Search This Blog

Monday, November 16, 2009

ความเสื่อมทาง " สายตา " ที่แฝงมากับ " โรคเบาหวาน "

ความเสื่อมทาง " สายตา " ที่แฝงมากับ " เบาหวาน "

ความเสื่อมทางสายตา เป็นภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อยมากประการหนึ่ง ในผู้ป่วยเบาหวาน ประมาณ 2% ของผู้ป่วยเบาหวาน ที่เป็นมานาน 15 ปี มีโอกาสตาบอดได้ และอีกประมาณ 10% มีความเสื่อมสภาพทางสายตาอย่างรุนแรง ผู้ที่เกิดตาบอดขึ้นมาทีหลัง มีสาเหตุจากเบาหวานประมาณ 12% อุบัติการณ์การเกิดโรคเพิ่มสูงสุด ในผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป และพบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง 40%

ปัญหาทางตาที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานที่พบได้คือ
  • ต้อกระจก (cataracts)
  • ต้อหิน (glaucoma)
  • แมคูลาร์บวม (macular edema) – แมคูลาร์ เป็นรอย หรือจุดหนึ่งบนจอรับภาพ หรือเรตินา ซึ่งถือเป็นจุดรับภาพที่ชัดที่สุด
  • พยาธิสภาพที่เรตินา (retinopathy)

การเปลี่ยนแปลงที่เรตินา และแมคูลาร์เกิดขึ้น เฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนต้อกระจก และต้อหินเกิดขึ้นได้ ทั้งผู้ที่เป็นเบาหวาน และไม่เป็นเบาหวาน เพียงแต่ผู้ป่วยเบาหวานเกิดขึ้นได้บ่อยกว่า

การเปลี่ยนแปลงที่พบบ่อยที่สุด คือ การเกิดพยาธิสภาพ ที่เรตินาจากเบาหวาน (diabetic retinopathy) ความชุก (prevalence) ของการเกิดพยาธิสภาพที่เรตินา ในผู้ป่วยเบาหวาน ที่เป็นมามากกว่า 15 ปี พบมากกว่าผู้ที่เป็นมาน้อยกว่า 5 ปีถึง 3 เท่า ความเสี่ยงของการเกิดพยาธิสภาพ ที่เรตินาสูงขึ้น เมื่อฮีโมโกลบินเอวันซี และความดันโลหิต ขณะหัวใจบีบตัว (ความดันโลหิตซิสโตลิค หรือค่าความดันโลหิตตัวบน) สูงขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้น ให้เกิดพยาธิสภาพที่ตาได้เร็วขึ้น คือ
  • น้ำตาลในเลือดสูง นั่นหมายความว่า รักษาเบาหวานไม่ดี หรือไม่ทราบมาก่อนว่า เป็นเบาหวาน และสัมพันธ์กับค่าฮีโมโกลบินเอวันซี
  • ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตาได้เร็วขึ้น
  • ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ยิ่งเป็นมานาน ยิ่งมีโอกาสเกิดพยาธิสภาพ ที่เรตินามากขึ้น พยาธิสภาพ ที่เรตินาเป็นสาเหตุอาการทางสายตามากขึ้น ในผู้ที่เป็นเบาหวาน เมื่ออายุน้อย เมื่อเทียบกับผู้ที่เป็นเบาหวาน เมื่อมีอายุมาก ในขณะที่ต้อหิน ต้อกระจก และการเสื่อมที่แมคูลาร์ เป็นสาเหตุความเสื่อมทางสายตามากกว่าครึ่งของผู้ที่เป็นเบาหวาน เมื่ออายุมาก
  • การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ
  • การตั้งครรภ์ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตาเร็วขึ้นได้
  • ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยกระตุ้นอีกตัวหนึ่ง
  • เชื้อชาติ พบในคนผิวดำมากกว่าคนผิวขาว

ผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพที่เรตินา ส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไร จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงได้ดำเนินไปมากแล้ว จึงมีความบกพร่องทางสายตาเกิดขึ้นได้ แม้ในผู้ที่เป็นมากแล้ว การดำเนินโรค โดยไม่ทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงทางสายตาเป็นเวลานานก็อาจพบได้ อาการไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงของตาได้เร็ว การตรวจเช็คสายตาเป็นระยะ ๆ ในผู้ที่เป็นเบาหวาน จึงเป็นสิ่งจำเป็น

การป้องกันตาจากความเสี่ยง

ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน คงไม่ต้องการให้ตนเองตาบอด แต่เป็นที่น่าเสียใจ ที่มีผู้ป่วยเบาหวานตาบอดทุก ๆ ปี ความรู้ความเข้าใจในโรคที่ตนเองเป็น และการปฏิบัติตนให้ถูกต้องสามารถปกป้องตาจากความเสี่ยงได้
  1. การรักษาเบาหวาน ให้ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ หรือใกล้เคียงปกติที่สุด รวมทั้งค่าฮีโมโกลบินเอวันซี ให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายที่ต้องการ
  2. วัดความดันโลหิตทุกครั้งที่พบแพทย์ ถ้ามีความดันโลหิตสูง ต้องรักษาความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามเป้าหมาย
  3. ตรวจไขมันในเลือดเป็นระยะ ๆ และรับการรักษา ถ้าไขมันในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ที่ต้องการ
  4. ผู้ป่วยเบาหวาน ควรตรวจตาทุกปี ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงที่ตาแล้ว ต้องตรวจถี่ขึ้นตามการนัดของแพทย์
  5. ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน ควรตรวจเช็คเบาหวานเป็นระยะ ๆ เพื่อรักษาให้เร็วที่สุดตั้งแต่เริ่มแรก แม้กระทั่งในผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ควรตรวจเช็คด้วย ความตื่นตัวต่อการคัดกรองโรคเบาหวาน (screening) เป็นการป้องกันทางตาดีกว่าการที่ปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตา แล้วจึงวินิจฉัยเบาหวานได้
  6. ควรมีการวางแผนครอบครัวที่ดี ผู้หญิงที่เป็นเบาหวาน ถ้าต้องการมีบุตรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจตา และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ต้องตรวจเช็คร่างกาย และควบคุมเบาหวานให้ดีที่สุดก่อนตั้งครรภ์

ถ้าเกิดพยาธิสภาพที่เรตินาแล้ว การรักษาที่ดีที่สุด คือ การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อทำลายเส้นเลือดที่เกิดขึ้นใหม่ การรักษาจึงเป็นการยับยั้ง ไม่ให้มีการดำเนินโรคเลวร้ายมากขึ้น การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ สามารถลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียสายตา จากโรคเบาหวานได้ ถึง 60% ในกรณีที่พยาธิสภาพที่เรตินาเป็นอย่างรุนแรง ที่เราเรียกว่า proliferative retinopathy เมื่อรักษาด้วยการยิงเลเซอร์จนดีแล้ว สามารถคงสภาพสายตาต่อไปได้ถึงมากกว่า 90% ของผู้ป่วยทั้งหมด การบวมของแมคูลาร์ก็สามารถรักษาได้ด้วยแสงเลเซอร์เช่นกัน การรักษาโดยการผ่าตัด จะทำส่วนใหญ่ในกรณีที่เป็นต้อกระจก โดยผ่าตัดเปลี่ยน เลนส์ที่ขุ่นออกไป และนำเลนส์เทียมใส่เข้าไปแทน พยาธิสภาพที่เรตินาบางราย ที่เป็นมาก ๆ อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด

เราจึงควรป้องกันตาจากความเสี่ยง ดีกว่าปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วรักษาไม่ได้ จงอย่าลืมว่า เบาหวานทำให้ตาบอดได้ และอย่าประมาท ชะล่าใจ โลกนี้ยังมีความสวยสดงดงามอีกมากสำหรับทุกคนรวมทั้งผู้ป่วยเบาหวาน


ที่มา
ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลเวชธานี

No comments:

Post a Comment