Search This Blog

Thursday, October 22, 2009

โรคเก๊าท์

สาเหตุของ " โรคเก๊าท์ " (gout) เกิดจาก การที่ระดับของ " กรดยูริคในเลือดสูง " ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมกรดยูริคในร่างกายจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วกรดยูริคจะตกผลึก เมื่อระดับของกรดยูริคในเลือดมากเกิน 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร การที่ร่างกายมีกรดยูริคสะสมมากกว่าปกติ เป็นระยะเวลานาน ๆ กรดยูริคจะไปตกตะกอนอยู่บริเวณรอบ ๆ ข้อต่อ หรือภายในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น

โรคเก๊าท์เกิดจากการ ที่มีระดับของกรดยูริคในเลือดสูง และไปตกเป็นผลึก เรียกว่า " ผลึกยูเรท " อยู่ตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ข้อ บริเวณใกล้ข้อต่อ และที่ไต การที่จะเกิดการตกเป็นผลึกยูเรทตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้นั้น ขึ้นอยู่กับสองปัจจัย คือ ระดับกรดยูริคในเลือด และสภาพของเนื้อเยื่อ ซึ่งเอื้อให้เกิดการตกผลึกเป็นผลึกยูเรทหรือไม่ สภาพของเนื้อเยื่อของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยิ่งระดับของกรดยูริคในเลือดสูงเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสตกเป็นผลึกก็มากขึ้น บางคนระดับกรดยูริคในเลือดไม่สูงมาก แต่ก็สามารถเกิดการตกเป็นผลึกยูเรทได้ เนื่องจากเนื้อเยื่อของคนคนนั้น เอื้ออำนวยให้เกิดการตกเป็นผลึกยูเรท โรคนี้พบได้บ่อย หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะได้รับประโยชน์มาก แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยอาจต้องพบกับการพิการทางข้อ และหรือไตวายเรื้อรังได้

สารพิวรีน

" กรดยูริก " เกิดจากการย่อยสลายสารพิวรีน ซึ่งพบได้ในเนื้อสัตว์ ข้าวสาลี เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ เซี่ยงจี้ เป็นต้น ร่างกายจะย่อยสารพิวรีนจนกลายเป็นกรดยูริค และจะขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ในคนปกติกรดยูริคจะถูกสร้างขึ้นในอัตราช้าพอที่ไตจะขับออกได้หมด ทันกับการสร้างขึ้นพอดี ในคนที่เป็นโรคเก๊าท์ พบว่า เกิดความผิดปกติของกระบวนการใช้ และขับถ่ายสารพิวรีน

สมดุลของกรดยูริกในร่างกาย

ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์ทั้งหมด เกิดจากการที่กรดยูริคถูกสร้างขึ้น แต่ไตทำหน้าที่ขับถ่ายออกมาได้ช้าหรือน้อยกว่า จนทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริคมากขึ้นในร่างกาย และเกิดเป็นโรคเก๊าท์ขึ้น คนที่เป็นโรคนี้ มักจะมีระดับกรดยูริกในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ แต่ไม่เสมอไปทุกคน และหลายคนที่มีระดับกรดยูริกสูงในกระแสเลือด กลับไม่มีอาการข้ออักเสบจากโรคเกาต์ก็ได้

ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 10 เกิดจาก การที่ร่างกายสร้างกรดยูริคมากเกินไป พบว่า ยูริคในเลือดที่สูงนั้น กว่าร้อยละ 90 เกิดจากการสร้างขึ้นในร่างกายเอง อาหารเป็นแหล่งกำเนิดของยูริคในเลือด น้อยกว่าร้อยละ 10 อาหารที่เมื่อรับประทานไปแล้ว จะเปลี่ยนไปเป็นกรดยูริคได้มาก เช่น เครื่องในสัตว์ ปลาดุก กุ้ง ไก่ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ชะอม กระถิน เป็นต้น

สำหรับคนที่มีระดับกรดยูริคในเลือด มากกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ไม่มีข้ออักเสบ ไม่มีปุ่มปมของเก๊าท์ ที่เรียกว่า " โทฟัส " และไม่มีนิ่วทางเดินปัสสาวะ จะไม่เรียกว่าเป็นโรคเก๊าท์ แต่เรียกว่าเป็นบุคคล ที่ระดับกรดยูริคสูงชนิดไม่มีอาการ

ปัจจัยทางพันธุกรรม

พบว่า ร้อยละ 18 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์ จะมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเก๊าท์เช่นกัน กลไกการเกิดโรคเก๊าท์ เชื่อว่ามีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย พบโรคเก๊าท์นี้มากในสายเลือดเดียวกัน เช่น พี่เป็น น้องเป็น และพ่อเป็น ลูกเป็น เป็นต้น

โรคพันธุกรรมที่พบน้อยบางชนิด ทำให้ร่างกายสร้างกรดยูริคออกมา ในปริมาณที่มากเกิน ได้แก่
  1. hypoxanthine-guanine phosphoribosyl transferase deficiency (Lesch-Nyhan syndrome)
  2. glucose-6-phosphatase deficiency (von Gierke disease)
  3. fructose1-phosphate aldolase deficiency
  4. PP-ribose-P synthetase variants
เพศและกลุ่มอายุ

โรคเก๊าท์มักเป็นกับผู้ชายวัยสูงอายุ เนื่องจากภาวะกรดยูริคในเลือดที่สูงนั้น จะยังไม่เกิดการตกตะกอน และเกิดข้ออักเสบทันที แต่ต้องใช้ระยะเวลาที่กรดยูริคในเลือดสูง เป็นเวลานานหลายสิบปี พบว่าในผู้ชายที่มีกรดยูริคสูงนั้น ระดับของยูริคในเลือดจะเริ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และสูงไปนานจนกว่าจะเริ่มมีอาการ คือ อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงระดับยูริคจะเริ่มสูงขึ้น หลังจากวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะเอสโตรเจนจะมีผลทำให้กรดยูริคในเลือดไม่สูง โดยทั่วไป โรคเก๊าท์พบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และจะพบเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ในเพศหญิงส่วนมากก็จะพบ แต่ในวัยหมดประจำเดือน ถ้าหากพบโรคเก๊าท์ในเด็ก ก็ต้องมองหาความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรมบางชนิด ซึ่งพบได้น้อยมาก

โรคที่พบร่วมกับโรคเก๊าท์

ผู้ป่วยโรคต่อไปนี้ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเก๊าท์มากขึ้น
  1. โรคอ้วน คนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคเก๊าท์ได้มากกว่าคนผอม
  2. โรคเบาหวาน คนไข้โรคเก๊าท์โดยทั่วไป ก็พบได้บ่อยว่ามีน้ำหนักตัวมาก และพบโรคเบาหวานได้บ่อย
  3. ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะระดับไขมันไตรกรีเซอไรด์ ซึ่งพบว่า สูงได้ประมาณร้อยละ 80 ของคนไข้โรคเก๊าท์ทั้งหมด
  4. ความดันโลหิตสูง จากการศึกษาวิจัยพบว่า โรคความดันโลหิตสูงร่วมกับโรคเก๊าท์ได้บ่อย
  5. โรคหลอดเลือดแข็งผิดปกติ
  6. ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว
  7. โรคไตวายเรื้อรัง คนไข้ที่เป็นโรคไต ที่มีสมรรถนะของการทำงานของไตลดลงมาก ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ ระดับกรดยูริคสูงขึ้น เนื่องจากความสามารถในการขับถ่ายกรดยูริคออกทางปัสสาวะลดลง คนไข้ที่เป็นโรคเก๊าท์อยู่แล้ว และไตเสื่อมลงไปอีก จะทำให้ระดับกรดยูริคสูงขึ้นอีก คนไข้โรคเก๊าท์จะเสียชีวิตจากภาวะไตวายประมาณ ร้อยละ 10
  8. โรคเลือดชนิด sickle cell anemia, myeloproliferative disease
  9. ผู้ป่วยโรคเลือดบางชนิด โรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือได้รับเคมีบำบัด จะทำให้เซลล์ถูกทำลายมากอย่างรวดเร็ว จะทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูงมาก ๆ ได้ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ ข้ออักเสบ นิ่วไต หรือแม้แต่ตัวกรดยูริคเองไปอุดตันตามท่อเล็ก ๆ ในเนื้อไตทำให้เกิดภาวะไตวายได้
เหล้าและแอลกอฮอล์

การดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเก๊าท์ เนื่องจากไปขัดขวางกระบวนการขับกรดยูริคออกจากร่างกาย อีกทั้งแอลกอฮอล์ช่วยเร่งปฏิกิริยาการสร้างกรดยูริค โดยการเร่งกระบวนการการสลายตัวของสารอะดีโนซีนไตรฟอสเฟตในเซลล์ การดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการดื่มเบียร์ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการข้ออักเสบได้ทันที เพราะเบียร์มีสารกวาโนซีน ซึ่งเปลี่ยนสภาพเป็นกรดยูริคในร่างกายได้มาก ดังนั้น คนที่มีพฤติกรรมในการดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์ หรือเบียร์เป็นประจำ จึงมีโอกาสเป็นโรคเก๊าท์ได้บ่อยกว่า คนที่ไม่มีความประพฤติเช่นนี้ แอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายสร้างกรดยูริคขึ้นมามากกว่าปกติ

ยาบางชนิด

ยาบางชนิดเพิ่มความเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดโรคเก๊าท์ โดยจะทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูง เนื่องจากยาเหล่านี้ ไปลดการขับถ่ายกรดยูริคออกทางไต ทำให้เกิดการคั่งของกรดยูริคในเลือด จนกระทั่งทำให้ระดับของกรดยูริคในเลือดสูง เช่น
  1. แอสไพริน aspirin
  2. ยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide
  3. ยารักษาโรคพาร์กินสัน levodopa
  4. ยารักษาวัณโรค เช่น ไพราซินาไมด์ หรืออีแธมบูทอล
  5. ยากดภูมิคุ้มกัน cyclosporin

ที่มา
นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

No comments:

Post a Comment