Search This Blog

Tuesday, September 15, 2009

ขี้หู

เมื่อพูดถึง “ ขี้หู ” คนส่วนใหญ่คงคิดว่ามัน คือ ของเสีย หรือสิ่งสกปรก และสรรหาสารพัดวิธี ที่จะกำจัดขี้หูให้หมดไป เช่น การใช้ไม้แคะหู หรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดออก หลายคนเพลิดเพลินกับกิจกรรมการแคะหู มีบริการนี้ในร้านตัดผมเสียด้วยซ้ำ แต่แท้ที่จริงแล้วขี้หูนั้นมีประโยชน์ การกำจัดขี้หูอย่างไม่เหมาะสม กลับกลายเป็นการสร้างปัญหา หรือก่อให้เกิดอันตรายกับหูเสียมากกว่า

"ขี้หู" เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โดยปกติแล้ว เซลล์ผิวหนังจะมีกระบวนการสร้างเซลล์ผิว ซึ่งจะเลื่อนขึ้นสู่ชั้นบนของผิวหนังและหลุดลอกออกไปได้เอง เซลล์บุผิวของรูหูชั้นนอกก็มีลักษณะคล้ายกับเซลล์บุผิวหนังทั่วไป แต่จะไม่หลุดลอกออกไปได้เองเหมือนเซลล์ผิวหนัง เซลล์บุผิวในรูหูจะสะสมเป็นแผ่นเป็นชั้น และเป็นองค์ประกอบสำคัญของขี้หู คิดเป็นร้อยละ 60 ของน้ำหนักทั้งหมดของขี้หู นอกจากนี้ขี้หูยังประกอบไปด้วย เอนไซม์ เพปไทด์ กรดไขมัน คอเลสเตอรอล และแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ขี้หูถูกหลั่งออกมาตรงบริเวณใกล้ ๆ กับแก้วหู ในระยะแรกขี้หูจะมีลักษณะนุ่ม เหลว ไม่มีสี และไม่มีกลิ่น ต่อมาขี้หูจะค่อย ๆ เคลื่อนที่ออกมาสู่ภายนอก โดยการพัดโบกของเซลล์ขนในรูหู ผสมผสานกับการขยับเคลื่อนที่ของขากรรไกร เช่น เวลาเคี้ยวอาหาร เวลาพูด เวลาหาว ทำให้ขี้หูค่อย ๆ เคลื่อนออกมาทีละน้อย เมื่อขี้หูเคลื่อนที่ออกมาด้านนอก จะทำให้ขี้หูมีลักษณะเปลี่ยนไป โดยมีสีเข้มขึ้น เหนียวข้น และมีกลิ่น

ทำไมขี้หูของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน?

ลักษณะของขี้หูจะแตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากความแตกต่างในองค์ประกอบของไขมัน และสีผิวของขี้หู คนผิวขาว (ชาวยุโรป-ชาวอเมริกัน) และคนผิวดำ (ชาวแอฟริกัน) จะมีขี้หูสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเข้ม และมีลักษณะเหนียว ข้น ชื้น ขณะที่คนผิวเหลือง (ชาวเอเชีย และชาวอินเดียนแดง) จะมีขี้หูสีเทาหรือสีแทน และไม่มีลักษณะเหนียว ข้น ชื้น แต่จะเปราะและแห้ง

ประโยชน์ของขี้หู

ขี้หูจะช่วยป้องกันอันตราย ที่อาจจะเกิดกับรูหูชั้นนอก ลักษณะข้นเหนียวของขี้หูจะช่วยเคลือบ และจับสิ่งแปลกปลอม ที่เข้าไปในรูหู เช่น ฝุ่นและแมลง นอกจากนี้ ขี้หูยังมีคุณสมบัติเป็นกรด ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ในรูหูได้

เมื่อมีการขูดขีดหรือฉีกขาดเล็กน้อยในรูหู เช่น แผลที่เกิดจากการแคะหูด้วยวัตถุแปลกปลอมต่าง ๆ ขี้หูที่เคลือบผิวของรูหูจะช่วยบรรเทา และลดการติดเชื้อที่ผิวของรูหูได้ แต่ถ้าขี้หูถูกกำจัดออกไปจนหมด ก็อาจเกิดการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น

ดังนั้น หากแคะหูบ่อย ๆ โปรดระวัง!!
ขี้หูอุดตัน - ติดเชื้อ - แก้วหูทะลุ

เมื่อเราใช้ไม้พันสำลีเช็ดหู เราจะเห็นขี้หูบางส่วนติดปลายไม้พันสำลีออกมาด้วย เราอาจจะคิดว่าได้กำจัดขี้หูออกไปแล้ว แต่ความจริงแล้ว ขี้หูที่ติดมากับปลายไม้พันสำลีนั้น เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ของขี้หูจะถูกไม้พันสำลีดันลึกเข้าไปในรูหูด้านในมากขึ้น ทำให้ขี้หูแข็งมากขึ้น และเกิดการอุดตันได้ ยิ่งไปกว่านั้น ขี้หูที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จะหลั่งออกมาบริเวณระหว่างขี้หู ที่อุดตันกับแก้ว หู ซึ่งจะยิ่งทำให้ขี้หูอุดตันมากขึ้น

นอกจากนี้ ไม้พันสำลีมักจะทำให้เซลล์ขนในรูหู ซึ่งทำหน้าที่พัดโบกขี้หูออกมาด้านนอก เสียหาย ขี้หูจึงคั่งค้างอยู่ข้างใน และสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การใช้ไม้พันสำลีปั่นรูหูแรง ๆ ยังอาจทำให้ผิวหนังในรูหูถลอกหรือเป็นแผล ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อได้ หากใช้ไม้พันสำลีสอดลึกเกินไป ก็อาจทำให้เยื่อแก้วหูบาดเจ็บหรือทะลุได้

อาการของขี้หูอุดตัน

ขี้หูอุดตันอาจทำให้มีอาการคัน ปวด มึนงง ได้ยินเสียงแว่วในหู ไอ บ้านหมุน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ขี้หูอุดตันจะส่งผลต่อการได้ยิน แพทย์อาจใช้ยาละลายขี้หู เพื่อช่วยให้ขี้หูอ่อนนุ่มลง และกำจัดได้ง่ายขึ้น

ถึงแม้จะได้ชื่อว่า “ขี้หู” แต่ก็ไม่ใช่สิ่งสกปรกที่ต้องกำจัดแต่อย่างใด เพราะอาจจะไปทำลายสภาพแวดล้อมที่ดีในรูหู การแคะหูโดยใช้วัตถุใด ๆ ก็ตามแหย่เข้าไปในรูหู อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แม้แต่ปลายเล็บของเราเองก็อาจทำให้หูถลอก ติดเชื้อ และอักเสบได้ นอกจากนี้ ไม้แคะหูในร้านตัดผมชาย ก็อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่งได้ ดังนั้น โดยปกติแล้วไม่จำเป็นต้องล้าง หรือทำความสะอาดภายในรูหู เพียงแต่ทำความสะอาดใบหูด้านนอกระหว่างอาบน้ำก็เพียงพอแล้ว

No comments:

Post a Comment