Search This Blog

Friday, October 16, 2009

การปัสสาวะ



คำถามเกี่ยวกับการปัสสาวะที่ห้ามละเลย


หากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ จะมีวิธีรักษาอย่างไร? อาการปวดแสบเวลาปัสสาวะ แล้วเพศหญิง หรือเพศชายที่มีโอกาสเป็นได้มากกว่ากัน มีวิธีป้องกันอย่างไร และมีอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงกับการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบปัสสาวะได้บ้าง?

อาการปวดแสบปวดร้อนในขณะถ่ายปัสสาวะ บางครั้งก็รู้สึกอยากปัสสาวะบ่อย ๆ แต่ก็มักจะปัสสาวะไม่ออก ยิ่งไปกว่านั้นปัสสาวะดังกล่าว ยังมีกลิ่นฉุน เป็นสีขุ่น บางครั้งอาจมีเลือด หรือหนองปน มิหนำซ้ำยังมีอาการเจ็บ เมื่อกดตรงบริเวณหัวหน่าวอีกด้วย จากลักษณะอาการดังกล่าวส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากการอักเสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ โดยสาเหตุสำคัญ อาจเป็นเพราะความอับชื้น ที่ส่งผลให้เชื้อโรคบางชนิด ที่อาศัยอยู่แถวบริเวณจุดซ่อนเร้นเจริญเติบโตและขยายพันธุ์มากขึ้น จนทำให้เกิดการอักเสบกับอวัยวะดังกล่าว และอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน

ทำไมผู้หญิงหลายคน จึงมักจะมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบปัสสาวะกันมาก??

จากสถิติของการป่วยด้วยโรค เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะพบว่า มีผู้หญิงป่วยมากกว่าผู้ชาย 20-50 เท่า ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เป็นผลมาจากสรีระร่างกายของผู้หญิง โดยท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะสั้นกว่าท่อปัสสาวะของผู้ชาย ยิ่งไปกว่านั้น รูปิดเปิดของท่อปัสสาวะ ก็อยู่ใกล้กับทวารหนักมากกว่า จึงเปิดโอกาสให้เชื้อโรคผ่านเข้าสู่ท่อปัสสาวะได้โดยง่าย นอกจากนี้ปากช่องคลอดก็อยู่ห่างจากท่อปัสสาวะ ไม่น่าจะเกินหนึ่งเซนติเมตร ดังนั้น การที่เชื้อโรคต่าง ๆ จะเดินทางไปมาหาสู่ จนทำให้ท่อปัสสาวะเกิดการติดเชื้อ จึงไม่ใช่เรื่องยาก

ยิ่งเมื่อสูงวัยขึ้น ชั้นเคลือบผิวซึ่งทำหน้าที่ปกป้องผิว ก็จะยิ่งบางและอ่อนแอลง ทำให้ไม่อาจต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดี อย่างไรก็ดี การรักษาสุขอนามัยในบริเวณจุดซ่อนเร้นดังกล่าว หากทำบ่อยมาก หรือใช้สบู่ที่แรงเกินไปก็ใช่ว่าจะดี เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการระคายเคืองหนักขึ้น

อาหารการกินใดบ้าง ที่จะช่วยป้องกันโรคนี้ และสามารถช่วยเสริมสร้างการทำงานของไต และกระเพาะปัสสาวะได้??

ที่สำคัญและจำเป็นอันดับแรก คือ ต้องดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ยิ่งเป็นน้ำผลไม้สด ที่มีวิตามินซีสูงก็ยิ่งดี นอกจากนี้ ก็ควรจะลดการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักโขม และผักตระกูลกะหล่ำ ส่วนผักชนิดอื่น ๆ และผลไม้ต่าง ๆ ควรรับประทานเพิ่มขึ้น

เคล็ดลับเพิ่มเติมสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ก่อนร่วมเพศทุกครั้งควรดื่มน้ำสักหนึ่งแก้ว และหลังจากร่วมเพศแล้วควรจะปัสสาวะทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้น้ำปัสสาวะช่วยขับไล่ หรือชะล้างเชื้อโรค ที่อาจจะหลงเล็ดลอด เข้าไปในท่อปัสสาวะออกไป

เพราะเหตุใด การให้ความอบอุ่นแถว ๆ บริเวณหน้าท้อง จึงช่วยบรรเทาอาการป่วยดังกล่าวให้ดีขี้น??

การให้ความอบอุ่นแก่บริเวณดังกล่าว มีส่วนช่วยที่สำคัญมาก เพราะความเย็นจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ และส่งผลให้เชื้อโรคเข้าจู่โจมร่างกายได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่ความอบอุ่น จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า นอกจากนี้ การประคบหน้าท้องด้วยความร้อน ก็จะช่วยทำให้ขับปัสสาวะออกได้ดีขึ้น


นิ่วในระบบปัสสาวะมีอาการอย่างไร??

เป็นที่ทราบกันดีว่า " โรคนิ่วในระบบปัสสาวะ " เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว ก็จะสร้างความเจ็บปวดทรมานในขณะปัสสาวะได้เป็นอย่างมาก บางรายถึงกับปัสสาวะมีเลือดปน เป็นไข้ และอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังแถว ๆ บั้นเอว ปวดท้องน้อย ปวดเหนือหัวหน่าว หรือปวดบริเวณอวัยวะเพศ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของนิ่วว่า เกิดขึ้นตรงจุดใด โดยขนาดของความปวดจะพอ ๆ กับเวลาปวดจะคลอดลูกอย่างไงอย่างงั้น

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วดังกล่าวขึ้น??

สาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดนิ่วส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากภาวะโภชนาการ นอกจากนี้ก็มีบ้างในบางกรณี ที่เป็นโรคนี้มาตั้งแต่กำเนิด

กรณีที่มีสาเหตุ จากภาวะโภชนาการ นักวิชาการหลายท่านยืนยันว่า นิ่วของระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นผลมากจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป รวมถึงการรับประทานแต่อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ในปริมาณสูงอยู่เป็นประจำ ทำให้ร่างกายเสียสมดุลของน้ำ และทำให้สารแคลเซียมและฟอสเฟตถูกขับออกทางปัสสาวะ ซึ่งหากขับไม่ทัน ก็จะทำให้เกิดการตกผลึก เมื่อผลึกรวมตัวกันมากขึ้น ทางเดินปัสสาวะก็ตีบตัน และเมื่อเวลาผ่านไปเป็นแรมเดือน แรมปี ผลึกดังกล่าว ก็จะมีขนาดโตขึ้น จนกลายเป็นก้อนนิ่วที่ขัดขวางการขับถ่ายปัสสาวะ

กรณีที่มีสาเหตุมาตั้งแต่เกิด เป็นผลมาจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งทำให้ต่อมนี้ ไม่สามารถจะควบคุมระดับของแคลเซียมและฟอสเฟต ให้ดูดซึมเข้าไปเสริมสร้างกระดูกได้ ส่งผลให้ระดับของสารดังกล่าวถูกขับออกสู่ระบบปัสสาวะแล้ว ไปตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วอยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะ

มีวิธีการใดบ้างที่จะช่วยกำจัดนิ่วดังกล่าวให้หมดไป??

การตัดสินใจว่า จะกำจัดนิ่วออกไปด้วยวิธีใดนั้น บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการเกิดนิ่ว และขนาดของนิ่ว ประกอบกับสภาพไตของผู้ป่วย ทั้งนี้ วิธีการกำจัดนิ่วมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี คือ
  1. รักษาโดยให้ยาแก้ปวดและยาขับปัสสาวะ ใช้ในกรณีที่นิ่วมีขนาดเล็กกว่า 0.7 เซนติเมตร ซึ่งโอกาสที่นิ่วจะหลุดออกมาได้เอง มีความเป็นไปได้ถึงประมาณร้อยละ 60-70
  2. ใช้เครื่องมือขบนิ่ว วิธีนี้จะเหมาะกับนิ่วขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นในท่อปัสสาวะ หรือในกระเพาะปัสสาวะ โดยแพทย์จะทำการส่องกล้องผ่านเข้าไปทางท่อปัสสาวะ
  3. ทำลายก้อนนิ่วโดยใช้พลังงาน เช่น แสงเลเซอร์ อัลตร้าโซนิกส์ หรืออิเล็กโตรไฮโดรลิก ร่วมกับการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะและท่อไต วิธีนี้เหมาะกับนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในท่อไตส่วนล่าง
  4. สลายนิ่วโดยใช้คลื่นพลังงานสูง วิธีการนี้เหมาะกับการใช้สลายนิ่วได้ โดยไม่ทำให้ผู้ป่วยมีบาดแผล เพราะคลื่นพลังงานสูงที่ปล่อยออกไป จะผ่านทะลุผิวเข้าไปสลายก้อนนิ่วได้โดยตรง และหลังจากที่นิ่วสลายเป็นผุยผงแล้ว นิ่วดังกล่าวก็จะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ

อย่างไรก็ดี วิธีการทั้งหลายเหล่านี้จะใช้ได้ผลดีกับนิ่วขนาดเล็กเท่านั้น ส่วนการสลายนิ่วขนาดใหญ่นั้น อาจจะต้องใช้วิธีส่องกล้องผ่านทางช่องท้อง แล้วใช้เครื่องมือขบ หรือสลายนิ่วโดยใช้พลังงานต่าง ๆ ดังกล่าว

ระหว่างระบบการทำงานของไต กับความดันโลหิต ทั้งสองระบบมีความสัมพันธ์กันอย่างไร??

เนื่องจาก " ไต " มีหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียออกจากเลือด ในเวลาเพียง 1 นาที จะมีเลือดผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่เข้ามาสู่ไตถึง 0.2 ลิตร โดยสารที่ใช้ไม่ได้จากเลือด ไตจะเก็บกักไว้ เพื่อเตรียมขับถ่ายออกไปทางปัสสาวะ ส่วนสารที่ยังใช้ประโยชน์ได้ ไตจะปล่อยให้ไหลกลับไปทางหลอดเลือดดำใหญ่ หมุนเวียนต่อเนื่องกันไปเช่นนี้อย่างเป็นระบบ

แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ระบบการกรองของเสียของไตผิดปกติ ความผิดปกติดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อความดันโลหิต หรือระบบการไหลเวียนของโลหิตได้ ในทางตรงกันข้าม หากการไหลเวียนของโลหิตเกิดผิดปกติ โดยเฉพาะความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นสูง ย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณของเลือดที่ไหลเข้ามาในไต และทำให้การกรองของเสียของไตพลอยทำงานอย่างผิดพลาดบกพร่องไปด้วย

มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ที่ผู้ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ จะต้องรับประทานยาแอนตี้ไบโอติกหรือยาปฏิชีวนะ??

ปัจจุบัน เรายังไม่มียาอื่นใด ที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่ายานี้ เพราะยานี้สามารถจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน อันเนื่องจากเชื้อลุกลามได้ ทั้งกับอวัยวะที่ป่วยอยู่แล้ว รวมถึงอวัยวะส่วนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นผู้ป่วยด้วยโรคนี้ จึงจำเป็นต้องพึ่งยาแอนตี้ไบโอติกหรือยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยยับยั้งการติดเชื้อ และเยียวยารักษาปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ดีการใช้ยานี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง และควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้

เกร็ดน่ารู้ ระบบปัสสาวะประกอบด้วยอวัยวะใดบ้างและแบ่งงานกันอย่างไร??

เริ่มต้นจาก ไตทั้งสองข้าง ซึ่งมีบทบาทในการช่วยกรองของเสียออกจากเลือด และขับถ่ายของเสียที่กรองได้ ผ่านไปตามท่อไต เพื่อลงไปสู่กระเพาะปัสสาวะ ในขณะที่กระเพาะปัสสาวะซึ่งประกอบขึ้นด้วยกล้ามเนื้อ ที่สามารถขยายและหดตัวได้ ตามคำสั่งการของสมองส่วนไฮโปธารามัส เพื่อรองรับกักเก็บน้ำปัสสาวะไว้ และขับออกไป เมื่อน้ำปัสสาวะเต็มหรือเมื่อถูกสมองสั่งการก็ได้ โดยขับผ่านท่อปัสสาวะออกสู่ภายนอกร่างกาย ท่อปัสสาวะนี้ ในเพศชายจะมีความยาวถึง 18 เซนติเมตร ส่วนในเพศหญิงจะยาวเพียง 3-4 เซนติเมตรเท่านั้น และนี่เองที่เป็นสาเหตุหนึ่ง ซึ่งทำให้ระบบปัสสาวะของผู้หญิงติดเชื้อได้โดยง่าย

No comments:

Post a Comment