Search This Blog

Monday, December 21, 2009

น้ำตาเทียม

โดยปกติน้ำตาตามธรรมชาติของคนเรา สามารถให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาเพียงพออยู่แล้ว แต่ในบางกรณี ที่ทำให้ความชุ่มชื้นของดวงตาน้อยกว่าปกติ อาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียม เพื่อช่วยหล่อลื่น และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา

คุณประโยชน์ของน้ำตาเทียม


"น้ำตาเทียม" จะมีประโยชน์ สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติ ในการสร้างน้ำตาตามธรรมชาติ ทำให้มีน้ำตาน้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยบางรายที่ปิดตาได้ไม่สนิท ผู้ที่มีความผิดปกติของเยื่อบุตา หรือกระจกตา ผู้ที่มีอาการตาแห้ง อาจเนื่องมาจากความเครียด ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุ 50% ของผู้ป่วยที่มีตาแห้ง ในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้น้ำตาระเหยง่าย เช่น แสงแดดจัด ร้อนจัด ลมแรง ความชื้นต่ำ เช่น ในห้องปรับอากาศ หรือมีสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ เช่น ฝุ่นละออง เขม่าควัน การใช้คอนแท็กเลนส์ รวมทั้งการใช้สายตาเป็นเวลานาน ๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์

น้ำตาเทียมจะช่วยหล่อลื่นดวงตา และเพิ่มความชุ่มชื้นแก่กระจกตา และเยื่อบุตาขาว เพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง ซึ่งจะมีอาการแสบตา เคืองตา รู้สึกว่าตาแห้งฝืด บางครั้งมีขี้ตาเป็นเส้น ๆ เมือก ๆ ทำให้ลืมตายาก อาการมักเป็นมากในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ หากมีอาการเรื้อรัง ขี้ตาเป็นเมือก ติดแน่นที่กระจกตา ทำให้ผิวตาดำไม่เรียบ ติดเชื้อง่าย จะทำให้เกิดแผล หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี จะทำให้แผลอักเสบถึงขั้นตาบอดได้

ลักษณะของน้ำตาเทียม

น้ำตาเทียมเป็นสารสังเคราะห์ ที่ผลิตขึ้นโดยให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด มีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้
  • ส่วนผสมที่ช่วยเพิ่มความหนืด เพื่อให้ฉาบอยู่บนกระจกตาได้นานขึ้น แต่หากเป็นน้ำตาเทียม ที่มีความหนืดมาก ระยะเวลาที่น้ำตาเทียมฉาบอยู่บนกระจกตานาน ๆ อาจทำให้มีอาการตามัว มองไม่ชัดหลังหยอดตาในระยะแรก
  • สารกันเสีย ช่วยให้น้ำตาเทียม คงสภาพอยู่ได้นาน และป้องกันการเติบโตของเชื้อโรค ที่อาจปนเปื้อนเข้าไป ขณะหยอดตา ทำให้สามารถเก็บได้นาน ประมาณ 1 เดือนหลังจากเปิดขวด
  • ส่วนผสมที่ช่วยปรับสมดุลขององค์ประกอบอื่น ๆ ในน้ำตาเทียม ปรับความเป็นกรดด่างให้พอเหมาะ ไม่แสบตาเวลาหยอด และช่วยคงสภาพของน้ำตาเทียม
  • ส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อให้น้ำตาเทียม มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด เช่น ไกลซีน แมกนีเซียมคลอไรด์ โซเดียมคลอไรด์ แคลเซียมคลอไรด์ โซเดียมบอเรต และซิงค์

ปรเภทของน้ำตาเทียม
มีอยู่ 2 ประเภท คือ
  • น้ำตาเทียมที่ใส่สารกันเสีย จะบรรจุในขวดใหญ่ ประมาณ 3 - 15 ซีซี สามารถใช้ได้นานประมาณ 1 เดือนหลังจากเปิดขวด มีข้อเสีย คือ สารกันเสีย อาจทำให้เกิดการแพ้ระคายเคืองต่อเยื่อบุตา หรือเกิดการปนเปื้อนในกรณีที่เก็บไว้นาน ๆ
  • น้ำตาเทียมที่ไม่ใส่สารกันเสีย จะบรรจุในหลอดเล็ก ๆ หลอดละ 0.3 - 0.9 ซีซี มีตั้งแต่ 20 - 60 หลอดต่อ 1 กล่อง แต่ละหลอด เมื่อเปิดใช้แล้ว ต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง ข้อดี คือ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพ้เลย แต่จะมีราคาสูงกว่า

ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำตาเทียมโดยใช้สารกันเสีย ที่สามารถสลายตัวได้เอง เมื่อถูกแสงแดด กลายเป็นเกลือ ที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อเยื่อบุตา

การเก็บรักษา

ควรเก็บน้ำตาเทียมไว้ที่อุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส แต่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน หากเก็บไว้นอกห้อง ที่มีเครื่องปรับอากาศ ก็ควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำตาเทียม และไม่ควรใช้หลังจากหมดอายุที่ระบุไว้บนกล่อง

การเลือกใช้น้ำตาเทียม

การเลือกใช้น้ำตาเทียมนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น ผู้ที่มีอาการตาแห้งธรรมดาโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ผู้ที่ใส่คอนแท็กเลนส์ สัมผัสกับแสงแดด ลมแรง หรือใช้สายตานาน ๆ ก็สามารถเลือกใช้น้ำตาเทียมชนิดขวดใหญ่ ที่มีสารกันเสียก่อนได้ หรือในบางราย เพียงแค่ปรับสภาพแวดล้อม หรือปรับพฤติกรรมตัวเองให้ดี อาการตาแห้งที่เป็นอยู่ ก็อาจดีขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียม

แต่หากมีอาการตาแห้งรุนแรง ต้องหยอดน้ำตาเทียมมากกว่า 4 ครั้งต่อวัน เป็นเวลานาน ๆ หรือผู้ที่มีโรคของผิวกระจกตา เซลล์ของผิวกระจกตาไม่สมบูรณ์ หรือมีประวัติแพ้สารกันเสีย ก็ควรใช้น้ำตาเทียมหลอดเล็ก ๆ ชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย

เราสามารถใช้น้ำตาเทียมได้บ่อยครั้ง โดยไม่มีผลแทรกซ้อน ยกเว้นกรณีแพ้สารกันเสีย แต่การใช้น้ำตาเทียม ก็ควรพิจารณาถึงความจำเป็นว่า มีปัญหาของน้ำตามากน้อยเพียงใด จะได้ไม่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น และหากมีอาการตาแห้ง ควรไปตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์อย่างละเอียด ไม่ควรซื้อน้ำตาเทียมมาใช้เอง เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่หาสาเหตุที่แท้จริง

No comments:

Post a Comment