Search This Blog

Thursday, September 10, 2009

โรคเชื้อราที่เท้า

เท้าสำคัญกว่าที่คุณคิด

เท้าเป็นอวัยวะต่ำสุดของร่างกาย คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเท้ามากนัก ทั้งที่จริงแล้วเท้ามีหน้าที่สำคัญหลายประการ เช่น เวลาที่คุณยืน เท้าต้องทำหน้าที่รองรับน้ำหนักตัว สร้างความสมดุลย์ทั้งในขณะยืน เดิน และวิ่ง เป็นต้น เท้ายังมีหน้าที่อื่น ๆ อีกมากมาย แต่เพียงแค่นี้คุณก็คงพอจะเห็นแล้ว ว่าเท้าของคุณสำคัญกว่าที่คุณคิด และเมื่อเกิดความผิดปกติกับเท้าคุณ อาจบั่นทอนความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมประจำวันของคุณ

ตัวอย่างง่าย ๆ คุณรักษาความสะอาด ผิวหนังที่ฝ่าเท้า และง่ามเท้าของคุณดีหรือยัง?? ถ้าหมักหมมไว้ไม่ดูแล เชื้อราจะก่อโรคขึ้นง่าย ๆ

โรคฮ่องกงฟุตหนึ่งในโรคเชื้อราที่พบได้บ่อย

โรคฮ่องกงฟุตเป็นโรคเชื้อราที่เท้า เกิดจากเชื้อกลากเดอร์มาโตไฟต์ เริ่มต้นโรคจะมีอาการคันที่ผิวหนังของง่ามนิ้วเท้า หรือฝ่าเท้าที่ง่ามนิ้วเท้าระหว่างนิ้วก้อยกับนิ้วนาง จะพบผิวหนังมีลักษณะเปื่อยยุ่ย และปริออกจากกัน และมีการกระจายตัวไปยังบริเวณผิวหนังใต้นิ้วเท้าที่เป็นโรค

ในบางรายอาจพบตุ่มน้ำพองใสเป็นปื้น ที่ผิวหนังบริเวณฝ่าเท้า ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นแผ่นสะเก็ดแห้ง ๆ และหนาตัวขึ้น ในระยะเรื้อรัง คนที่เป็นโรคฮ่องกงฟุต อาจพบโรคเชื้อราที่เล็บเท้าร่วมด้วยก็ได้

คุณจะป้องกันการติดโรคฮ่องกงฟุตได้อย่างไร

  • แหล่งรวมเชื้อ ได้แก่ ห้องอาบน้ำรวม เช่น ของนักกีฬา หรือโรงทหาร ซึ่งเชื้อราจากผู้ที่เป็นโรคนี้จะหลุดออกมาอยู่ที่พื้นห้องน้ำ และติดต่อไปยังเท้าผู้อื่นได้ ห้องอาบน้ำรวมจึงควรใช้ยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้นห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอ
  • ดูแลเท้า โดยเฉพาะง่ามนิ้วเท้าให้แห้งสะอาด
  • ควรเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน และดูแลพื้นภายในรองเท้า ให้แห้งอยู่เสมอ เช่น นำไปตากแดด หรือผึ่งลม และควรมีรองเท้าสับเปลี่ยนกัน
  • หากจำเป็นต้องลุยน้ำ หลังจากนั้น ก็ให้ล้างเท้าด้วยสบู่ให้สะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง และเช็ดผิวหนังด้วยแอลกอฮอล์อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อพบความผิดปกติที่เท้าควรทำอย่างไร

โรคผิวหนังที่เท้ามีอยู่หลายโรคด้วยกัน และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เมื่อท่านพบ อาการผิดปกติเกิดขึ้นที่เท้า จึงควรให้แพทย์วินิจฉัยเสียก่อนว่า เป็นโรคอะไรกันแน่ หากเป็นโรคเชื้อราก็วินิจฉัยได้จากการตรวจเพาะเชื้อ

การรักษาโรคฮ่องกงฟุต
  1. ใช้ยาทาซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น ครีม ขี้ผึ้ง ยาน้ำ ผงซึ่งมีสารฆ่าเชื้อราผสมอยู่ด้วย
  2. ยารับประทาน มีทั้งชนิดกดความเจริญของเชื้อ หรือฆ่าเชื้อโดยตรงซึ่งแพทย์เป็นผู้รักษา และจ่ายยา

บุคคลที่มีโอกาสติดโรคเชื้อราได้ง่าย

  • นักกีฬา และทหาร เนื่องจากเท้าอับชื้นจากการใส่ถุงเท้า และรองเท้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้เท้าเปียกชื้น และอับชื้น ซึ่งเหมาะแก่การก่อโรค และเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นต้นเหตุ
  • คนไข้โรคเบาหวาน
  • กลุ่มคนไข้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือคนที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน

ข้อควรระวัง
ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง นอกจากแพทย์ หรือเภสัชกรเป็นผู้ให้การรักษา ถ้ามีปัญหาเรื่องโรคเชื้อรา ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังหรือเภสัชกร

No comments:

Post a Comment