Search This Blog

Sunday, December 20, 2009

ใบหน้ากระตุก

ใบหน้า ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นปราการด่านแรกในการเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดี ดังนั้นทุกคนจึงพยายามดูแลรักษาใบหน้าของตนเอง ให้สดใสสวยงาม แต่หากใครบางคนมีใบหน้าอยู่ในสภาวะ “กระตุก” คงทำให้เกิดความรู้สึกขาดความมั่นใจไปเลย

อาการใบหน้ากระตุก ส่วนใหญ่มักเป็นข้างเดียว และส่วนที่กระตุก จะอยู่นอกเหนือการควบคุม บางครั้งก็เห็นได้ชัด บางครั้งมองไม่เห็น เพียงแค่เจ้าตัวรู้สึกเท่านั้น มีทั้งแบบที่เป็นชั่วคราวแล้วหายเอง และแบบที่เป็นถาวร พบได้ทั้งหญิงและชาย แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่า โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 40-70 ปี

ลักษณะของใบหน้ากระตุก คือ การที่กล้ามเนื้อ ที่ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง เกิดอาการกระตุกนอกเหนือการควบคุม โดยอาการแรกเริ่ม จะเริ่มจากการกระตุกของใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งเพียงเล็กน้อย ก่อนเริ่มจากที่เปลือกตาด้านล่างก่อน แล้วกระจายมาที่เปลือกตาด้านบน จากนั้นจะลามมาที่แก้ม และมุมปาก ในบางครั้งเป็นมากขึ้น อาจจะลามไปถึงคอได้ หรือในบางรายอาจจะไม่ได้เรียงลำดับการเกิดอย่างที่กล่าวมาก็ได้


ใบหน้ากระตุก เป็นโรคที่ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดแดงในสมอง บริเวณแถบก้านสมอง เกิดการคดงอ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น จึงทำให้หลอดเลือดมีการแข็งตัว หลอดเลือดที่คดงอนี้ จะไปสัมผัสกับเส้นประสาทที่มาควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบ หน้า ซึ่งเป็นเส้นประสาทสมอง คู่ที่ 7 ที่อยู่ติดกับก้านสมอง

เมื่อเส้นเลือดเต้นตามจังหวะหัวใจ หลอดเลือดจะกระแทกเส้นประสาทนี้ ทำให้เส้นประสาทส่งกระแสประสาทนอกเหนือการสั่งของสมอง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ในด้านนั้นเกิดอาการเขม่น กระตุกอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้

โรคนี้ไม่ได้ทำได้เกิดการเป็นอัมพาต และอัมพฤกษ์ รวมทั้งไม่ได้เป็นโรคอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่อาจจะทำให้ผู้ที่เป็นเกิดความรำคาญ เสียบุคลิก รบกวนการทำงานในชีวิตประจำวัน เมื่อมาตรวจ แพทย์จะซักประวัติ เพื่อแยกโรคใบหน้ากระตุกออกจากกลุ่มที่เป็นโรคนอกเหนือจาก หลอดเลือดที่ไปสัมผัส หรือกระตุ้นเส้นประสาทคู่ที่ 7 เช่น โรคเนื้องอกในสมอง โรคเนื้องอกบริเวณก้านสมอง โรคเปลือกตากระตุก หรือกล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น เพราะสาเหตุ และปัจจัยในการเกิดโรคแตกต่างกัน โดยเริ่มจากการให้ยาไปทาน ถ้าทานยาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ แพทย์จะทำการเอกซเรย์ เอ็ม อาร์ ไอ สมองเพื่อแยกโรค

สำหรับโรคที่คล้าย ๆ กัน ได้แก่ เปลือกตาเขม่น ซึ่งมีปัจจัยภายนอกกระตุ้นได้หลายปัจจัย เช่น ร่างกายอ่อนล้า เครียด มีภาวะการอดนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้ง การใช้สายตามากเกินไป ดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมากไป จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการได้ โดยโรคสามารถหายเองได้ เมื่อตัดปัจจัยกระตุ้น

การรักษาโรคใบหน้ากระตุก สามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกัน
  • เริ่มจากการรักษาด้วยยา โดยใช้ยาชนิดเดียว หรือหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งยาที่รักษาได้ผลดีจะเป็น กลุ่มยากันชัก รวมทั้งยากดการทำงานของเส้นประสาท เพื่อลดการส่งกระแสที่ผิดปกติ ซึ่งอาจจะมีฤทธิ์ข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ทำให้ง่วงนอนได้ ผู้ป่วยจะต้องทานยาไปเรื่อย ๆ เพื่อลดอาการจนกระทั่งดีขึ้น มีอาการใบหน้ากระตุกน้อยลง สำหรับปริมาณยาที่แพทย์จะให้กับผู้ป่วยนั้น จะเริ่มให้จากปริมาณน้อยก่อน จากนั้นจะเพิ่มยาขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงในระดับที่สามารถควบคุมโรคได้ หรือ บางรายอาจจะต้องเพิ่มยามากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป
  • การรักษาอีกวิธีหนึ่ง คือ การฉีดยาเฉพาะที่ เพื่อระงับการแพร่กระจายของกระแสประสาท ที่ไปสู่กล้ามเนื้อ เป็นการยับยั้งกล้ามเนื้อกระตุกชั่วคราว ซึ่งเป็นยาชนิดเดียวกันกับยาที่ฉีดให้หน้าตึง การฉีดยาลบรอยย่น หรือลดการเกร็งแขน ขา โดยระยะเวลาในการฉีด จะห่างกันประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งการฉีดในแต่ละครั้ง จะต้องฉีดหลายจุด ตามตำแหน่งที่มีการกระตุก การรักษาด้วยการฉีดยา มีข้อจำกัดอยู่ที่ หากมีการฉีดยามากเกินไป ก็อาจทำให้หน้าเบี้ยว หนังตาตกได้ รวมทั้งมีค่าใช้จ่าย ในการรักษาที่ค่อนข้างสูง
  • สุดท้ายของการรักษาโรคใบหน้ากระตุก คือ การผ่าตัดสมอง เป็นการรักษา เพื่อเขี่ยหลอดเลือดที่สัมผัสกับเส้นประสาทออก โดยจะทำการผ่าตัดที่บริเวณหลังใบหู การรักษาด้วยวิธีนี้ เป็นการแก้ไขที่ตรงจุด และถาวร แต่ผู้ป่วยที่เป็นมักรู้สึกไม่ดีกับการผ่าตัด และอาจมีความเสี่ยงเหมือนการผ่าตัดสมองทั่ว ๆ ไป เช่น มีเลือดออกหลังผ่าตัด แผลติดเชื้อ การได้ยินลดลง เพราะทำการผ่าตัดที่บริเวณใกล้เส้นประสาทหู โดยรวมอาการแทรกซ้อนพบได้ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม อัตราการหายขาดเป็นที่น่าพอใจมาก อยู่ที่ประมาณ 70-90 เปอร์เซ็นต์
การดูแลตัวเองสามารถทำได้ โดยหากพบว่าตนเองมีอาการในลักษณะ เช่นนี้ควรรีบพบแพทย์ ประการแรก คือ มี การเขม่นของใบหน้า หรือตา เป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 1-3 สัปดาห์ ประการต่อมา ใบหน้า ตา กระตุกหรือเขม่น ร่วมกับอาการผิดปกติทางระบบประสาทอื่น ๆ เช่น หนังตาบน หนังตาล่าง แก้ม ใบหน้าชา หรือแสบ ใบหน้าเบี้ยว หนังตาตก ใบหน้าเคลื่อนไหวผิดปกติ บิดเบี้ยว รวมทั้งมีการกระตุกของส่วนอื่นในร่างกายร่วมด้วย ตลอดจนอาการที่มีลักษณะเปลือกตาปิดสนิท เมื่อมีอาการตาเขม่น รวมทั้ง ใบหน้า หรือตากระตุก หรือเขม่น ร่วมกับตาบวมแดง


ถ้ามีอาการใบหน้ากระตุกอย่าตกใจ ต้องทำการแยกโรคก่อนเป็นลำดับแรก ว่าเราจัดอยู่ในกลุ่มโรคใด เพื่อจะได้รักษาอย่างถูกต้อง แม้จะเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษา อาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ป่วยได้ แม้ไม่ใช่โรคที่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการแพทย์ในปัจจุบันสามารถรักษาได้ โดยที่ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้หลังจากการรักษา.


ที่มา
พันเอก นายแพทย์ สิรรุจน์ สกุลณะมรรคา
ประสาทศัลยแพทย์ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ

No comments:

Post a Comment