คุณไม่จำเป็นต้องอ่านบทความนี้เลย ถ้าคุณไม่สวาปามพวกเนื้อติดมันเป็นนิจศีล ห่างไกลฟาสต์ฟู้ด ระดับไขมันปกติ และไม่เคยปวดตื้อใต้ลิ้นปี่
เริ่มต้นมื้อเช้าด้วยกาแฟร้อน ๆ หอมกรุ่น พร้อมแซนวิชชีสสักชิ้น บีบมายองเนสเพิ่มอีกหน่อย ก่อนออกไปทำงาน กว่าจะประชุมเสร็จก็เที่ยงกว่าแล้ว ต้องรีบกลับมาตรวจเอกสาร เวลาน้อยอย่างนี้ คงหนีไม่พ้นอาหารจานด่วน ที่กินประจำกับชีสเบอร์เกอร์อันโต พร้อมเฟรนช์ฟราย และโคล่า กลับไปทำงานด้วยความอิ่มท้อง และตั้งใจว่า มื้อเย็นจะกินอย่างหรู ด้วยอาหารอิตาเลี่ยน ชุ่มนมเนย
อาหารที่อุดมไปด้วยคอเลสเตอรอล โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนย ชีส ต่าง ๆ นอกจากจะเป็นสาเหตุของภาวะโรคอ้วนแล้ว อาจก่อให้เกิด " โรคนิ่วในทางเดินน้ำดี " อีกด้วย
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับระบบทางเดินน้ำดีกันก่อน ระบบที่ว่าประกอบด้วย ตับ ท่อน้ำดี และถุงน้ำดี ทำหน้าที่เก็บกักน้ำดี เพื่อปล่อยมาช่วยย่อยอาหารมัน ร่วมกับเอนไซม์ในกระเพาะ อาหาร " น้ำดี " จะประกอบด้วยคอเลสเตอรอล, เกลือ, กรดน้ำดี และน้ำ ในปริมาณที่สมดุลกัน แต่หากส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งเปลี่ยนไป ก็จะส่งผลให้เกิด " นิ่ว "
" นิ่วในท่อน้ำดี " เกิดจากส่วนประกอบของน้ำดี มีความเข้มข้นเกินไป จนตกตะกอนเป็นผลึก หรืออาจเกิดจากถุงน้ำดี ที่ผิดปกติจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคระบบประสาท ที่ต้องนอนอยู่กับที่นาน ๆ ทำให้การผสมส่วนประกอบต่าง ๆ ของน้ำดีผิดปกติ หรือโรคทางระบบทางเดินน้ำดี ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ เร่งปฏิกิริยาการตกตะกอนให้เร็วขึ้น
นิ่วในทางเดินน้ำดี มี 2 ประเภท คือ
" นิ่วคอเลสเตอรอล " ที่เกิดจากการบริโภคอาหารมัน หรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลจากไขมันสัตว์ รวมไปถึง ยาคุม หรือยาบางประเภท ที่เพิ่มระดับเอสโตรเจนในร่างกาย หรือภาวะการตั้งครรภ์ ที่จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) เพิ่มสูง เพิ่มความเข้มข้นของคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงสาเหตุทางกรรมพันธุ์ คนที่ได้รับอาหารทางเส้นเลือด
อีกหนึ่งประเภทคือ " นิ่วผลึกเกลือ " ที่เกิดจากโรคบางชนิด ที่ทำให้มีเกลือเข้าไปในระบบทางเดินน้ำดีจำนวนมาก เช่น โรคเลือดอย่างธาลัสซีเมีย ซึ่งผลึกเกลือจากบิลิรูมินในเม็ดเลือดแดง แตกตัวเข้าสู่ถุงน้ำดีมากผิดปกติ ก่อให้เกิดเป็นนิ่วผลึกเกลือ
ก้อนนิ่วจะ เข้าไปอุดตันท่อทางเดินน้ำดี หรือถุงน้ำดี ทำให้น้ำดีผิดปกติ ระบบทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมาหาด้วยอาการปวดท้อง บริเวณใต้ชายโครงขวา หรือบริเวณใต้ลิ้นปี่ โดยจะปวดตื้อ ๆ หลังมื้ออาหาร หรือหลังการรับประทานอาหารมัน โดยมากอาการปวดนาน 30 นาทีถึง 3 ชั่วโมงแล้วจะหายไปเอง สำหรับผู้ป่วยที่ปวดด้วยลักษณะดังกล่าวเป็นเวลานาน โดยไม่รักษา ก้อนนิ่วจะ ขยายขนาด และไปอุดตัน ทำให้มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ตัวเหลือง ตาเหลือง เมื่อตรวจเลือดจะพบว่า ปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงมาก เพราะเกิดภาวะท่อน้ำดีอักเสบ จำเป็นต้องฉีดยาแก้อักเสบ หรือเข้ารับการผ่าตัดต่อไป
การรักษา
หากเป็นนิ่วก้อนเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตร นิ่วคอเลสเตอรอลจะรักษาด้วยการรับประทานยาละลายก้อนนิ่ว ช่วยต้านการตกผลึกของนิ่วได้ดี เป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน แต่หากเป็นนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี จะใช้วิธีส่องกล้องจากทางปาก แล้วใช้เครื่องมือเข้าไปเกี่ยวก้อนนิ่ว ให้หลุดจากท่อน้ำดี ซึ่งร่างกายจะกำจัดไป พร้อมของเสียทางลำไส้ใหญ่
การผ่าตัดเป็นวิธีรักษามาตรฐาน สำหรับนิ่วก้อนใหญ่ ปัจจุบันมีทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่มีแผลใหญ่ ใช้เวลาพักฟื้น 1-2 สัปดาห์ และการผ่าตัดส่องกล้อง ที่มีแผลเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง
นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคใช้คลื่นเสียงสลายก้อนนิ่ว แต่สำหรับนิ่วในระบบทางเดินน้ำดี พบว่า การใช้คลื่นเสียงให้ผลการรักษาที่ไม่ดีนัก จึงไม่เป็นที่นิยม
กลุ่มเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยงเป็นนิ่วในระบบทางเดินน้ำดี คือ ผู้หญิงวัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เรียกว่ามากกว่าผู้ชายวัยเดียวกัน 2-3 เท่า เนื่องจากเป็นกลุ่ม ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเยอะ และยิ่งแก่ตัว ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณฮอร์โมนขึ้น นอกจากนี้ คนที่อยู่ในภาวะอ้วน ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน แม้อุบัติการณ์ในไทยจะมีไม่มากนัก จากตัวเลขสำรวจเมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่มีผู้ป่วยด้วยโรคนิ่วในระบบทางเดินน้ำดีเพียง 3-5% ของประชากรทั้งหมด และส่วนมากจะเป็นนิ่วผลึกเกลือ
อย่างไรก็ดี รูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกิน อาหาร ทำให้คนนิยมอาหารจานด่วน หรืออาหาร ที่มีคอเลสเตอรอลสูง แนวโน้มของผู้ป่วยโรคนิ่วในระบบทางเดินน้ำดี จะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน และความรุนแรงของโรคก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
แม้จะเป็นโรคที่ฟังดูไม่ร้ายแรง แต่หากมีนิ่วอุดตัน และติดเชื้อทั้งในท่อน้ำดี และกระแสเลือด อาจรุนแรงถึงตายได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรจะควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วนมากเกินไป, ควบคุมอาหาร, หลีกเลี่ยงของมัน, เพิ่มอาหารที่มีกากใย, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, หลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนเป็นระยะเวลานาน
ที่สำคัญ หากพบอาการเบื้องต้น คือ ปวดท้องตื้อบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือบริเวณใต้ลิ้นปี่ หลังมื้ออาหาร หรือหลังการรับประทานอาหารมัน ควรรีบปรึกษาแพทย์
ที่มา
นพ. วิชัย อยู่ยงวัฒนา
อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารและโรคตับ
โรงพยาบาลปิยะเวท
Search This Blog
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment