Search This Blog

Tuesday, December 29, 2009

สบู่ในห้องน้ำสาธารณะ

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่า จะระบาดอีกเป็นระลอกสอง โดยทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีโครงการรณรงค์ ให้คนไทยรู้จักป้องกันโรคดังกล่าว ด้วยสโลแกนที่จดจำง่ายอย่าง “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย”

อย่างไรก็ตาม ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่รีบเร่ง จนบางครั้งอาจไม่ยั้งคิดว่า เรื่องใกล้ตัวอย่างการล้างมือด้วยสบู่ในห้องสาธารณะ ทั้งในร้านอาหาร ฟิตเนส อาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยอาริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สบู่ชนิดกล่องเปิดฝาแบบเติม มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ถึง 25%

งานวิจัยครั้งนี้ มุ่งวิเคราะห์หาเชื้อปนเปื้อน ที่แฝงอยู่ในสบู่ ที่ตาคนเรามองไม่เห็น โดยได้มีการเก็บตัวอย่างสบู่ จำนวน 541 ตัวอย่าง ทั้งที่เป็นสบู่เหลวแบบเติม และสบู่เหลวแบบบรรจุภัณฑ์ปิด (เมื่อใช้น้ำยาหมดแล้วทิ้ง) พบว่า
สบู่แบบเติม 133 ตัวอย่าง หรือ 25% มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน และ 65% ของเชื้อที่พบ คือ เชื้อโคลิฟอร์ม ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ พบมากในสิ่งปฏิกูลของสัตว์เลือดอุ่น ที่มีโอกาสส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขอนามัยของผู้ใช้ ทั้งในระบบทางเดินหายใจ กระแสโลหิต ระบบปัสสาวะ และการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง ซึ่งสิ่งปนเปื้อนเหล่านี้ เกิดขึ้นขณะที่มีการเปิดฝากล่องเพื่อเติมสบู่นั่นเอง

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจในการศึกษาในครั้งนี้ ก็คือ สบู่เหลวที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบปิด (เมื่อใช้น้ำยาหมดแล้วทิ้ง) กลับไม่พบเชื้อแบคทีเรียเลย

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว เราจึงควรหันมาใส่ใจในการล้างมือในที่สาธารณะให้มากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น การล้างมือเพื่อรักษาความสะอาด สร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี จะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการสะสมเชื้อโรคไปแบบไม่รู้ตัว

นอกจากการล้างมือด้วยสบู่เหลวแล้ว จากการวิจัยของ American Journal of Preventive Medicine 2001 พบว่า
การล้างมือ และเช็ดมืออย่างถูกวิธี อย่างน้อย 5 ครั้งต่อวัน ก็สามารถลดโอกาสติดเชื้อหวัดได้ถึง 45% การใช้กระดาษเช็ดมือทุกครั้ง หลังการล้างมือ ยังสามารถช่วยให้แบคทีเรียลดลงถึง 58%

ในขณะที่ การใช้เครื่องเป่าลมร้อน พบว่า แบคทีเรียในมือเพิ่มขึ้น 255% อีกด้วย


No comments:

Post a Comment