" ฟ้าทะลายโจร " กับไข้หวัด ฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่มีความหมายในตัวเองไม่น้อย เพราะแม้แต่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ฟ้าประทานมาให้ปราบโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนเหล่าโจรร้าย ส่วนในภาษาจีนกลาง ยาตัวนี้มีชื่อว่า "ชวนซิเหลียน" แปลว่า "ดอกบัวอยู่ในหัวใจ" ซึ่งมีความหมายสูงส่งมาก วงการแพทย์จีนได้ยกฟ้าทะลายโจรขึ้นทำเนียบ เป็นยาตำราหลวง ที่มีสรรพคุณโดดเด่นมากตัวหนึ่ง ที่สำคัญ คือ สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวเพียงตัวเดียวก็มีฤทธิ์แรงพอที่จะรักษาโรคได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในสมุนไพรตัวอื่น ชื่ออื่น ๆ ของฟ้าทะลายโจร ได้แก่ หญ้ากันงู (สงขลา) น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง (พนัสนิคม) เขยตายยายคลุม สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) เมฆทะลาย (ยะลา) ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ฟ้าทะลายโจรเป็นไม้ล้มลุก สูง 30 - 70 ซม. ทุกส่วนมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบ เดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่ง และซอกใบ ดอกย่อย กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยก 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่ ปากล่างมี 2 กลีบ ผล เป็นฝัก เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ส่วนที่ใช้เป็นยา ได้แก่ ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ใบจะเก็บมาใช้ เมื่อต้นมีอายุได้ 3 - 5 เดือน
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
ใบฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone คือ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)
ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเก่าแก่ของประเทศจีน ใช้ในการรักษาฝี แก้อักเสบ และรักษาโรคบิด การวิจัยด้านเภสัชวิทยาพบว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้ง เชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเป็นหนองได้ และมีการศึกษาวิจัยของโรงพยาบาลบำราศนราดูร ถึงฤทธิ์ในการรักษาโรคอุจจาระร่วงและบิด แบคทีเรีย เปรียบเทียบกับ เตตราซัยคลิน ในผู้ป่วย 200 ราย อายุระหว่าง 16 - 55 ปี ได้มีการเปรียบเทียบ ระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระเหลว จำนวนอุจจาระเหลว น้ำเกลือที่ให้ทดแทนระหว่างฟ้าทะลายโจร กับเตตราซันคลิน พบว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ลดจำนวนอุจจาระร่วงและจำนวนน้ำเกลือ ที่ให้ทดแทนอย่างน่าพอใจ แม้ว่าจากการทดสอบทางสถิติ จะไม่มีความแตกต่างทางนัยสำคัญก็ตาม
ส่วนการลดเชื้ออหิวาตกโรคในอุจจาระ ฟ้าทะลายโจรไม่ได้ผลดีเท่าเตตราซัยคลิน นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง ได้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาอาการเจ็บคอได้ผลดีอีกด้วย มีฤทธิ์เช่นเดียวกับเพนนิซิลิน เมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน เท่ากับเป็นการช่วยให้มีผู้สนใจทดลองใช้ยานี้รักษาโรคต่าง ๆ มากขึ้น
ฟ้าทะลายโจรมีกลไกการออกฤทธิ์ 3 ประการ ได้แก่ ฤทธิ์ลดไข้ ต้านการอักเสบ และลดอาการจากการหวัด พบว่ามีฤทธิ์ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และทำให้ความสามารถของเชื้อไวรัสในการเกาะติดกับผนังเซลล์ลดลง ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ยากขึ้น นอกจานี้ฟ้าทะลายโจรยังมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้มีร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น
ฟ้าทะลายโจรเป็นยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ของประเทศไทย โดยมีข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น อาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล และบรรเทาอาการท้องเสียชนิดไม่ติดเชื้อ
ความปลอดภัย
ฟ้าทะลายโจรมีการทดสอบความเป็นพิษ ที่ครบถ้วนทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ พิษเฉียบพลัน พิษกึ่งเรื้อรัง และพิษเรื้อรัง พบว่า ฟ้าทะลายโจรมีความปลอดภัยในการรับประทานในระยะยาว ข้อควรรู้เกี่ยวกับตำรับยา สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารในต้นฟ้าทะลายโจร ละลายในแอลกอฮอร์ได้ดีมาก ละลายในน้ำได้น้อย ดังนั้นยาทิงเจอร์ หรือยาดองเหล้าฟ้าทะลายโจร จึงมีฤทธิ์แรงที่สุด ยาชงมีฤทธิ์แรงรองลงมา ยาเม็ดมีฤทธิ์อ่อนที่สุด
ตามทฤษฏีการแพทย์แผนไทย และแผนจีนจัดฟ้าทะลายโจรเป็น "ยารสเย็น" หมายถึง เมื่อรับประทานฟ้าทะลายโจรแล้ว ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง จึงนำมาใช้เป็นยาลดไข้ ซึ่งเมื่อรับประทานยาเย็นติดต่อกันนาน ๆ แต่นานเท่าใด ในทางการแพทย์ไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากขึ้นกับธาตุพื้นฐานของร่างกาย ถ้าร่างกายมีความเย็นมากก็อาจเกิดได้เร็ว แต่ถ้าร่างกายมีความร้อนสะสมมากก็อาจจะเกิดช้า ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ แขนขาชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือความเข้มข้นของเลือดลดลง อาการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถกลับมาสู่ปกติได้ เมื่อหยุดรับประทานยารสเย็น ซึ่งจากรายงานการวิจัยต่าง ๆ ของฟ้าทะลายโจร ก็ไม่พบผลข้างเคียงดังกล่าว
ข้อบ่งใช้
- ฟ้าทะลายโจรควรใช้ เมื่อมีอาการของหวัดอาการใดอาการหนึ่ง เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมีน้ำมูก โดยอาการเจ็บคอรับประทานครั้งละ 3 - 6 กรัม วันละ 4 ครั้ง ส่วนการบรรเทาอาการหวัดให้รับประทานครั้งละ 1.5 - 3 กรัมวันละ 4 ครั้ง โดยแนะนำให้รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
- ระงับอาการอักเสบ หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ
- รักษาอาการปวดท้อง ท้องเสีย บิด และกระเพาะลำไส้อักเสบ
- เป็นยาขมเจริญอาหาร
ข้อห้ามใช้
- ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากติดเชื้อ Streptococcus group A ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ไข้รูห์มาติค โรคหัวใจรูห์มาติค และไตอักเสบ
- ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบเนื่องจากเคยติดเชื้อ Streptococcus group A
- ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค
- ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น
ข้อควรระวัง
- ฟ้าทะลายโจรอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเดิน ปวดเอว หรือวิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ในผู้ป่วยบางราย หากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดใช้ฟ้าทะลายโจร
- หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชา หรืออ่อนแรง
- หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้ และไปพบแพทย์
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร การที่ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ และให้นมบุตร เนื่องจากมีการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า น้ำต้มฟ้าทะลายโจรมีผลทำให้หนูแท้งได้
- แม้ว่าฟ้าทะลายโจรจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคอย่างกว้างขวาง และดูเหมือนจะมีพิษน้อย แต่เนื่องจากเป็นยาเย็นจัด การกินฟ้าทะลายโจรรักษาโรคนาน ๆ ติดต่อกันหลายปี อาจจะเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย แขนขาไม่มีแรง เป็นต้น
การปลูกฟ้าทะลายโจร
การปลูกฟ้าทะลายโจรทำได้หลายวิธี ได้แก่ แบบหว่าน ซึ่งสิ้นเปลืองเมล็ด และให้ผลผลิตน้อย แบบโรยเมล็ดเป็นแถว ประมาณ 50-100 เมล็ดต่อความยาวร่อง 1 เมตร แบบหยอดหลุม ระยะระหว่างต้น 20-30 ซม. ระหว่างแถว 40 ซม. หยอดเมล็ดหลุมละ 5-10 เมล็ด หรืออาจปลูกโดยใช้กล้า จะให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าการปลูกโดยสามวิธีแรก สำหรับการเก็บเกี่ยว ช่วงที่พืชออกดอกนับตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงดอกบาน 50% เพื่อให้มีปริมาณสารสำคัญสูง ซึ่งพืชจะมีอายุประมาณ 110-150 วัน
การทำความสะอาด ให้นำฟ้าทะลายโจรมาล้างน้ำให้สะอาด ตัดให้มีความยาว 3-5 ซม. ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาเกลี่ยบนกระด้ง หรือถาดที่สะอาด การทำให้แห้ง อบที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสใน 8 ชั่วโมงแรก ต่อไปใช้อุณหภูมิ 40 - 50 องศาเซลเซียส อบจนแห้งสนิท หรือตากแดดจนแห้งสนิท ทั้งนี้ควรคลุมภาชนะด้วยผ้าขาวบาง
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
No comments:
Post a Comment