหล่งน้ำเสื่อมโทรม จนสัตว์น้ำไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยเฉพาะสารลดแรงตึงผิว เช่น LAS และ BAS จะมีอันตรายต่อสัตว์น้ำ ในปริมาณความเข้มข้นต่ำ สารลดแรงตึงผิวทั้งชนิด LAS และ BAS จะไปล้อมจับพื้นผิวสารอินทรีย์ต่าง ๆ ที่มีในแหล่งน้ำ เมื่อความเข้มข้นมากขึ้น จะทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดการชะงัก ได้มีผู้ศึกษาพบว่า LAS มีพิษต่อปลามากกว่า BAS ตั้งแต่ 1.5 เท่า - 4 เท่า ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เมื่อความเค็มของน้ำเพิ่มขึ้น ความเป็นพิษของ BAS จะเพิ่มขึ้นด้วย ส่วน LAS นั้น ความเป็นพิษจะขึ้นอยู่กับปริมาณออกซิเจนละลาย ความกระด้างของน้ำ และอุณหภูมิ
- น้ำซักล้าง ที่เกิดจากกิจกรรมภายในบ้าน รวมทั้งร้านรับซักรีดเสื้อผ้า เป็นแหล่งกำเนิดผงซักฟอกมากที่สุด ซึ่งควรจะได้มีการบำบัดน้ำทิ้งประเภทนี้เสียก่อนที่จะระบายลงสู่แม่น้ำลำ คลอง ซึ่งเป็นสาเหตุให้น้ำเน่าเสีย
- สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับสารระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น สารเคมีพวกกรดด่าง สารละลายอินทรีย์เคมี เมื่อสัมผัสบ่อย ๆ เป็นเวลานาน ไขมันที่เคลือบผิวหนัง และสารยึดน้ำในชั้นของผิวหนัง ซึ่งทำหน้าที่รักษาความชื้นจะถูกทำลายไปทีละน้อย ๆ จนขาดความต้านทาน เกิดการอักเสบ ผิวแห้ง และแตกเสียคุณสมบัติ ในการป้องกันการซึมของสารเคมีเข้าสู่ผิว เกิดการระคายเคือง เมื่อถูกสารเคมีอีก แม้เพียงสบู่ ความร้อน ความเย็น หรือติดเชื้อก็จะเกิดได้ง่าย บริเวณใดที่อักเสบ ก็มักจะคันทำให้เกา หรือถูไถบ่อย ๆ หนังบริเวณนั้นจะแปรสภาพหนาขึ้น
- ผงซักฟอกอาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ถ้ามีส่วนผสมของด่าง ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินอาหาร ทำให้ผิวหนัง และเยื่อบุของทางเดินอาหารถูกกัดไหม้ และอักเสบ เกิดอาการเจ็บในปาก และลำคอ กระหายน้ำ คลื่นไส้อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด กลืนลำบาก หายใจลำบาก ช็อก บางคนอาจมีการแตกทะลุของหลอดอาหาร และกระเพาะ ทำให้กลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือหลอดอาหารเกิดการตีบตันจากการอักเสบได้
สารฟอสเฟตในผงซักฟอกเป็นสารชนิดหนึ่ง ที่เป็นธาตุอาหารของพืช ดังนั้น จึงควรนำน้ำที่ได้จากการซักผ้าไปรดต้นไม้ เพื่อที่ต้นไม้จะได้รับสารฟอสเฟตในผงซักฟอกเป็นธาตุอาหารต่อไป
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
เบื่อออออออออโว๊ยยยยยยยยยยย
ReplyDeleteความรู้ก็ดีน่ะค่ะ
ReplyDelete