Search This Blog

Wednesday, November 4, 2009

ยาสามัญประจำบ้าน

ในชีวิตประจำวันเมื่อเรา เจ็บไข้ได้ป่วยเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถหายาทานเอง หรือกรณีที่ยังไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ เราจำเป็นต้องพึ่งยา ที่มีติดบ้านไว้ประจำ เพื่อรักษา หรือบรรเทาอาการก่อนไปพบแพทย์ ยาพื้นฐานที่ทุกครอบครัวมักมีไว้ติดบ้านประจำ เผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น พาราเซตามอล คลอร์เฟนิรามีน ยาแก้ไอน้ำดำ เป็นต้น ท่านทราบ ข้อบ่งใช้ วิธีใช้ และข้อควรระวังของยาเหล่านี้หรือไม่ และยาเหล่านี้บางตัว แม้ว่าจะมีประโยชน์อย่างมาก และมีความปลอดภัยสูง แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้เช่นกัน

" พาราเซตามอล " เป็นยาลดไข้แก้ปวด ที่ใช้แพร่หลายกันมากที่สุด ใช้ลดไข้ และแก้ปวด เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน เป็นต้น ยาตัวนี้ถือว่ามีความปลอดภัย ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารเหมือนแอสไพริน ยาชนิดนี้มีขายอยู่ในท้องตลาด ทั้งชนิดเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ และชนิดน้ำเชื่อมสำหรับเด็ก ในผู้ใหญ่แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม 1 – 2 เม็ด ทุก ๆ 4 – 6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรกินยาเกิน 8 เม็ดต่อวัน สำหรับเด็ก เนื่องจากยาที่มีจำหน่ายมีหลายขนาดตามอายุ จึงควรใช้ยาตามขนาดที่แจ้งอยู่ในฉลากยา แต่ทั้งนี้ขนาดที่แนะนำใช้ในเด็กจะเป็น 10 – 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่แน่ใจในขนาดยาที่ใช้ หรือเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา และหากใช้ยานี้แล้ว อาการไม่ดีขึ้น หรือไข้ไม่ลดก็ควรพบแพทย์

ข้อควรระวัง
ถ้าใช้ยาเกินขนาดมาก ๆ เช่น 20 เม็ด ก็จะเป็นพิษต่อตับ หรือตับวาย ถึงตายได้เช่นกัน

" คลอเฟนิรามีน " เป็นยาที่จัดได้ว่าสารพัดประโยชน์ และราคาค่อนข้างถูก ใช้ลดน้ำมูกใส ๆ และบรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ หรืออาการคัน มีจำหน่ายทั้งชนิดเม็ด และชนิดน้ำ รับประทานตามขนาดที่ระบุไว้ โดยปกติครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 – 3 ครั้ง

ข้อควรระวัง
ยานี้มักทำให้ง่วงนอน มึนงง ถ้าหากต้องขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง อาจมีอาการปากคอแห้ง ใจสั่น อาจทำให้เสมหะเหนียว ขับออกยาก จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วย ที่มีอาการไอมีเสมหะร่วมด้วย

" ยาแก้ไอน้ำดำ " เป็นยาอีกตัวหนึ่งที่นิยมกันมาก และมีราคาถูก ใช้รักษาอาการไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ การรับประทานยานี้ที่ถูกต้อง ควรรับประทานตามเวลาที่กำหนด คือวันละ 3 – 4 ครั้ง แต่พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักนิยมจิบบ่อย ๆ เวลาไอ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ เนื่องจากได้รับทิงเจอร์ ฝิ่นมากเกินไป อาจทำให้ง่วง มึนงง คลื่นไส้ ท้องผูก ยานี้ยังห้ามใช้ในเด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ และในคนที่ไอมีเสมหะเหนียว หรือไอจากความผิดปกติอื่น ๆ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ จะทำเสมหะเหนียว อุดตันทางเดินหายใจเป็นอันตรายได้

วิธีระงับอาการไอที่ดีที่สุด คือ
  • การจิบ ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ
  • การใช้ยาอม เช่น ยาอมมะแว้ง สามารถช่วยลดอาการไอได้ ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้ขับลม แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง เนื่องจากมีลมในกระเพาะอาหาร เป็นยาที่มีความปลอดภัย มีทั้งชนิดน้ำ เช่น ยาธาตุน้ำแดง และชนิดเม็ด เช่น ยาเม็ดโซดามินต์ นอกจากนี้ น้ำขิง (ขิงแก่ต้มน้ำตาล) ก็สามารถแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้

เมื่อรู้ถึงสรรพคุณ และข้อควรระวังในการใช้ยาเหล่านี้กันแล้ว ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังการใช้ให้มากขึ้น ใช้ยาให้ถูกโรค ถูกเวลา และถูกขนาด แต่ถ้าหากใช้ยาถูกต้องตามนี้แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือ เภสัชกรโดยเร็ว

No comments:

Post a Comment