Search This Blog

Friday, November 13, 2009

โรคเครียด

" โรคเครียด " มีสาเหตุจากจิตใจมีความเครียด ซึ่งเป็นภาวะของอารมณ์ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อคนอยู่ในสถานการณ์ที่น่าหวาดหวั่น น่ากลัว หรือมีภยันตรายต่อร่างกาย หรือจิตใจ อารมณ์เครียดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
  1. เกิดจากสภาพพื้นฐานทางจิตใจของคนแต่ละคน ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดความเครียดได้มากน้อยไม่เหมือนกัน เด็กบางคนเกิดมาพร้อมกับระบบประสาทที่อ่อนไหว ตื่นตัว และเครียดกังวลได้ง่าย บางคนจิตใจหนักแน่น ไม่ค่อยหวั่นไหว แม้มีเหตุการณ์ที่น่ากลัว ก็ไม่เกิดปฏิกิริยามาก
  2. การถูกเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น ถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กเกิดความกลัว หวาดหวั่น เกิดความไม่มั่นคงในอารมณ์ ก็จะฝังใจ ทำให้เกิดความเครียดเมื่อโตขึ้นได้ง่าย
  3. การคิดที่ไม่ดี คิดในแง่ร้าย คิดกังวลล่วงหน้ามากเกินไป ถ้าถูกฝึกให้คิดเช่นนี้มากเกินไป จะติดเป็นนิสัย ทำให้เกิดอารมณ์เครียดได้ง่าย
  4. การดำเนินชีวิตที่แข่งขัน เร่งรีบ ต่อสู้กันมากเกินไป ขาดการพักผ่อน ทำให้ร่างกาย และจิตใจเกิดความเครียด
สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดโรคเครียดได้ทั้งสิ้น

อาการ


โรคเครียดไม่ใช่โรคจิต หรือโรคประสาท แต่เป็นโรคทางกาย ซึ่งเป็นผลจากความเครียด ความเครียดเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น การทำงาน การเรียน เหตุการณ์ในครอบครัว หรือลักษณะการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ แข่งขัน ต่อสู้ ทำให้เกิดความเครียดได้ทั้งสิ้น

คนปกติมีกลไกการปรับตัว เพื่อเอาชนะความเครียดได้ แต่คนบางคนมีความไวต่อความเครียดสูง คนบางคนชอบดำเนินชีวิตซึ่งทำให้เกิดความเครียด หรือคนบางคนมีวิธีคิดไม่ดี ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย

เมื่อจิตใจเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมาก จนอาจทำงานเรรวน ทำให้อวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งถูกควบคุมโดยประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติไปด้วย เช่น มีการหลั่งกรดออกมาในกระเพาะอาหารมากเกินไป ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร กลายเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นผลจากความเครียด

ความเครียดยังอาจทำให้เกิดโรคทางกายได้อีกหลายระบบ เช่น โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหอบหืด, โรคผิวหนัง, โรคปวดศีรษะไมเกรน, โรคปวดหลัง ปวดคอ

การรักษา

โรคเครียดเป็นโรคที่รักษาได้ โดยการหาสาเหตุ และแก้ไขตามสาเหตุนั้น วิธีการมีดังนี้
  1. การรู้จักแบ่งเวลาให้พอเหมาะ มีเวลาทำงานประมาณ 8 ชั่วโมง เวลาผ่อนคลายสนุกสนาน หย่อนใจประมาณ 8 ชั่วโมง
  2. รู้จักจังหวะการดำเนินชีวิต ให้เคร่งเครียดจริงจังน้อยลง ลดภาระการงาน-การเรียน ที่ทำ ให้เครียดลงบ้าง
  3. มีเวลาทำจิตใจให้สงบบ้าง เช่น สวดมนต์ หรือ ทำสมาธิ
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน
  5. มีคนที่สามารถพูดคุย รับฟังปัญหาต่าง ๆ ได้ ปรับทุกข์ หรือปรึกษาปัญหาที่หนักใจอยู่
  6. ใช้ยาช่วยตามอาการ เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งให้
  7. การรักษาแบบจิตบำบัด เพื่อช่วยให้รู้จักตัวเอง หาวิธีเปลี่ยนแปลงตนเองบ้าง เพื่อให้รู้จักคิดได้ดี ผ่อนคลายตนเองได้ ปรับตัวให้เก่งขึ้น และมีความสนุกกับการดำเนินชีวิตต่อไปได้

No comments:

Post a Comment