Search This Blog

Thursday, November 19, 2009

ปลุก "นกเขา" ให้มาขัน

การไม่ยอมแข็งตัวของอวัยวะเพศ หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอ ซึ่งเป็นปัญหา ที่พบมากถึง 30 % ในหนุ่มไทย ชายที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัว โดยมีถึงสองในสาม ที่มีปัญหาในระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรง มีผู้กำลังเผชิญกับโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มากกว่า 3 ล้านคน

การที่อวัยวะเพศชายจะแข็งตัวขึ้นได้นั้น ต้องมีหลายระบบทำงานร่วมประสานกัน เริ่มจากการมีสิ่งเร้ามากระตุ้น ให้เกิดความรู้สึกทางเพศก่อน แล้วสมองก็จะส่งสัญญานไปยังอวัยวะเพศ ผ่านทางระบบประสาท ทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อควบคุมการไหลเวียนของเลือดเข้าอวัยวะเพศชาย ในขณะเดียวกัน หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศ จะขยายตัวขึ้นเป็นสองเท่า ทำให้เลือดไหลมาคั่งอยู่ภายในอวัยวะเพศ และเลือดก็ถูกกักไว้ โดยเนื้อเยื่อรอบ ๆ เป็นผลทำให้มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ถ้าหากมีอะไรก็ตาม ที่มาขัดขวางขบวนการเหล่านี้ ก็จะส่งผลให้เกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศทั้งสิ้น เช่น โรคของร่างกาย โรคของจิตใจ หรือแม้แต่ผลจากยาบางชนิด หมอจึงต้องถามประวัติทางการแพทย์อย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ คำถามจะเจาะลึกมาก อาจจะต้องพาภรรยามาด้วย เพื่อช่วยตอบให้ได้รายละเอียดมาก และแม่นยำที่สุด

หลังจากการซักถามประวัติ หมอจะตรวจร่างกาย โดยจะมีการตรวจอวัยวะเพศ และตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก มีการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ และอุจจาระ หรืออาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอย่างอื่น เพื่อค้นหาสาเหตุเป็นพิเศษเฉพาะรายไป

ผลจากการสำรวจ พบว่าชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่มีปัญหา (ED) การไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศ เนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บ ได้แก่ โรคเบาหวาน (Diabetes) มีโอกาสเกิด (ED) 70-75% โรคเบาหวานร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) มีโอกาสเกิด (ED) 80-85% โรคเบาหวานร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ (Cardiovascular disease) มีโอกาสเกิด (ED) 95-100%

ถ้าหากตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคทางกาย หมอจะรักษาโรคที่นั้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ที่คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี การดื่มเหล้ามากเกินไป การกินยาลดความดันบางชนิด ซึ่งเมื่อหมอได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว ปัญหาเรื่องการแข็งตัวก็น่าจะหมดไป

แต่ถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จ ในการรักษา ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป แล้วแต่การดำเนินการขั้นต่อไป จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ว่าวิธีใดเหมาะสม จะใช้ยาหรือวิธีการบำบัดต่างๆ การใช้ยา อาจจะจำเป็นในบางราย และไม่ควรจะวินิจฉัยด้วยตัวเอง และอย่าซื้อยามาใช้เอง

การใช้ฮอร์โมน

มีการใช้ฮอร์โมนเพศมาเสริมในผู้ที่พบว่า ปัญหานี้เกิดจากระดับฮอร์โมนเพศชายที่ต่ำเกินไป หรืออาจใช้อุปกรณ์สูญญากาศ เป็นท่อพลาสติก สำหรับใช้สวมอวัยวะเพศที่อ่อนตัว แล้วค่อย ๆ ดูดลมออก ทำให้ภายในท่อ เป็นสูญญากาศ ส่งผลให้มีเลือดไหลมายังอวัยวะเพศมากขึ้น จนอวัยวะเพศแข็งตัว เมื่อแข็งได้ที่แล้ว ก็ใช้ห่วงยางรัดไว้ที่โคนของอวัยวะเพศ ไม่ให้เลือดไหลออก แล้วถอดท่อพลาสติกออก ก็เป็นอันพร้อมใช้การได้ทันที

อวัยวะเพศแบบฝัง

ถ้าวิธีข้างต้นไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ การฝังอวัยวะเพศเทียม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งแก้ปัญหาได้ แต่สำหรับรายละเอียดเจาะลึก คงต้องไปคุยกับศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ศัลยกรรมหลอดเลือด การผ่าตัดแก้ไขปัญหาของหลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงอวัยวะเพศ อย่างน้อยก็จะได้ผ่อนคลายความกังวล หรืออาจเป็นการแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกอะไรบางอย่าง ซึ่งจะช่วยให้ร่วมรักได้นาน ขึ้นปัญหาสุขภาพทั่วไป

โรคทุกชนิด ไม่ว่าเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง จะทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงไข้หวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงการป่วยหนัก ๆ เช่น เป็นโรคหัวใจ หรือมะเร็ง แต่ในทางกลับกัน ถ้าร่างกายแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการออกกำลัง และกินอาหารอย่างเหมาะสม ตลอดจนกินยาอย่างถูกต้องตามเวลา (ในกรณีที่มีโรคประจำตัว) ก็ย่อมจะมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น ฤทธิ์ของยาไม่ว่าจะเป็นยาลดความดัน ยาคลายเครียด ยารักษาภาวะซึมเศร้า ล้วนแต่ลดความต้องการ ความเครียด ไม่ว่าจะมาจากเรื่องใด เรื่องแฟน เรื่องงาน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องเศรษฐกิจ ก็ล้วนแต่ ลดความต้องการทางเพศลงได้ทั้งสิ้น และเมื่อสามารถแก้ปัญหาที่มากวนใจเหล่านี้ได้ ความต้องการทางเพศก็จะกลับมาดีเหมือนเดิม


ที่มา
นพ. ไพโรจน์ อภัยบัณฑิตกุล
ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลปิยะเวท

No comments:

Post a Comment