การไอแบบมีเสมหะ เป็นกลไกของร่างกายที่พยายามกำจัดของเสีย หรือสิ่งแปลกปลอม ที่สร้างความระคายเคือง ซึ่งก็คือ " เสมหะ " ให้ออกไปจากหลอดลม
ส่วนการไอแห้ง ๆ เป็นอาการไอ ที่เกิดจากหลอมลมมีการอักเสบ หรือระคายเคือง จึงกระตุ้นให้เกิดอาการไอโดยที่ไม่มีเสมหะ
สาเหตุของการไอ มีหลายประการ ได้แก่
- สิ่งแวดล้อม และสารก่อความระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง อากาศที่ร้อน หรือเย็นเกินไป ละอองสารเคมีในอาการ
- การสำลัก หรืออุดกั้นทางเดินหลอดลม เช่น เสมหะในหลอดลม น้ำมูกที่ไหลลงหลอดลม อาหาร หรือน้ำย่อย ที่ไหลย้อนจากกระเพาะอาหารไปสู่หลอดลม
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด หลอดลมอักเสบ โพรงไซนัสอักเสบ เป็นต้น บางครั้งการติดเชื้อหายแล้ว แต่อาการไอยังคงอยู่
- โรคบางชนิด เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ปวดบวม วัณโรค ไอกรน
- อาการข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันสูงบางกลุ่ม ยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอ แต่พบไม่บ่อย เช่น การสำลักสิ่งแปลกปลอมในหลอดลม โรคเนื้องอกในหลอดลม และพยาธิบางชนิด เป็นต้น
ลักษณะของการไอ บางครั้งก็ช่วยบอกสาเหตุได้ เช่น
- ไอกลางคืนมากกว่ากลางวัน มักจะเป็นการติดเชื้อ ในทางเดินหายใจ เนื่องจากจะมีน้ำมูกไหลลงคอ ทำให้ระคายเคือง และกระตุ้นให้เกิดอาการไอขึ้น
- ไอแบบแน่นหน้าอก พบในผู้ป่วยโรคหอบหืด มักจะมีเสียงหายใจผิดปกติ เช่น เสียงวี้ด ๆ ด้วย
- ไอแบบมีเสมหะ ลักษณะของเสมหะจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ เช่น ถ้าเสมหะเป็นหนองมาก หรือมีสีเหลืองเขียว มักจะมีการติดเชื้อ ถ้าเสมหะเป็นสีขาว มักเป็นอาการไอจากภูมิแพ้ หรือหอบหืด
การป้องกันและบำบัดอาการไอ
การรักษาด้วยตัวเอง ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรม ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง จะช่วยบรรเทาอาการลงได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องที่มีอากาศร้อนหรือเย็นเกินไป
- นอนยกศีรษะสูงขึ้นประมาณ 6-8 นิ้ว เพื่อป้องกันน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดลม
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ ที่มีการจราจรคับคั่ง หรือมลพิษทางอากาศ
- งดน้ำแข็ง หรือน้ำเย็น แล้วหันมาดื่มน้ำอุ่น
- งดของทอด ของมัน
การรักษาด้วยยา
เนื่องจาก การไอเป็นอาการแสดงของโรคหลายโรคมาก คงไม่มีตัวยาตัวใดตัวหนึ่ง ที่จะเหมาะสม กับการไอทุกประเภท การเลือกใช้ยาแก้ไอให้เหมาะกับโรค จึงเป็นสิ่งสำคัญยาแก้ไอประเภทต่างๆ ได้แก่
- กลุ่มยาละลายเสมหะ ช่วยให้เสมหะใสขึ้น และขับออกได้ง่ายขึ้น ยากลุ่มนี้เหมาะสำหรับการไอแบบมีเสมหะ นอกจากนี้ การดื่มน้ำมาก ๆ ก็ช่วยละลายเสมหะได้เช่นกัน
- กลุ่มยาขับเสมหะ มักใช้ผสมอยู่ในยาแก้ไอชนิดอื่น ๆ ออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสารน้ำในทางเดินหายใจ ทำให้ความหนืดของเสมหะลดลง และถูกขับออกไปได้ง่ายขึ้น แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง และอาเจียนได้
- กลุ่มยาระงับ หรือกดอาการไอ ออกฤทธิ์โดยกดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง ทำให้หยุดไอหรือไอน้อยลง แต่ไม่ช่วยในการรักษาโรค ยาในกลุ่มนี้ บางตัวจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ผู้ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ ไม่ควรใช้ยาประเภทนี้ เพราะถึงแม้จะทำให้ไอน้อยลง แต่เสมหะที่คั่งค้างมากขึ้นในหลอดลม อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นโรคปอดอักเสบได้ ถ้ามีอาการไอแห้ง ๆ ที่รุนแรง หรือไอถี่มาก อาจใช้ยาระงับอาการไอ เพื่อลดอาการไอลงบางส่วน แต่ไม่ควรใช้ยา จนกระทั่งยับยั้งอาการไอทั้งหมด เพราะอาจจะกลายเป็นการปกปิดอาการที่แท้จริงไว้ และทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นได้
- กลุ่มยาขยายหลอดลม ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว ใช้ในกรณีที่การไอทำให้หายใจเข้าได้ลำบาก หรือการไอจากภาวะหลอดลมหดตัว จากการเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ เหมาะสำหรับผู้ป่วย ที่มีอาการไอจากหอบหืด แต่จะไม่มีประโยชน์ถ้าผู้ป่วยเป็นหวัด แล้วไอ เพราะน้ำมูกไหลลงคอ ยาขยายหลอดลมบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
- กลุ่มยาแก้แพ้ ออกฤทธิ์โดยทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง ใช้รักษาอาการไอ ที่มีสาเหตุมาจากน้ำมูกไหลลงหลอดลม
ควรปรึกษาแพทย์เมื่อ
- มีไข้ 38.9 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- เสมหะมีเลือดปน สีน้ำตาลหรือเขียว
- มีอาการหอบหืด
- หายใจลำบากเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง
- ไอติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์
No comments:
Post a Comment