Search This Blog

Thursday, October 22, 2009

ยาจุดกันยุง


" ยาจุดกันยุง "
ในปัจจุบัน มักจะมีการนำผลิตภัณฑ์ ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบมาใช้ เพื่อทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน เพื่อกำจัดยุง แมลง หรือสัตว์ต่าง ๆ ที่มักชอบบุกรุกเข้ามาภายในบ้าน เช่น ปลวก มด หรือแมลงสาบ เป็นต้น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ตลอดจนการใช้ ด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจะทราบ

ขั้นตอนการผลิตยาจุดกันยุง

" ยาจุดกันยุง "
เป็นผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงในบ้านเรือน ที่ใช้กันมากที่สุด เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่สูงมาก และมีประสิทธิภาพดีพอสมควร แต่ก่อนที่ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง จะออกมาวางขายในท้องตลาดได้ จะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ คือ ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ผู้ประกอบการต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการขออนุญาตเป็นผู้ผลิต ตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ต้องเชิญเจ้าหน้าที่ สมอ. ไปตรวจสอบสถานที่ผลิต พร้อมเก็บตัวอย่างยาจุดกันยุง เพื่อส่งทดสอบประสิทธิภาพ และมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น น้ำหนักสุทธิ รอยแตกหักหรือร้าวเป็นวงแหวน เมื่อทดสอบความแข็ง อัตราการเผาไหม้ และความชื้น เป็นต้น เมื่อผลทดสอบผ่านเกณฑ์แล้ว สมอ. จะออกใบอนุญาต ในการเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมีข้อกำหนดต้องใส่เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ลงบนกล่อง

สำหรับผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง ใช้ มอก. 309-2525 เนื่องจากผลิตภัณฑ์ป้องกัน และกำจัดแมลงในบ้านเรือน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของสารเคมีกำจัดแมลง ที่จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิด ที่ 2 หรือ 3 ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2538 ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดังนั้นผู้ซึ่งประสงค์จะผลิต หรือนำเข้า จะต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ที่ใช้ในทางสาธารณสุข ต่อกองควบคุมวัตถุมีพิษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน ในการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ที่กองควบคุมวัตถุมีพิษ ผู้ประกอบการต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง มาทดสอบประสิทธิภาพทางชีววิเคราะห์ ที่ฝ่ายศึกษาควบคุมแมลงโดยใช้สารเคมี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากผลทดสอบประสิทธิภาพผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว ผู้ประกอบการจะสามารถดำเนินการขอขึ้นทะเบียน กับกองควบคุมวัตถุมีพิษต่อไป เมื่อได้ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้ประกอบการจึงจะสามารถดำเนินการขออนุญาตผลิตได้

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะออกวางจำหน่ายในท้องตลาด ทางกองควบคุมวัตถุมีพิษได้กำหนดให้ใส่หมายเลขทะเบียนวัตถุอันตราย ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ลงบนกล่องผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง เพื่อให้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการควบคุมจากกระทรวงสาธารณสุขปลอดภัย สำหรับผู้บริโภค (อย. วอส. + หมายเลขทะเบียน)

การตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาจุดกันยุง

นอกจากฝ่ายศึกษาควบคุมแมลงโดยใช้สารเคมี จะมีบริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาจุดกันยุง ที่ส่งตรวจโดยผู้ประกอบการ เพื่อการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์แล้ว ทางฝ่ายฯ ยังได้ตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพยาจุดกันยุง ซึ่งส่งมาจากทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หลังจำหน่าย เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยวิธีการที่ใช้วิเคราะห์คุณภาพยาจุดกันยุง เป็นวิธีมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบ ต้องสามารถทำให้ยุงลายหงายท้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ในเวลา 20 นาที

ผลจากการทดสอบประสิทธิภาพทางชีววิเคราะห์ ของผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง ที่ส่งตรวจทั้งหมด 6 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541-2546 จำนวนตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 318 ตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างที่ผ่านเกณฑ์ทดสอบมี 299 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 94 ตัวอย่าง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การทดสอบ คือทำให้ยุงลาย knock down ร้อยละ 90 (KT90) ใช้เวลามากกว่า 20 นาที มี 19 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5.97 (จากจำนวนทั้งสิ้น 309 ตัวอย่าง ซึ่งเมื่อนำค่าเฉลี่ยของค่า KT90 มาเรียงจากน้อยไปมาก พร้อมจัดกลุ่มทุกช่วง 2 นาที พบตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.9 มีค่า KT90 อยู่ระหว่าง 6-8 นาที)

สารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง
  1. สารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง ได้แก่ Allethrin และไอโซเมอร์ทั้ง 5 Allethrin, d-Allethrin, Bioallethrin, Esbiothrin, S-Bioallethrin โดยสารเคมี ที่ใช้เป็นองค์ประกอบในยาจุดกันยุงมากที่สุด คือ d-Allethrin, Metofluthrin, Prallethrin และ Transfluthrin
  2. ยาจุดกันยุง ที่เป็นสูตรผสมระหว่าง d-Allethrin และสมุนไพร
  3. ยาจุดกันยุงที่ทำจากสมุนไพรล้วน ๆ ได้แก่ ตะไคร้หอม ตะไคร้หอมผสมผงมะกรูด และใบเสม็ดขาว

ความเป็นพิษ

แม้ว่าสารที่นิยมใช้ เป็นส่วนผสมสำหรับไล่ หรือฆ่ายุงในยาจุดกันยุง จะเป็นสารเคมีกำจัดแมลงประเภทไพรีธรอยด์ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ทำให้ยุง knock down และสลายตัวได้ง่าย รวมทั้งมีความเป็นพิษน้อยกว่าประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม สารประเภทไพรีทรอยด์ก็สามารถทำให้เกิดพิษได้ โดยเฉพาะในรายที่เกิดอาการแพ้ จะทำให้ผิวหนังอักเสบ บวม แดง เยื่อจมูกอักเสบ และมีอาการเหมือนแพ้เกสรดอกไม้ คือ จาม ไอ น้ำมูกไหล หายใจขัด เป็นต้น แม้จะไม่ค่อยพบอันตรายรุนแรง ที่เกิดจากยาจุดกันยุง แต่ผู้ใช้ก็ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทรัพย์สินได้

คำเตือนสำหรับการใช้และการเก็บรักษา
  1. อย่าจุดยากันยุง ในห้องที่มีเด็กอ่อนหรือผู้ป่วย หรือในที่อับ ไม่มีอากาศถ่ายเท ควรใช้ยาจุดกันยุงในห้อง ที่มีอากาศถ่ายเทดี
  2. อย่าให้ยากันยุงสัมผัส หรือรมถูกอาหาร
  3. อย่าจุดยากันยุงใกล้วัสดุที่ติดไฟง่าย ขาตั้ง และสิ่งรองยาจุดกันยุง ต้องทำด้วยวัสดุโลหะ หรือวัตถุอื่น ๆ ที่ไม่ติดไฟ และขณะใช้ ต้องวางให้ห่างจากของไวไฟ หรือของที่เป็นเชื้อไฟได้ และเมื่อเลิกใช้แล้ว ควรตรวจดูให้แน่ใจว่า ไฟดับเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุไฟไหม้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากประมาท
  4. ล้างมือทุกครั้ง หลังการหยิบใช้หรือสัมผัส
  5. ควรเก็บยาจุดกันยุงไว้ในที่แห้ง อย่าให้ถูกแสงแดด และให้ห่างจากเด็ก อาหาร และสัตว์เลี้ยง
  6. หากเกิดพิษจากการสูดดม ให้รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณ ที่จุดยากันยุง ไปยังบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  7. หากกลืนกินยาจุดกันยุงเข้าไป ต้องรีบทำให้อาเจียน โดยการดื่มน้ำสะอาด 2 แก้วแล้วทำการล้วงคอให้อาเจียน หากมีอาการรุนแรง ให้รีบนำส่งแพทย์ พร้อมภาชนะบรรจุ รวมทั้งฉลาก หรือใบแทรก ของผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงนั้น ๆ ด้วย

ที่มา
นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

No comments:

Post a Comment