Search This Blog

Wednesday, November 4, 2009

สารปรอท..พิษร้ายใกล้ตัวคุณ

สารปรอท เป็น 1 ใน 4 สารพิษอันตราย ที่อาจพบได้ภายในที่อยู่อาศัยของเรา ได้แก่ ก๊าซคาร์บอร์นมอนอกไซค์ ควันบุหรี่ เชื้อรา สารปรอท โดยแหล่งของสารปรอทในบ้าน มักมาจากการปนเปื้อนในอาหาร โดยเฉพาะในปลาทะเลตัวใหญ่ เช่น ฉลาม ปลาทูน่า เนื่องจากปลาใหญ่เหล่านี้ จะมีช่วงชีวิตที่ยืนยาว และกินปลาเล็ก ๆ เป็นอาหาร จึงมีโอกาสที่จะมีสารปรอทสะสมอยู่ในตัวมันค่อนข้างมาก (เรียกขบวนการนี้ว่า biomagnification) สารปรอทในทะเล มาจากการปนเปื้อนสารปรอทจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน นอกเหนือจากในปลาทะเลแล้ว ในบ้านของเรายังมีแหล่งของสารปรอทที่ทุกบ้านมี คือ เทอร์โมมิเตอร์ ที่ใช้วัดอุณหภูมิของร่างกาย หรือในเครื่องวัดความดันชนิดปรอท

ปัญหาเรื่องพิษจากสารปรอท ไม่ใช่เรื่องใหม่ เหตุการณ์ครั้งรุนแรงเนื่องจากพิษของสารปรอท เกิดในประเทศญี่ปุ่น บริเวณอ่าวมินามาตะ อันเป็นต้นตอของชื่อโรค ที่เกิดจากสารปรอทเป็นพิษที่ชื่อ Minamata disease อาการพิษจากการรับสารปรอทมากเกินไป สามารถแบ่งออกได้เป็นแบบ เฉียบพลัน กับแบบเรื้อรัง

อาการพิษ แบบเฉียบพลัีน อาจมีอาการดังนี้ คือ
  • กระหายน้ำ
  • การรับรสเปลี่ยนไป
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • น้ำลายออกมากกว่าปกติ
  • แผลในปาก
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • บวมภายในลำคอ และทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • อาเจียน
  • ถ่ายเหลวมีเลือดปน
  • นอนไม่หลับ กระวนกระวาย

อาการพิษ แบบเรื้อรัง คือ ค่อย ๆได้รับสารปรอท และสะสมในร่างกาย มีอาการดังนี้
  • ปากเป็นแผล อักเสบเรื้อรัง
  • มีเส้นสีน้ำเงินที่ขอบเหงือก
  • เหงือกบวมและเลือดออกง่าย
  • ฟันโยก
  • มือสั่น
  • น้ำลายออกมาก การรับรสเปลี่ยนไป

อาการพิษจากสารปรอท

อาการทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรง ในหญิงตั้งครรภ์ และในเด็กเล็ก ที่บริโภคอาหารปนเปื้อนสารปรอทเข้าไป โดยพบว่า สารปรอท จะไปทำลายระบบประสาทของเด็ก ทำให้กลายเป็นเด็กปัญญาอ่อน ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง เกิดอาการชัก ตาบอด หูหนวก ได้ ซึ่งพยาธิสภาพเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นแบบถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีได้เหมือนเดิม

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ป้องกันการได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาทะเลตัวใหญ่ ๆ ปริมาณมาก ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ และในเด็ก แต่ทั้งนี้ มิได้จะแนะนำให้งดอาหารทะเล หรือปลาไปเลย เนื่องจาก ในปลายังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์กับร่างกายมาก เพียงแต่ไม่บริโภคมากจนเกินไปเท่านั้น นอกจากนี้ อาจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องมือวัดไข้จากปรอท เป็นแบบอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์วัดไข้ระบบดิจิตอล หรือเครื่องวัดอุณหภูมิของร่างกายทางช่องหู ซึ่งเริ่มมีจำหน่ายในประเทศไทย บ้างแล้ว

ในสหรัฐอเมริกา ได้มีการรณรงค์เพื่อการไม่ใช้ปรอทในการวัดไข้ ในหลายเมืองมีการออกกฎหมาย ห้ามการจำหน่ายอุปกรณ์ที่มีสารปรอท เนื่องจากพบว่า ในปรอทที่ใช้วัดไข้ 1 อัน จะมีสารปรอทอยู่ประมาณ 1 กรัม ซึ่งปริมาณสารปรอท 1 กรัมนี้ ถ้าปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ ที่มีขนาดประมาณ 20 เอเคอร์ จะทำให้ปลาที่อาศัยอยู่ในนั้น มีสารปรอทมากกว่าปกติอยู่นานถึง 1 ปี

ถ้าปรอทที่ใช้วัดไข้แตก ปรอทที่ไหลออกมา สามารถระเหิดเป็นไอ และทำให้เกิดอันตรายกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม แน่นหรือแสบหน้าอก และปอดอักเสบได้ มีข้อปฏิบัติที่ควรทำ ดังนี้
  • ให้รีบออกจากห้องนั้นโดยเร็วที่สุด
  • เปิดหน้าต่าง ให้บริเวณนั้นถ่ายเทได้สะดวกอย่างน้อย 2 วัน
  • ห้ามใช้ไม้กวาด กวาดสารปรอทที่ไหลออกมา เนื่องจากจะทำให้ปรอดแตกออกเป็นเม็ดเล็ก และติดอยู่กับไม้กวาด อันนำไปสู่การกระจายไปที่อื่น ๆ ทั่วบ้านของท่าน
  • ห้ามใช้เครื่องดูดฝุ่น ดูดสารปรอท เนื่องจากจะมีสารปรอทตกค้างในเครื่องดูดฝุ่น และความร้อนที่เกิดขึ้น จะทำให้ปรอทระเหิดเข้าสู่ทางเดินหายใจ
  • วิธีกำจัดที่ดี คือ สวมผ้าปิดปากปิดจมูก และใช้กระดาษแข็งกวาดสารปรอทมารวมกัน และตักใส่ภาชนะ หรือกระป๋อง ที่มีฝาปิดมิดชิด และนำไปทิ้งในขยะที่เป็นถังขยะอันตราย
  • หาก ปรอทแตก และมีสารปรอทเข้าไปทางปาก ให้รีบบ้วนออก รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล อาจจำเป็นต้องล้างท้อง หรือรับประทานยา ที่ทำให้เกิดอาเจียน และอาจให้ยา เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการขับสารปรอทออกทางปัสสาวะ

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสารปรอท สารพิษใกล้ตัวคุณที่จำเป็นต้องระวัง การบริโภคอาหารทะเลแต่พอเหมาะ การหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือที่มีปรอท หรือใช้ด้วยความระมัดระวัง จะทำให้ท่านปลอดภัยจากการเกิดพิษจากสารปรอทได้

No comments:

Post a Comment