อาการปวดศีรษะ นอกจากจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคภัยไข้เจ็บ ที่เป็นกันบ่อย ๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่แล้ว ปวดศีรษะยังจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความวิตกกังวล มีความเครียด หรือผู้ที่ต้องทำงานหนักแข่งกับเวลา และวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบในปัจจุบัน นอกจากนี้ปวดศีรษะยังมักจะเป็นอาการอย่างหนึ่งเสมอ ๆ ของโรคทางกายต่าง ๆ เพราะผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคทางกายต่าง ๆ ก็มักจะมีความวิตกกังวลและมีความเครียด ความกลัวว่าโรคที่เป็นอยู่จะทำให้เกิดความรุนแรงต่อตนเอง ซึ่งจะนำมาสู่ความปวดศีรษะด้วยเสมอ ๆ อาการปวดศีรษะอาจมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้ผู้ที่มีอาการปวดเดือดร้อนแต่ประการใด จนถึงมีอาการปวดมากที่สุดจนทุรนทุราย แต่ในบางครั้ง อาการปวดศีรษะไม่ว่าจะมีอาการปวดรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ตาม อาจเป็นสาเหตุที่รุนแรงและมีอันตรายได้
สาเหตุ
อาการปวดศีรษะอาจเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือด เกิดจากการอักเสบ หรือเกิดจากการดึงรั้งของเส้นเลือดในสมอง หรือเยื่อหุ้มสมอง รวมทั้งความผิดปกติของอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ สมอง เช่น โพรงจมูก ฟัน หรือกระบอกตา ล้วนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดศีรษะมีหลายอย่าง สาเหตุจากความผิดปกติในสมองได้แก่ การอักเสบของสมองและเยื่อหุ้มสมอง ฝีในสมอง เนื้องอกในสมอง และการมีเลือดคั่งในสมอง ส่วนสาเหตุที่เกิดจากความผิดปกตินอกสมอง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โพรงจมูกอักเสบ ปวดศีรษะไมเกรน และความผิดปกติของสายตา เป็นต้น
อาการปวดศีรษะในผู้สูงอายุ
อาการปวดศีรษะในผู้สูงอายุพบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องของอาการมึนงง ซึ่งบางครั้งอาจจะให้ประวัติสับสนกับอาการปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ในผู้สูงอายุมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น ภาวะความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ ปัญหาการทรงตัวไม่ดี เนื่องจากโรคของหู ตา หรือประสาทรับความรู้สึกเสียไป นอกจากนี้ผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมของกระดูกบริเวณต้นคอ อาการปวดศีรษะในผู้สูงอายุเพียงส่วนน้อยที่จะเกิดจากปัญหาเส้นเลือด การหดตัวของกล้ามเนื้อ และโรคไมเกรน
อาการปวดศีรษะในเพศหญิง
อาการปวดศีรษะในเพศหญิงจะพบได้ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งมักเกิดร่วมกับการมีประจำเดือน หรือการหมดประจำเดือนได้ ส่วนรายที่ตั้งครรภ์อาการปวดศีรษะ เนื่องจากไมเกรนมักจะดีขึ้น เมื่อตั้งครรภ์เกิน 3 เดือนไปแล้ว อย่างไรก็ตามหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอาการปวดศีรษะควรพบแพทย์ เพราะมีบางโรคทำให้ อาการปวดศีรษะกำเริบขึ้นเมื่อตั้งครรภ์
อาการปวดศีรษะในเด็ก
ถ้าอาการปวดศีรษะเป็นเรื้อรัง และเป็นเรื่อย ๆ ส่วนมากจะมาจากความผิดปกติของเนื้อสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกต่าง ๆ ส่วนเด็กที่ปวดศีรษะเป็น ๆ หาย ๆ อาจเกิดจากไมเกรนได้ อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบบ่อยในเด็ก เด็กอาจมาด้วยอาการปวดศีรษะร่วมกับไข้และเจ็บป่วยอย่างอื่น หรือมาหาแพทย์ เพราะมีอาการปวดศีรษะเพียงอย่างเดียวก็ได้ ดังนั้นถ้าพบการปวดศีรษะในเด็ก ผู้ปกครองควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และนำผู้ป่วยพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว
เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อดนอน เครียด ใช้สมองหรือสายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ การปวดมีลักษณะตึง ๆ ตื้อ ๆ บางคนอาจปวดจี๊ด ๆ ร่วมด้วยก็ได้ ร้าวจากขมับไปกลางศีรษะจนถึงท้ายทอย อาจมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดมักจะเริ่มตอนสาย ๆ หรือบ่าย บางรายสังเกตได้ว่าเริ่มมีอาการ เมื่อผู้ป่วยเริ่มเคร่งเครียดกับงาน แล้วมักจะปวดต่อไปทั้งวัน แม้ว่าอาการอาจไม่รุนแรงแต่มีผลกระทบต่อการทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวัน เวลาหายก็มักหายไม่สนิทเป็นปลิดทิ้ง จะยังปวดตื้อ ๆ อยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งต่างจากไมเกรนที่ปวดรุนแรง แต่เวลาไม่ปวดก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง ช่วงที่ปวดสามารถทานยาแก้ปวดทั่ว ๆไป เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล ถ้าอาการไม่ทุเลา อาจต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาคลายเครียด
ปวดศีรษะจากการขยายตัวของหลอดเลือดที่ศีรษะ
ปวดศีรษะที่เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดที่ศีรษะมีหลายแบบ แต่ที่รู้จักกันดีคือ ไมเกรน สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ ไข้สูง ยาบางชนิด อากาศร้อน เป็นต้น
ลักษณะสำคัญ คือ ปวดตุ้บ ๆ ที่บริเวณขมับข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ บางคนอาจเริ่มจากตื้อ ๆ จี๊ด ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ รุนแรงขึ้นจนตุ้บ ๆ ในที่สุด เวลาปวดจะรุนแรงมาก มักคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย แต่ช่วงที่ไม่ปวดจะหายเป็นปลิดทิ้ง บางคนอาจมีอาการเตือนก่อนปวด โดยจะตาพร่า เห็นแสงแวบ ๆ สีเหลืองหรือเป็นเส้นหยัก ๆ ลอยไปมา แล้วต่อมาค่อยปวดศีรษะ
สิ่งที่กระตุ้นให้อาการกำเริบมีหลายอย่าง เช่น อากาศร้อน ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันบางชนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด แอลกอฮอล์ อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแล็ต เนย เบคอน ไส้กรอก แฮม ผงชูรส เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีสารบางอย่างที่กระตุ้นอาการได้
ไมเกรนมักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่น หรืออาจเริ่มช่วงอายุ 15 - 30 ปี พบในหญิงมากกว่าชาย โดยบางคนมีอาการมากช่วงก่อน ระหว่างหรือหลังมีประจำเดือน ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังวัยหมดประจำเดือน อาการมักห่างลงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการปวดแบบไมเกรน ปัจจุบันพบว่า ion-transport gene เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไมเกรน โดยระบบประสาทของผู้ที่เป็นไมเกรนไวต่อการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นไมเกรน เมื่อระบบประสาทมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง จะทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด และเส้นประสาทรอบ ๆ สมอง นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติ ที่ระดับสารเคมีในสมอง การสื่อกระแสในสมอง หรือการทำงานที่ผิดปกติไปของหลอดเลือดสมองอีกด้วย
ปวดศีรษะจากสิ่งผิดปกติในสมอง
สิ่งผิดปกติในสมองที่อาจพบ ได้แก่ เนื้องอก ฝี พยาธิ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นเลือดสมองแตก ฯลฯ มีลักษณะการปวดที่หลากหลาย ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค ขนาดของรอยโรค ตำแหน่งที่เกิดโรคในสมอง อาการโดยรวม ๆ คือ มักปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผ่านไปเป็นวัน สัปดาห์หรือเป็นเดือน ช่วงที่เป็น มักมีอาการอาเจียนมาก หรืออาจมีอาการอื่น ๆ ทางสมองร่วมด้วย เช่น ชัก เห็นภาพซ้อน สับสน แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ระดับความมีสติอาจซึมลง จนถึงเสียชีวิตได้
สาเหตุกระดูกและกล้ามเนื้อต้นคอ
อาการปวดศีรษะอาจจะเกิดจากความผิดปกติของกระดูกต้นคอ เช่น กระดูกอักเสบ ข้อเสื่อม หมอนกระดูกทับเส้นประสาท หรือเกิดจากกล้ามเนื้อต้นคอมีอาการเกร็ง เนื่องจากการที่อยู่ผิดท่าเป็นเวลานาน ๆ
ไซนัสอักเสบ
ผู้ป่วยจะมีไข้ น้ำมูกไหลมักจะปวดรอบตา แก้มหรือบริเวณหน้าผาก เช้า ๆ ตื่นมาไม่ปวดมาก สาย ๆ จะปวดมากขึ้น เวลาเคลื่อนไหวศีรษะจะปวดมากขึ้น
อาการปวดศีรษะจากขากรรไกร
ผู้ที่นอนกัดฟันกลางคืน หรือเคี้ยวอาหารที่เหนียว ๆ จะมีอาการปวด การวินิจฉัยทำได้โดยให้เคี้ยวจะทำให้ปวดศีรษะเพิ่มขึ้น
ปวดศีรษะจากต้อหิน
ผู้ที่มีความดันตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ และเป็นภาวะเร่งด่วนที่จะต้องรีบให้การรักษา ผู้ป่วยจะปวดศีรษะบริเวณหน้าผาก ตาแดง เห็นแสงเป็นวง
เนื้องอกสมอง
ผู้ที่ปวดศีรษะจากเนื้องอกสมองมักจะมีอาการอ่อนแรง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิก และความจำ อาเจียน ชัก เนื้องอกของระบบประสาท แบ่งได้ตามอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เนื้องอกสมองพบได้ร้อยละ 75 เนื้องอกไขสันหลังพบได้ร้อยละ 20 และที่เหลือเป็นเนื้องอกของประสาทส่วนปลาย อาการของเนื้องอกในสมองคือ ปวดศีรษะ ตามัว อาเจียน เป็นอัมพาตแขนขา ตาบอด เดินเซ หูหนวก ชักกระตุก ความจำเสื่อม ทั้งนี้แล้วแต่ว่าก้อนเนื้องอกเกิดที่ใด และกดบริเวณอวัยวะส่วนใดของสมอง อย่างไรก็ตามอาการต่าง ๆ อาจเกิดจากสาเหตุ หรือโรคอื่นที่ไม่ใช่เนื้องอกก็ได้ จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด บางครั้งอาจอาศัยวิธีตรวจพิเศษร่วมด้วย เช่น การตรวจเอ็กซเรย์ การตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น
อาการปวดศีรษะจากความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยที่มีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะมีอาการปวดศีรษะ ในขณะที่ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอาจจะไม่ปวดศีรษะเลยก็ได้
ปวดศีรษะจากเส้นเลือดสมองแตก
ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะทันทีทันใด ปวดมากและซึมลง แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ทั้งนี้ เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย ทำหน้าที่ในการควบคุม การทำงานทุกระบบ เช่น การเคลื่อนไหว ระบบประสาทสัมผัสต่าง ๆ เป็นต้น สมองในตำแหน่งต่าง ๆ ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนั้นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง จึงเกิดขึ้นได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรคหากสมองส่วนใดสูญเสียการทำงานไป ก็จะเกิดอาการผิดปกติของร่างกายในระบบที่สมองบริเวณนั้นควบคุมอยู่ อาการมักเกิดอย่างรวดเร็ว หรือทันทีทันใด เนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงทันที แต่ในบางครั้งอาจมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาอันสั้น
อาการที่พบบ่อยมีหลายอย่าง ได้แก่ อ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก ชาครึ่งซีก เวียนศีรษะ ร่วมกับเดินเซ ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม ไม่รู้สึกตัว ที่สำคัญคืออาการดังกล่าวข้างต้น หากเกิดขึ้น และหายไปในเวลาอันรวดเร็ว ถือเป็นอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ท่านควรไปพบแพทย์ด่วน พึงระลึกไว้เสมอว่า เมื่อมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อย่ามัวรอดูอาการ
สาเหตุจากยา
ผลข้างเคียงของยาบางชนิด อาจทำให้ปวดศีรษะได้ ที่พบบ่อยได้แก่ ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ยารักษาโรคหัวใจชนิดไนเตรท เป็นต้น นอกจากนี้ อาการปวดหัวอาจเกิดจากการใช้ยาแก้ปวดมากและเป็นเวลานานติดต่อกัน ได้แก่ ยาในกลุ่มต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ NSAIDS ที่บ่อยได้บ่อยคือ ยาอินโดเมธาซิน
ทฤษฎีปวดศีรษะที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทสมอง
นักวิจัยกำลังมุ่งความสนใจไปที่วิถีของเส้นประสาทคู่ที่ 5 หรือที่เรียกว่าไทรเจมินัล (trigeminal pathway) และสารเคมีในสมองชื่อซีโรโทนิน (serotonin) ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง การปวดศีรษะอาจเป็นผลมาจากการเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง พบว่าเมื่อมีอาการปวดศีรษะ ระดับซีโรโทนินในสมองจะลดต่ำลง ทำให้เกิดการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทไทรเจมินัลไปยังหลอดเลือดที่เยื่อหุ้มสมองด้านนอก ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวจนบวมและอักเสบ
แนวทางการวินิจฉัยหาสาเหตุ
- ลักษณะของอาการปวดศีรษะเป็นอย่างไร
- ปวดที่ตรงไหน ปวดบ่อยแค่ไหน
- ปวดครั้งสุดท้ายเมื่อไร ปวดครั้งแรกเมื่อไร
- ปวดแต่ละครั้งนานแค่ไหน
- มีการเปลี่ยนแปลงอาการปวดศีรษะหรือไม่ อย่างไร
- มีอาการอื่นร่วมหรือไม่ เช่น อาเจียน มึนงง บ้านหมุน
- การนอนหลับ
- ปัจจัยที่กระตุ้นให้ปวดศีรษะ
- ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ
ลักษณะเฉพาะบางประการ
- ระยะเวลาที่มีอาการเจ็บปวด เช่น มีอาการชั่วประเดี๋ยวเดียวก็หาย หรือมีอาการปวดศีรษะอย่างเดียว และเมื่อเข้านอนแล้วก็หายไป ถ้าเป็นเช่นนี้ มักจะไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่ร้ายแรง แต่หากมีอาการปวดศีรษะมากกว่า 24 ชั่วโมง หรือเป็นบ่อย ๆ เช่น 2 - 3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาต่อไป
- ในกรณีที่มีประวัติได้รับอันตรายที่ศีรษะจากอุบัติเหตุ หรือมีอาการง่วงซึม อาเจียน แขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการตาพร่า อาจเกิดจากภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ
- หากมีไขัร่วมกับปวดศีรษะ ควรนึกถึงสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือปาราสิต ที่สำคัญต้องคิดถึงโรคติดเชื้อในระบบประสาทด้วยเสมอ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
- อาการผิดปกติทางสายตา เช่น ตาพร่ามัว แสงสว่างที่ทำให้ปวดเบ้าตา
- ความเครียดหรือ ความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการงาน ครอบครัว และเรื่องส่วนตัวต่าง ๆ ที่ยังจัดการไม่เรียบร้อย ก็มีผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
อาการปวดศีรษะที่อาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรง
- เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่มีการกระทบกระแทกศีรษะ
- ปวดศีรษะรุนแรงนานเกิน 4 ชั่วโมง
- อาการปวดศีรษะในเด็กอายุที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี
- ปวดศีรษะที่มีอาการรุนแรงตอนเช้า และดีขึ้นเมื่อลุกขึ้น
- เกิดอาการกะทันหัน ชนิดทันทีทันใด อาการรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- พบมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการคอแข็ง หลังแข็ง
- อาการอาเจียนรุนแรง ซึม เห็นภาพเปลี่ยน
- อาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น
- เกิดอาการหลังการออกกำลังหรือไอ
- อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่ออายุเกิน 50 ปี
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ (ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ)
No comments:
Post a Comment