Search This Blog

Sunday, October 11, 2009

"ยา" ตีกัน

ใช้ยาหลายชนิด...ชีวิตเสี่ยงภัย?

หากได้รับยาหลายชนิดพร้อมๆ กัน หรือ ยาที่ไปซื้อเองจากร้านขายยา หรือยาจากโรงพยาบาล ยาจะมีฤทธิ์ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ?

ยาเหมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งคุณและโทษ
คนไทยมีทัศนคติ และความเชื่อเกี่ยวกับยาแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่คิดว่า "ยาเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ" ไม่ว่าจะช่วยรักษาโรค บรรเทาอาการเจ็บป่วย ช่วยป้องกันโรค หรือช่วยบำรุงส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สมดังคำพูดที่เราได้รับรู้มาแต่เล็กแต่น้อยว่า "ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต"

เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจึงนึกถึงแต่ยาเป็นด่านแรก และจะพยายามเสาะแสวงหายามารักษา แก้ปัญหาเหล่านั้นให้ทันท่วงที โรคและความเจ็บป่วย ที่เผชิญอยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน ก็จะได้หาย หรือบรรเทาเบาบางลงได้

ความคิดเช่นนี้ เป็นความคิดที่ถูกเพียงครึ่งเดียว เหมือนกับเป็นการมองเหรียญด้านเดียว มองในแง่ดี มองแต่ด้านคุณประโยชน์ ที่จะได้รับจากการใช้ยา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ที่ควรจะได้รับการพิจารณาร่วมด้วย ก่อนการตัดสินใจใช้ยาชนิดใด ชนิดหนึ่ง เพราะอีกด้านหนึ่งของเหรียญเป็น " ผลเสีย ผลข้างเคียง พิษ และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ยา " ตัวอย่างที่พบได้บ่อย ได้แก่ การแพ้ยา ยาตีกัน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า "ยาเหมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งคุณ และโทษ" จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ใช้อย่างพอเพียง ใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้

หลายยา...หลายโรค (มากหมอ มากความ)

มาถึงคำถามต้นเรื่องที่ว่า ใช้ยาหลายชนิด ชีวิตปลอดภัย... จริงหรือ? คงตอบได้ทันทีเลยว่า การใช้ยาหลายชนิดจะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้มากยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาเพียงชนิดเดียว หรือยิ่งใช้ยาให้น้อยที่สุด (เท่าที่จำเป็น) ก็จะปลอดภัยที่สุด เพราะเมื่อใช้ยาชนิดเดียว ยังมีโอกาสเกิดผลเสียขึ้นได้

การใช้ยาหลายชนิดมากขึ้น ก็จะยิ่งเกิดผลเสียเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง "แนวทางจัดการยาหลายชนิด" ที่ผู้ป่วยได้รับมา ไม่ว่าจะเกิดจากการรักษาของแพทย์ คำแนะนำของเภสัชกร หรือพยาบาล หรือการหาซื้อมาใช้เอง ทั้งที่เป็นยาแผนปัจจุบัน ยาไทย สมุนไพร หรืออาหารเสริมก็ตาม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาที่สูงที่สุด และในขณะเดียวกันก็ปลอดภัย ที่สุดด้วย

แนวทางจัดการยาหลายชนิด..อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัด หลักการง่าย ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัด คือ การใช้ยาพอเพียง ซึ่งหมายถึง การใช้ยาอย่างฉลาด ใช้เท่าที่จำเป็น และใช้อย่างถูกต้อง ก็ยังเป็นแนวคิดพื้นฐาน ในการนำมาใช้กับการจัดการกับยาหลายชนิดได้เป็นอย่างดี เพราะหลาย ๆ ครั้ง เราพบว่าผู้ป่วยคนเดียว แต่ไปได้รับยามาจากหลายแหล่ง

ตัวอย่างเช่น

"ยายมาป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง จึงได้รับยาลดความดันโลหิตมาจากหมอคนที่หนึ่ง จำนวน 2 ชนิด แต่ต่อมายายมามีอาการปวดข้อเข่าเสื่อมตามวัย ที่นับวันอายุจะมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ จึงไปขอยาแก้ปวดข้อเข่าเสื่อม มาจากที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน ก็ได้รับยามาอีก 2 ชนิด พอดีช่วงนี้ฝนตกบ่อย อากาศเปลี่ยนแปลง ในบางวันยายมาก็เกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นไข้หวัด จึงไปซื้อยาแก้ไข้หวัดชนิดแผง มาจากร้านขายของชำในหมู่บ้าน เพื่อรักษาโรคไข้หวัด"

ยายมาได้รับยา 5 หรือ 7 ชนิด!!!?

กรณีของยายมา ก็จะได้รับยาทั้งหมด 7 ชนิด ซึ่งผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมจึงเป็น 7 ชนิดได้ ไม่ใช่แค่ 5 ชนิดหรือ? เหตุผลก็คือว่ายาแก้ไข้หวัดชนิดแผงนั้นใน 1 เม็ดจะประกอบไปด้วยตัวยาถึง 3 ชนิดคือ
  1. ยาพาราเซตามอล มีฤทธิ์ลดไข้ แก้ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว
  2. คลอร์เฟนิรามีน มีฤทธิ์ลดน้ำมูกแก้แพ้อากาศ
  3. สูโดเอฟีดรีน มีฤทธิ์แก้คัดจมูก ทำให้โล่งจมูก ดังนั้น ยายมาจึงได้รับยาทั้งสิ้นจำนวน ๗ ชนิด ยาของยายมา ซ้ำซ้อนกัน ทะเลาะกัน (ตีกัน)
บรรดายา ทั้ง 7 ชนิดที่ยายมาได้รับมาต่างกรรมต่างวาระนั้น มองแบบเหรียญด้านเดียว ก็จะเกิดผลดีช่วยรักษาโรคทั้ง 3 ได้ อันได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคปวดข้อเข่าเสื่อม และโรคไข้หวัด แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง ก็พบว่า ยาหลายตัวของยายมาซ้ำซ้อนกัน ทะเลาะกัน หรือตีกัน ยายมาได้รับยาพาราเซตามอลซ้ำซ้อนมากเกินไป

ขยายความได้ว่า ยารักษาโรคปวดข้อเข่าเสื่อม ที่ได้มาจากสถานีอนามัยใกล้บ้านนั้น ประกอบด้วย ยาต้านการอักเสบชนิด ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ NSAIDs และยาพาราเซตามอล ที่ในกรณีนี้ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ

พอรู้อย่างนี้ ก็จะเห็นได้เลยว่า ยาของยายมาที่ได้จากสถานีอนามัยไปซ้ำซ้อนกับยาแก้ไข้หวัดชนิดแผง ซึ่งได้มาจากร้านขายของชำ ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ซึ่งถ้าได้ในขนาดสูง และเป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน ๆ ก็จะเกิดอันตรายต่อตับ ไต และเสียชีวิตได้


ใช้ยาหลายชนิด...ชีวิต...เสี่ยงภัย

อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ ยา NSAIDs ที่ใช้รักษาโรคปวดข้อเข่าเสื่อม ซึ่งได้มาจากสถานีอนามัยนั้น จะส่งผลต้านฤทธิ์ลดความดันโลหิตของยาที่ได้รับจากหมอคน ที่หนึ่ง มิหนำซ้ำ ยาตัวที่ 3 ในยาแก้ไข้หวัดชนิดแผงซึ่ง ได้แก่ ยาสูโดเอฟีดรีน นอกจากทำให้โล่งจมูกแล้ว ยังไปกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น ส่งผลให้ความ ดันโลหิตสูงขึ้น จึงเหมือนเป็นงูกินหาง ไป ๆ มา ๆ

ยาลดความดันโลหิตสูง อาจจะสู้หรือต้านทานผลของยาอีก 2 ชนิดไม่ได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ผลก็คือ ความดันโลหิตของยายมาที่เคยว่านอนสอนง่าย เคยถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่เป็นที่น่าพอใจ ก็จะกลับเพิ่มสูงขึ้น จนอาจเกิดอันตรายต่อยายมาได้ โดยที่ยายมาไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจว่า ผลของยาชนิดอื่น ๆ ทั้งที่ได้จากสถานีอนามัย และซื้อเองที่ร้านขายของชำ จะส่งผลต่อยาลดความดันโลหิตสูง และอาจเป็นอันตรายต่อยายมาถึงแก่ชีวิตได้

การที่ยาชนิดหนึ่งไปส่งผลต่อยาอีกชนิดหนึ่ง เราจะเรียกว่า "ยาตีกัน" ในที่นี้ขอใช้คำว่า ยาทะเลาะกัน เพราะจะได้เห็นภาพชัดเจนว่า ยาที่เราหวังว่าจะช่วยชีวิต แต่กลับทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ จึงควรระมัดระวัง และไม่ประมาท เมื่อต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน

นํายาทั้งหมดมา "ตรวจเช็ก" เพื่อประสิทธิภาพ และความปลอดภัย

ขอย้ำอีกครั้งว่า " ยามีคุณอนันต์และโทษมหันต์ " จะต้องใช้ยาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ยา ดังนั้น กรณีที่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาหลายชนิด จากหลายโรค หลายหมอ หลายแหล่ง อย่าประมาท เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ ซึ่งสามารถแก้ไข และป้องกันได้ ด้วยการนำยาทั้งหมดไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อที่จะช่วย "ตรวจเช็ก" รายการยาต่าง ๆ ว่าเหมาะสมดีแล้วหรือไม่

ขั้นตอนการตรวจเช็กยา...

เมื่อนำยาทั้งหมดไปพบแพทย์ หรือเภสัชกร ซึ่งจะเริ่มต้นตรวจเช็กยาเหล่านี้ว่า "มีความจำเป็นหรือไม่?" โดยพิจารณาความเหมาะสมของยาเหล่านี้ว่า สอดคล้องกับสภาวะสุขภาพของเราหรือไม่ มีความจำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็จะตัดหรือคัดยาเหล่านั้นออกไป เป็นการลดภาระการใช้ยาและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่งด้วย

อีกขั้นตอนหนึ่ง ก็คือ จะช่วยค้นหา "ปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน" ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ ดังตัวอย่างของยายมา ที่ยาแก้อักเสบข้อเข่าเสื่อม และยาแผงแก้ไข้หวัดไปส่งผล เสียต่อยาลดความดันโลหิตสูง ซึ่งแพทย์และเภสัชกรจะได้หาทางป้องกันแก้ไข ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะใช้ยา จะได้ไม่เกิดผลเสียต่อร่างกายของเรา

ขณะตรวจเช็กยาทั้งหมดนั้น ก็ถือว่า เป็นโอกาสอันดีในการซักซ้อมทบทวน วิธีใช้ยาต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามสั่ง หากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ เรื่องยาและสุขภาพก็สามารถซักถาม ขอคำปรึกษาหรือคำอธิบายเพิ่มเติมจากแพทย์และเภสัชกรได้ทันที ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้ ความเข้าใจเรื่องยาต่าง ๆ ของเราให้กระจ่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของการตรวจเช็กยา

การนำยาทั้งหมดไปตรวจเช็กความเหมาะสมนั้น จะช่วยผู้ป่วยให้เกิดผล "3 ป" คือ ประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัด ช่วยเพิ่มความเข้าใจและใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ทำให้ได้ผลดีในการรักษา ช่วยลดผลเสียผลข้างเคียงของยา ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยลง เมื่อจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลก็จะหายได้ไว กลับบ้านได้เร็ว กลุ่มที่ควรนำยาไปรับตรวจเช็ก ได้แก่
  • ผู้ที่ใช้ยาหลายชนิด ซึ่งรวมถึงสมุนไพร ยาไทย ยาหม้อ ยาลูกกลอน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ ด้วย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค
  • ผู้ที่ได้รับยาหลายแหล่ง หรือหลายหมอ หรือหลายแผน (ไทย จีน และตะวันตก)
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยา ผู้ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล และผู้ที่ต้องการประหยัดค่ายา เป็นต้น

ถึงตรงนี้ขอบอกผู้ที่มียาหลายชนิด น่าจะนำยาทั้งหมดไป "ตรวจเช็ก" ความเหมาะสมเสียบ้าง จะได้เกิดประโยชน์ ปลอดภัย และประหยัด

บันทึกและพกรายการยาทั้งหมด

การจดบันทึกรายการยา โรค และการแพ้ยา (ถ้ามี) ของเรา และนำพกติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อใดที่ต้องเข้ารับการรักษา จะได้แสดงข้อมูลด้านสุขภาพ ที่เป็นประโยชน์เหล่านี้กับแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลผู้ให้การรักษาได้รับทราบโดยละเอียด เมื่อจ่ายยาจะได้เลือกยา ที่เป็นประโยชน์ ปลอดภัย และประหยัด ให้กับท่านทั้งหลาย ให้ได้ใช้ยาอย่างเหมาะสม เป็นการส่งเสริมการใช้ยาอย่างพอเพียง ไม่มาก หรือน้อยเกินไป

ที่มา
นิตยสารหมอชาวบ้าน

No comments:

Post a Comment