ผู้หญิงจะรู้สึกเกรงกลัวแสงแดด เพราะรู้ดีว่าแสงแดดเป็นตัวการทำลายความงาม แถวหน้า ทำให้ผิว หมองคล้ำ เหี่ยวย่น รวมไปถึง ฝ้า กระ อีกสารพัน หากแต่หารู้ไม่ว่า การหลีกเลี่ยงแสงแดดมากเกินไป มีผลให้ร่างกายเกิดสภาวะโรคกระดูกพรุนได้ ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่ไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก กว่าจะรู้กระดูกก็เปราะบางไปเสียแล้ว
จึงอยากให้คิดใหม่ กลับมาตระหนักถึงประโยชน์ของแสงแดดอ่อน ๆ ในยามเช้า ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินดี ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพ ในการทำงานของแคลเซียม ทำให้กระดูกและฟันสมบูรณ์แข็งแรง
การสัมผัสแสงแดดอ่อน ๆ ในช่วงเช้า เพียง 10 -15 นาทีต่อวัน ก็เพียงพอ ที่จะช่วยให้ไม่เป็นโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนนั้น สาวๆ รุ่นใหม่ มีอัตราเป็นโรคนี้กันมากขึ้น ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะมีพฤติกรรมความเป็นอยู่ ที่เสี่ยงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดื่มกาแฟ การสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารไม่ครบถ้วน หรือละเลยการออกกำลังกาย ส่งผลให้ร่างกายไม่มีการสะสมแคลเซียมเพิ่มเติม แคลเซียมในกระดูกที่มีอยู่ ก็เสื่อมสลายตัวไปเรื่อย ๆ จนทำให้โครงสร้างกระดูกเปราะบาง และแตกหักได้ง่าย
ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยง ที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนสูงกว่าผู้ชายหลายเท่า เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายที่แตกต่างกัน
ภาวะที่เนื้อกระดูกบางลง ทำให้ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน มักมีอาการปวดหลัง หลังค่อมโก่ง ปวดตามข้อ อาจมีอาการปวดบริเวณ ที่กระดูกยุบตัวลง กระดูกเปราะ และหักง่าย ผู้สูงอายุจึงต้องระวังการหกล้ม ตำแหน่งที่มักจะเกิดภาวะกระดูกพรุน และหักง่ายคือ กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก
กระดูกสันหลังของผู้หญิงอายุ 55 – 75 ปี จะเกิดการยุบตัวมากกว่าในผู้ชาย ทำให้ผู้สูงอายุเตี้ยลงกว่าตอนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงพบว่า เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี พบอัตราการเกิดกระดูกสันหลังหักยุบถึงร้อยละ 30
กระดูกสะโพกหักมักต้องผ่าตัดรักษา กระดูกสะโพกหักอาจทำให้เดินไม่ได้หรือเสียชีวิตได้ โรคนี้เปรียบเหมือนภัยมืด ค่อยเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ กว่าจะรู้ตัวก็กระดูกหักเสียแล้ว
วิธีที่ดีที่สุดคือ "ต้องสะสมกระดูกไว้ให้มากที่สุด ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยรับประทานอาหาร ที่มีคุณค่าให้แคลเซียมสูง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ"
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การสะสมแคลเซียมให้กับกระดูกอย่างสม่ำเสมอ เริ่มต้นจากการรับประทานอาหาร ที่มีแคลเซียมสูง อาทิ ถั่วเหลือง ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อรับแสงแดดอ่อน ๆ ที่จะกระตุ้นให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีไปช่วยเสริมสร้างแคลเซียม
นอกจากนี้ ไม่ควรห่วงอ้วนมากจนเกินไป ต้องรับประทานไขมันบ้าง จำพวกไขมันชนิดดี ที่พบในปลาทะเล หรือน้ำมันจากเมล็ดพืช เพราะวิตามินดีจะละลายได้ดีในไขมัน เหล่านี้นอกจากจะช่วยละลายวิตามินดีแล้ว ยังช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื่น ไม่หยาบกระด้างอีกด้วย
ถ้าต้องการความสะดวก การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ช่วยเสริมแคลเซียมให้กับกระดูกก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ในปัจจุบัน ถ้าใครต้องการรู้ว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุนหรือ ไม่ ต้องอาศัยเครื่องตรวจความหนาแน่นกระดูกเข้ามาช่วย โดยการทำงานของเครื่องจะเอ็กซ์เรย์มวลกระดูกบริเวณ ข้อมือ หรือ ข้อเท้า แล้วประมวลผลออกมาเป็นกราฟ ชึ้ให้เห็นสภาวะของกระดูกได้อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะมีบริการอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
Search This Blog
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment