Search This Blog

Thursday, September 10, 2009

รู้ได้อย่างไรว่า...อ้วนลงพุง

โรคอ้วนลงพุง หรือทางการแพทย์เรียกว่า เมตะบอลิค ซินโดรม (Metabolic syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิต ที่ไม่เหมาะสม กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหาร ที่มีน้ำตาล และไขมันสูง ร่วมกับขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้น้ำหนักมากเกินจนพุงยื่น

แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าเข้าข่ายอ้วนลงพุงแล้ว??? วันนี้เรามีความรู้ และคำแนะนำดี ๆ มาฝาก

สำหรับคนไทย โดยปกติ ผู้ชาย ไม่ควรมีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร ส่วนผู้หญิง ไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร แต่ผู้ที่มีปัญหาอ้วนลงพุง มักจะมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่
  • ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป (ความดันโลหิตตัวใดตัวหนึ่งสูงก็ถือว่าผิดปกติ)
  • น้ำตาลในเลือดสูง ตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
  • ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
  • โคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL cholesterol) ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับผู้ชาย และผู้หญิง ต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

การมีความผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อัมพาต ที่เกิดจากหลอดเลือดสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดเลือด นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และยังอาจก่อให้เกิดโรคตับเรื้อรัง จากการที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ ซึ่ง นำไปสู่โรคตับแข็งได้

สัญญาณบอกเหตุ

มีหลายคนมองจากภายนอกแล้ว ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ยกเว้น “อ้วนลงพุง” ถ้าไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ ก็จะไม่รู้ว่ามีความดันโลหิตสูง น้ำตาลสูง หรือมีไขมันผิดปกติแฝงอยู่ ในบางรายที่ความดันโลหิตสูง อาจมีอาการปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะ ส่วนรายที่น้ำตาลในเลือดสูงเข้าขั้นเบาหวาน อาจจะมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หรือมีอาการอื่น ๆ ของโรคเบาหวานร่วมด้วย สำหรับผู้ที่มีปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มานาน และไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ อาจมีภาวะของโรคแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจวาย หรืออัมพาตในที่สุด

ใคร ๆ ก็มีสิทธิ์เสี่ยงจริงหรือ??

คำตอบ คือ...ใช่แล้ว ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคอ้วนลงพุงได้ โดยเฉพาะผู้ที่น้ำหนักเกิน ซึ่งผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเด็ก หรือหนุ่มสาว แต่ส่วนใหญ่ กลุ่มอาการนี้เป็นผลมาจากการใช้ชีวิต ที่ไม่เหมาะสม กินอาหารที่มีพลังงานสูง กินล้นกินเกิน และการใช้ชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานจากสารอาหารมาก ขณะที่การใช้พลังงานในชีวิตประจำวันน้อยลง ทำให้พลังงานส่วนเกิน ซึ่งถูกสะสมอยู่ในรูปของเนื้อเยื่อไขมันที่พอกพูนอยู่ ในช่องท้องรวมทั้งส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง

ที่ร้ายก็คือ ไขมันในช่องท้องนี้สามารถหลั่งสารต่าง ๆ ที่มีผลเสียต่อการทำงานของร่างกาย เช่น ทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมน ที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้น้อยลง ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น สารบางชนิดทำให้มีระดับความดันโลหิตสูงขึ้น และยังก่อให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ อีกมากมายที่ส่งผลให้หลอดเลือดแดงมีโอกาสเกิดการอุดตัน จากคราบไขมันที่ไปสะสมอยู่ในหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น

กินอย่างฉลาดช่วยได้

การมีสุขภาพดีและรูปร่างที่สมส่วน ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก เริ่มจาก
  1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม โดยสัดส่วนของอาหาร ที่กินในแต่ละมื้อควรประกอบด้วย
  2. ผักครึ่งหนึ่งของอาหารทั้งหมด
  3. อีกส่วนหนึ่ง เป็นข้าวหรือแป้ง
  4. และ เป็นเนื้อสัตว์หรือโปรตีน ไขมันนั้นมีอยู่ในอาหารส่วนใหญ่อยู่แล้วจากการประกอบอาหาร

ทั้งนี้ ปริมาณอาหารที่กินขึ้นกับน้ำหนักตัว หากน้ำหนักมากเกินไป ก็ต้องลดปริมาณอาหารลง หากน้ำหนักเหมาะสมอยู่แล้ว ก็ต้องกินให้พอดี เพื่อไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงขนมหวาน เครื่องดื่มหวาน ๆ ลูกอม ช็อกโกแลต ไอศกรีม เค้ก คุกกี้ ขนมอบ ของทอด หรือกินแต่น้อย เนื่องจากให้พลังงานสูง ทำให้อ้วนได้ง่าย

การออกกำลังกาย มีประโยชน์มากในการควบคุมน้ำหนัก ช่วยลดน้ำตาล ลดไขมันร้ายทั้งโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ เพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดี และช่วยลดความดันโลหิต ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป สัปดาห์ละ 3 - 5 ครั้ง โดยอาจเลือกเล่นกีฬาที่ชอบ เช่น แบดมินตัน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก เดินเร็ว หรือวิ่งจอกกิ้ง เป็นต้น

สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน อาจเริ่มออกกำลังกาย 5 - 10 นาทีก่อน แต่เมื่อทำสม่ำเสมอแล้ว จะทำได้นานและหนักขึ้น นอกจากนี้ ควรเพิ่มกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยเผาผลาญพลังงาน เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์ ทำงานบ้าน ทำสวน เป็นต้น

การรักษา

สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุงแล้ว การกินอาหารอย่างเหมาะสม และออกกำลังกายสามารถช่วยให้ความผิดปกติต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และมีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้

ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยา เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากพฤติกรรมของคนเรา คุณเท่านั้นที่จะช่วยได้ ด้วยกำลังใจและความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา
ผศ. ดร. พญ. มยุรี หอมสนิท (ภ. เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม)

No comments:

Post a Comment