โรคนี้พบได้บ่อยทั้งเพศหญิง และเพศชาย อาการในระยะแรกจะไม่รุนแรง และมักเป็น ๆ หาย ๆ สามารถหายได้เองในระยะแรก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะอาย และไม่กล้าไปพบแพทย์ หากทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่รักษา อาจทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มักใช้เวลานานหลายปีก่อนจะมีอาการรุนแรงจนต้องรักษาโดยการผ่าตัด
โรคริดสีดวงทวาร แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- ริดสีดวงทวารภายใน ริดสีดวงทวารชนิดนี้จะไม่ค่อยเจ็บปวด เนื่องจากบริเวณที่เป็นจะคลุมด้วยเยื่อบุของทวารหนัก ไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกปวด
- ริดสีดวงทวารภายนอก จะเป็นก้อนอยู่ข้างนอก มีผิวหนังคลุมอยู่ มักมีอาการคัน และเจ็บมากกว่า ริดสีดวงภายใน เนื่องจากผิวหนังรอบทวารหนักมีเส้นประสาทรับความรู้สึกปวด
ระดับความรุนแรงของโรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวารยังสามารถแบ่งความรุนแรงของอาการ และการโผล่ออกมาของริดสีดวงทวารได้ดังนี้
- ระยะที่ 1 มีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนัก เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระจะมีเลือดไหลออกมาด้วย หากท้องผูก เลือดจะยิ่งไหลออกมามากขึ้น เพราะมีการเสียดสีกับหลอดเลือด ที่โป่งพองมากขึ้น
- ระยะที่ 2 เมื่อถ่ายอุจจาระ ก้อนริดสีดวงจะโผล่ยื่นออกมา แต่สามารถหดกลับเข้าไปข้างในเองได้ เมื่อถ่ายอุจจาระเสร็จ
- ระยะที่ 3 ก้อนริดสีดวงจะโผล่ออกมาขณะถ่ายอุจจาระ และไม่สามารถหดกลับเข้าไปข้างในเองได้ ต้องใช้นิ้วช่วยดัน
- ระยะที่ 4 ก้อนริดสีดวงโผล่ออกมาตลอดเวลา และไม่สามารถใช้มือดันกลับเข้าไปได้อีก
สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารมากกว่าสาเหตุอื่น ๆ ก็คือ ท้องผูกเรื้อรัง เนื่องมาจากพฤติกรรมที่ไม่ดีหลาย ๆ ประการ เช่น ไม่ค่อยได้รับประทานผักผลไม้ ดื่มน้ำน้อย ขับถ่ายไม่เป็นเวลา นั่งทำงานตลอดทั้งวัน ประกอบกับความเครียดในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกมากขึ้น
นอกจากท้องผูกเรื้อรังแล้ว ริดสีดวงทวารยังสามารถเกิดขึ้นได้จากภาวะท้องเสียเรื้อรัง การตั้งครรภ์ ซึ่งจะหายไปได้เองหลังการคลอดบุตร หรืออาจเกิดจากพันธุกรรม ความชรา การยกของหนัก หรือการยืนนาน ๆ
การรักษาโรคริดสีดวงทวาร
การรักษามีหลายวิธี โดยพิจารณาจากชนิด และความรุนแรงของโรคเป็นหลัก ในระยะต้น ๆ จะใช้การรักษาด้วยยา เช่น ยาที่ทำให้อุจจาระนุ่ม หรือยาสเตียรอยด์เหน็บทวาร เพื่อลดการอักเสบ ควรใช้ยา เมื่อมีอาการเท่านั้น และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนาน ๆ
หากใช้ยาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น อาจใช้ยางชนิดพิเศษรัดริดสีดวงทวาร ซึ่งได้ผลดี ไม่เจ็บ และสามารถทำได้บ่อย ๆ บางแห่ง อาจรักษาด้วยการจี้ริดสีดวงทวาร เช่น การจี้ด้วยอินฟราเรด แต่ไม่จำเป็นนัก
โดยทั่วไป หากอาการไม่รุนแรงจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นผ่าตัด ยกเว้นบางรายที่เป็นทั้งริดสีดวงภายนอก และภายในพร้อมกัน ซึ่งไม่สามารถใช้ยางรัดได้ เพราะจะเจ็บมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เส้นเลือดอุดตัน ปวดมาก หรือหัวริดสีดวงเน่าจากการขาดเลือด จึงจะรักษาด้วยการผ่าตัด
ปัจจุบันมีวิทยาการใหม่ ๆ ที่ใช้ในการผ่าตัด ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลง ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยลง ไม่มีผลข้างเคียงหลังการผ่าตัด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิม แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นด้วย
วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวาร
- ระวังอย่าให้ท้องผูก ด้วยการรับประทานอาหาร ที่มีเส้นใยมาก ๆ เช่น ผัก ผลไม้
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย วันละ 6-8 แก้ว เพื่อทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น สะดวกต่อการขับถ่าย และลดการเสียดสี กับเส้นเลือด ที่โป่งพองบริเวณทวารหนัก
- ฝึกอุปนิสัยถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น
แม้ว่า โรคริดสีดวงทวารจะไม่มีอันตรายมากนัก ส่วนใหญ่จะมีเลือดออกไม่มาก แต่ก็มีบางราย ที่มีเลือดออกจนช็อก แต่ที่ควรระวังมากกว่านั้น ก็คือ การถ่ายเป็นเลือดอาจจะไม่ใช่โรคริดสีดวงทวารก็ได้
การถ่ายเป็นเลือดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคแผลที่ทวารหนัก เนื้องอก หรือมะเร็ง ดังนั้น หากมีอาการถ่ายเป็นเลือด ไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด
No comments:
Post a Comment