Search This Blog

Thursday, September 24, 2009

แค่เป็นหวัด หรือ ไซนัสอักเสบ ....… ?


ในบรรดาโรคทางเดินหายใจ นอกจากโรคหวัดแล้ว "ไซนัสอักเสบ" ก็เป็นปัญหา ที่พบบ่อยเช่นกัน และมีอาการหลายอย่างเหมือนโรคหวัด เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม ปวดบริเวณใบหน้า ทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นโรคไซนัสอักเสบหรือไม่? ซึ่งหากวินิจฉัยผิดแต่แรกเริ่ม ก็อาจทำให้พลาดการรักษาที่ถูกต้อง จนอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมาได้

โรคไซนัสอักเสบเป็นการอักเสบของ "โพรงอากาศด้านข้างจมูก" หรือเรียกว่า "โพรงไซนัส" ซึ่งปกติจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ตำแหน่ง เป็นคู่ ๆ ได้แก่ โพรงอากาศบริเวณหน้าผาก โพรงอากาศบริเวณหัวตา โพรงอากาศบริเวณแก้ม และโพรงอากาศบริเวณฐานกะโหลก ซึ่งภาวะไซนัสอักเสบ สามารถแบ่งตามระยะของโรคได้ 2 ชนิด คือ
  1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คือ ไซนัสอักเสบที่มีอาการน้อยกว่า 12 สัปดาห์ และอาการต่าง ๆ จะหายสนิทได้
  2. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ ไซนัสอักเสบที่เป็นนานกว่า 12 สัปดาห์ และในช่วงที่เป็นนั้น อาการต่าง ๆ ไม่มีช่วงที่หายสนิท
สำหรับผู้ที่มีโอกาส มีปัญหาเกี่ยวกับไซนัสนั้น ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นไซนัสอักเสบได้ แม้แต่เด็กแรกเกิด แต่บุคคลที่มีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่ กลุ่มผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก มีความผิดปกติของช่องจมูก การติดเชื้อจากการรักษา ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ การสูบบุหรี่ และผู้ที่อยู่ในเขตมลภาวะเป็นพิษ ทั้งนี้ ปัจจัยเสริมให้เกิดไซนัสอักเสบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบว่า มักเกิดหลังการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบน ประมาณร้อยละ 0.5 ถึง 2 จะเกิดการอักเสบของโพรงอากาศข้างจมูกจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลันตามมา ดังนั้น ในช่วงต้นของอาการประมาณ 3 ถึง 4 วันแรก จึงแยกภาวะนี้ออกจากไข้หวัดได้ยากเนื่องจากมีอาการคล้ายคลึงกัน

รู้ได้อย่างไรว่า “ไข้หวัด” หรือ “ไซนัสอักเสบ” ?

ธรรมชาติของไข้หวัดนั้น ผู้ป่วยมักมีอาการใดอาการหนึ่ง หรือหลายอาการดังต่อไปนี้ คือ จาม น้ำมูกไหล คัดแน่นจมูก ความสามารถในการรับกลิ่นลดลง ปวดหน่วงบริเวณใบหน้า เสมหะไหลลงคอ เจ็บคอ ไอ หูอื้อ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยที่อาการไข้ ปวดเมื่อย และเจ็บคอมักจะดีขึ้น หรือหายไปภายในไม่เกิน 7 - 10 วัน ส่วนอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล แลไอ อาจเป็นนานถึงสัปดาห์ที่ 2 และ 3 แต่ก็จะลดความรุนแรงลงเรื่อย ๆ แต่หากอาการต่าง ๆ ของไข้หวัดไม่ดีขึ้นเลยภายใน 10 วัน หรือดีขึ้นระยะหนึ่ง แล้วกลับเป็นซ้ำ ให้พึงระวังไว้ก่อนว่าอาจเกิดภาวะไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลันได้ (Acute bacterial rhinosinusitis)

สำหรับการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยต้องมีอาการอย่างน้อยสองอาการ หรือมากกว่าโดยที่หนึ่งในนั้น ต้องมีอาการคัดแน่นจมูก หรือ น้ำมูกไหล ทางรูจมูก หรือไหลลงคอ ซึ่งในบางรายอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดตื้อบริเวณด้านข้างจมูก ใบหน้า และ/หรือ มีการรับกลิ่นผิดปกติไป

การตรวจบริเวณโพรงจมูก และไซนัสเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยอาการแสดงจำเพาะของการเกิดไซนัสอักเสบ คือ พบมูกหนองที่บริเวณช่องข้างจมูกชั้นกลาง ซึ่งเป็นทางระบายมูกจากโพรงไซนัสเข้ามาสู่ช่องจมูก โดยต้องอาศัยเครื่องมือตรวจพิเศษ ได้แก่ กล้อง Endoscope หรือ Otoscope ที่มีเลนส์ขยาย จึงจะสามารถมองเห็นบริเวณนี้ได้อย่างชัดเจน และยังสามารถเก็บมูกหนอง เพื่อทำการเพาะเชื้อตรวจในผู้ป่วยบางราย อย่างไรก็ตาม ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาตรวจทางรังสีวิทยาร่วมด้วย โดยการเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการตรวจที่ดี สำหรับโรคไซนัสอักเสบ เนื่องจากสามารถบอกรายละเอียดของโรค และโครงสร้างทางกายวิภาคในโพรงจมูก และไซนัสได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังใช้วินิจฉัยแยกจากโรคอื่นที่มีลักษณะอาการคล้ายกับไซนัสอักเสบได้ด้วย

การรักษาไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน

รักษาด้วยยา
  1. ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยควรได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 10-14 วัน
  2. ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ ยาชนิดนี้มีผลลดการอักเสบบวมของเยื่อบุจมูกและโพรงไซนัส ช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นเร็วหากใช้ควบคู่ไปกับยาปฏิชีวนะ
  3. ยาลดการบวม มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดพ่นหรือหยอดจมูก ช่วยบรรเทาอาการคัดแน่นจมูกได้ดี แต่มีข้อจำกัดว่ายาชนิดพ่นหรือหยอดจมูกนี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3-5 วันเนื่องจากมีผลข้างเคียงทำให้เยื่อบุจมูกกลับบวมมากขึ้น
  4. ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ทั้งที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วงและไม่ง่วง
  5. การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย และช่วยให้อาการทางไซนัสดีขึ้น ลดความหนืดของน้ำมูกและช่วยเพิ่มการทำงานของเซลล์ชนิดมีขนอ่อนไว้พัดโบกในโพรงจมูกและไซนัส
  6. การสูดดมไอน้ำร้อน
รักษาด้วยการผ่าตัด

เป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง endoscope ผ่านทางรูจมูก เพื่อระบายมูกหนอง และช่วยปรับอากาศของโพรงไซนัส ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่เป็นมาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วและเสียเลือดไม่มาก โดยแพทย์จะพิจารณาให้การผ่าตัดในกลุ่มผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือมีการอักเสบเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง รวมถึงรายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบเฉียบพลันทั้งต่อทางตา, สมอง และกระดูกที่อยู่บริเวณใกล้เคียง

แม้ในปัจจุบันจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคไซนัสอักเสบอย่างแพร่หลาย แต่หากได้รับการดูแลรักษา ที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ต่อเนื่อง ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ลูกตาอักเสบ ฝีหนองในเบ้าตา เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเป็นฝีหนองในเนื้อสมองได้

ที่มา
พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี
โสต ศอ นาสิกแพทย์ สาขาโรคไซนัสอักเสบและภูมิแพ้
โรงพยาบาลเวชธานี

No comments:

Post a Comment