Search This Blog

Tuesday, September 22, 2009

ต้อกระจก


อาการตามัวในผู้สูงอายุดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนหลาย ๆ คนไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งนี้เท่าใดนัก เพราะคิดไปว่า “แก่แล้ว หูตาก็ฝ้าฟางเป็นเรื่องธรรมดา” แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถช่วยรักษาอาการตามัวในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้ ดังนั้น อย่าได้นิ่งนอนใจ ถ้าคุณหรือญาติผู้ใหญ่ของคุณตามัวลง

ต้อกระจก (Cataract) คือ ภาวะที่เลนส์แก้วตาขุ่น แสงจึงผ่านเลนส์เข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง หรือบางครั้งการขุ่นนั้น จะก่อให้เกิดการหักเหแสงที่ผิดปกติไป โฟกัสผิดที่ ทำให้จอประสาทตารับแสงได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจึงตามัวลง โดยไม่มีอาการอักเสบหรือเจ็บปวดใด ๆ ยิ่งเลนส์แก้วตาขุ่นขึ้น การมองเห็นก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ต้อกระจกเป็นสาเหตุ ที่สำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุตามัวลง

อาการของต้อกระจก

ตามัวลงช้า ๆ เหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง โดยไม่มีอาการปวดตา
เห็นภาพซ้อน สายตาพร่า สู้แสงไม่ได้ เห็นดวงไฟแตกกระจายโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
ในบางรายอาการระยะแรกของต้อกระจก คือ จะมีสายตาสั้นมากขึ้น ๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย ๆ เมื่อต้อกระจกขุ่นมาก แว่นตาจะช่วยไม่ได้
และถ้าปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่รักษาอาจจะเกิดอาการแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น มีอาการปวดตาอย่างรุนแรง และตาแดงมาก เนื่องจากโรคลุกลามกลายเป็นโรคต้อหินเฉียบพลัน และม่านตาอักเสบ จนกระทั่งตาบอดได้ในที่สุด

วิธีการรักษาต้อกระจก

เมื่อต้อกระจกเป็นมากจนทำให้สายตาขุ่นมัว การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ หรือเทคนิค “เฟโค” (Phacoemulsification) พร้อมทั้งใส่เลนส์แก้วตาเทียม เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยให้สายตาของผู้ป่วยดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัย และได้ผลดีมาก ไม่จำเป็นต้องให้ยาสลบ นอกจากนี้ แผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาวิธีนี้ จะมีขนาดเล็กมากเพียง 3 ม.ม. จึงสมานตัวได้เป็นปกติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล สามารถมองเห็นได้ชัดเจนอย่างรวดเร็ว แต่ยังต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลความสะอาด และระวังไม่ให้มีอุบัติเหตุกระทบกระแทกต่อดวงตา

ข้อจำกัดของการสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์

ในกรณีที่ต้อกระจกสุกมาก หรือแข็งตัวมาก หรือในผู้ป่วยที่มีการเลื่อนหลุดของเลนส์แก้วตาจากเส้นใยที่ยึดเลนส์ที่เป็นต้อกระจกฉีกขาด ซึ่งพบได้ในรายที่ต้อกระจกสุกมากเกินไป หรือมีโรคทางตาบางชนิด หรือเคยได้รับอุบัติเหตุกระทบกระแทกบริเวณดวงตามาก่อน กรณีดังกล่าวข้างต้น ไม่เหมาะสมสำหรับการสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ จักษุแพทย์อาจพิจารณาทำการรักษาต้อกระจก ด้วยวิธีดั้งเดิม ซึ่งจะต้องเปิดแผลกว้างประมาณ 10 - 12 ม.ม. เพื่อนำตัวเลนส์แก้วตา ที่เป็นต้อกระจกออก แล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปในถุงของเยื่อหุ้มเลนส์เดิม หลังจากนั้น จึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บชนิดบางเล็กพิเศษ

ทั้งนี้ การเลือกวิธีการรักษาต้อกระจกว่าสมควรใช้วิธีใดนั้น จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจักษุแพทย์ผู้ทำการรักษา โดยที่แพทย์จะสามารถให้ข้อมูลแก่คุณได้ หลังจากทำการตรวจวินิจฉัยดวงตาของคุณโดยละเอียดแล้ว

ที่มา:
ศูนย์จักษุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

No comments:

Post a Comment