Search This Blog

Tuesday, December 1, 2009

ไม่ใช่คุณไสยแต่เป็น..โรคไฟโบรมัยอัลเจีย

เมื่อแพทย์ตรวจหาอาการและรักษาไม่ได้ ผู้ป่วยมักนึกไปเองว่า ถูกคุณไสย หรือมนต์ดำ หากความจริงแล้ว เป็นความผิดปกติที่เล่นซ่อนแอบกันหมออยู่ ตัวอย่างเช่น คุณอัญชลี เจียรพฤฒ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ของบริษัทบัญชี และกฎหมายแห่งหนึ่ง ต้องทุกข์ทรมานกับอาการปวดหัวมานาน เข้าใจว่าเป็นไมเกรน โรคฮิต แต่หาหมอไม่หาย แต่กลับกระจายไปทั่วเนื้อตัว เธอทนมีชีวิตร่วมกับอาการปวดมา 8 ปี ถึงขนาดบางครั้งปวดจนนอนไม่ได้ ต่อให้ง่วง หรือเพลียแค่ไหนก็ตาม จนถึงขั้นเป็นคนอารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า เหนื่อยตลอดเวลา ไม่อยากที่จะออกไปเที่ยวข้างนอกเหมือนทุกครั้ง

กว่าที่จะตรวจวินิจฉัยได้ว่า เป็นโรคชื่อประหลาดว่า "ไฟโบรมัยอัลเจีย" คุณอัญชลีต้องไปพบแพทย์ที่เชี่ยชาญด้านต่าง ๆ ถึง 9 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ด้านประสาทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็ม ผู้เชี่ยวชาญการบำบัดโรคด้วยวิธีจับกระดูกสันหลัง แพทย์แผนจีน และแพทย์อายุรเวท แต่ก็ไม่เป็นผล การตรวจวินิจฉัยแต่ละสำนักก็แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหนัก ยืนผิดท่า กระดูกเสื่อม และอื่น ๆ อีกมากมาย แม้รักษามาแล้วทุกวิธี แต่ก็ไม่หายขาดจากอาการพิกล

ภาวะปวดเรื้อรัง หรือ "ไฟโบรมัยอัลเจีย" เป็นโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แม้กระทั่งในกลุ่มแพทย์เองก็เถอะ ทำให้การตรวจวินิจฉัยทำได้ยาก

อาการของ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย

ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดลุกลามอย่างเรื้อรัง และทำให้ร่างกายอ่อนแอ ขาดความสามารถที่จะใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ บั่นทอนคุณภาพชีวิต อาการไฟโปรมัยอัลเจียไม่ได้มีอาการปวดอย่างเดียว แต่ยังมีอาการร่วมอย่างอื่น เช่น อ่อนเพลีย นอนกระกสับกระส่าย ปวดข้อ มีรายงานพบว่า ผู้ป่วยบางรายมีอาการกลืนลำบาก กระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ชา ความจำถดถอย และเริ่มมีข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยมีอาการทางจิตแทรกอยู่ด้วย เช่น หงุดหงิด ซึมเศร้า แต่ไม่ใช่ทุกรายต้องมีอาการเหลานี้หมด

คาดว่ามีประชากรราว 2% มีอาการปวดแบบไฟโปรมัยอัลเจีย ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ยอมรับกันสำหรับอาการดังกล่าว บางครั้งแพทย์ใช้การบำบัดทางจิต และพฤติกรรมบำบัดเข้าช่วย นอกเหนือจากให้ความรู้ผู้ป่วย ยา และให้อออกกำลังกาย

เนื่องจากเป็นโรค ที่ยังไม่อยู่ในสารบบของแพทย์ ทำให้ความเห็นเกี่ยวกับ ต้นเหตุของโรคแตกต่างกันไป การวินิจฉัยก็แตกต่างกันด้วย แพทย์บางรายไม่จัดให้ไฟโปรมัยเอเจียอยู่ในกลุ่มของโรค เพราะไม่มีอาการผิดปกติ ที่ตรวจสอบได้ทางร่างกาย ไม่มีวิธีทดสอบแบบมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาผู้ป่วยด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ พบหลักฐานว่า ผู้ป่วยไฟโบรมัยอัลเจียมีการทำงานของสมองต่างจากกลุ่มควบคุม แต่การศึกษาดังกล่าว ยังแค่ชี้ให้เหนถึงความสัมพันธุ์กัน แต่ยังไม่ได้ระบุสาเหตุ

อาการปวดไฟโปรมัยอัลเจีย ยังเป็นผลมาจากความเครียดสมัยเด็ก หรือเพราะได้รับความเครียดสะสมรุนแรงมานาน นอกเหนือจากความผิดปกติทางสมอง หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันพบว่า สาเหตุกลไกพยาธิสภาพความปวดของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย เกิดจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับรู้ความปวด และความเครียดอยู่ในสภาวะที่ไวกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดได้ง่าย และรุนแรงกว่าปกติ และมักจะมีอาการได้หลายแห่งทั่วร่างกาย

จากการสำรวจแพทย์ 941 คนและผู้ป่วย 506 รายจาก 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์ และความรู้ความเข้าใจของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเครือข่ายพันธมิตร เพื่อการรักษาความปวดจากไฟโบรมัยอัลเจียพบว่า โรคดังกล่าวมักพบมากในผู้หญิงวัยทำงานมากกว่าผู้ชาย อัตราส่วนหญิงต่อชายอยู่ที่ 9:1 หรือประมาณ 87% เป็นผู้ป่วยเพศหญิง

ผู้ป่วยโรคไฟโบรมัยอัลเจีย จะเริ่มจากอาการปวดเพียงจุด ๆ เดียว ในระดับที่ไม่ปวดมากนัก ก่อนที่ความปวด จะทวีความรุนแรง และขยายไปสู่จุดอื่น ๆ ทำให้มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ฝืดตึงตามข้อต่าง ๆ และเป็นอาการเรื้อรัง ทำให้เครียด ส่งผลต่อการนอนหลับ

การวินิจฉัยเบื้องต้น

การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะสอบประวัติของความเจ็บปวด ที่เกิดขึ้นกับร่างกายทั้งส่วนบน และส่วนล่าง รวมถึงบริเวณสันหลัง จากนั้นจะดู 18 จุดปวดทั่วร่าง และกดด้วยแรงกดประมาณ 4 กิโลกรัม หากพบว่า มีความเจ็บปวดมาก ตั้งแต่ 11 จุดขึ้นไป ถือว่า ผู้นั้นเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจีย โดยที่หากเป็นความเจ็บปวด บริเวณที่ติดกันของกระดูก หรือกล้ามเนื้อ ไม่ถือเป็นภาวะโรคนี้

การรักษา

จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อบำบัดรักษาภาวะปวดเรื้อรัง ทำให้แผนการรักษาแบบองค์รวมเป็นสิ่งจำเป็น ผู้ป่วยจะได้รับยา เพื่อระงับความเจ็บปวด กลุ่มยากันชัก เพื่อรักษาไฟโบรมัยอัลเจีย การออกกำลังกายแบบแอโรบิค การรักษาทางใจ เพื่อลดอาการซึมเศร้า และข้อมูลเพื่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ตนเองเผชิญอยู่ ผู้ป่วยสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบและรักษาตัวได้เร็ว

สำหรับคนที่สงสัยว่า ตนเองจะเป็นโรคนี้อยู่หรือไม่ สามารถสังเกตได้ 2 ประการหลัก คือ ปวดเรื้อรังมา เป็นระยะเวลานานเกิน 3 เดือน และบริเวณที่ปวดนั้น เป็นทั่วร่างกาย โดยเป็นอาการปวด ที่เกิดขึ้นหลายจุดพร้อมกัน หากมีอาการข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

ที่มา
รศ. นพ. ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช

No comments:

Post a Comment