Search This Blog

Monday, December 14, 2009

ผลข้างเคียงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ที่คุณไม่เคยทราบ)

คุณเคยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบ้างหรือไม่??? และถ้าเคยคุณเคยทราบถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่อสุขภาพบ้างหรือไม่?? ขอเวลา 5 นาทีกับบทความนี้ แล้วลองมาดูกันว่า ผลข้างเคียงของผลิตภัณฑ์บางประเภทต่อสุขภาพที่คุณอาจเคยใช้ อยากใช้ คิดจะใช้ เป็นเช่นไรบ้าง นั่นคือ "สิทธิผู้บริโภค" ที่เราควรได้รับรู้ทุกแง่มุมของสิ่งที่คิดจะรับประทาน

วิตามิน ซี ( Ascorbic acid )
หากได้รับ วิตามิน ซี ในปริมาณสูง 1-3 กรัมต่อวัน ติดต่อกันหลายวัน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ การได้รับวิตามินซีในปริมาณสูง เพื่อหวังเสริมภูมิต้านทานและป้องกันโรค ยังไม่มีผลการวิจัยยืนยันที่ถือเป็นข้อสรุปได้ว่า ทำได้จริงหรือไม่! ผลการวิจัยในหลอดทดลอง พบว่า วิตามิน ซี อาจทำให้ดีเอ็นเอในเซลล์เป็นอันตรายได้อีกต่างหาก

วิตามิน อี (Tocopherols)
ประโยชน์ของ วิตามินอี ยังไม่พบแน่ชัด แต่ก็ไม่มีพิษ หากรับประทานไม่เกิน 1000 หน่วยสากลต่อวัน ภาวะการขาดวิตามินอี ยังไม่พบในคนสุขภาพปกติ เพราะวิตามินอี มีมากในอาหารที่คนรับประทาน จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินอี เสริม


วิตามินเอ และ เบต้าแคโรทีน
การบริโภควิตามินเอบางชนิดในรูปอาหารเสริม อาจทำให้ได้รับในปริมาณสูงเกินไป เสี่ยงต่อการเกิดพิษในร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามข้อ ตับทำงานมากขึ้น ในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติ และมีรายงานว่า การรับประทาน วิตามิน เอ เสริม อาจทำให้กระดูกบางลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก มีรายงานการวิจัยขนาดใหญ่ในฟินแลนด์พบว่า การใช้เบต้าแคโรทีน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด
ซีลีเนียม (Selenium)
ไม่ควรรับประทาน ซีลีเนียม เกินกว่า 400 ไมโครกรัม/วัน อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เรายังไม่มีข้อมูลมากพอจะบอกว่า ปริมาณซีลีเนียมเท่าไร จึงจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้
สังกะสี ( Zinc )
การได้รับ ธาตุสังกะสี ในปริมาณสูง (ประมาณ 25 มิลลิกรัม) สามารถขัดขวางการดูดซึมทองแดง
แคลเซียม (Calcium )
การได้รับ แคลเซียม เกินขนาด อาจทำให้คลื่นไส้ ท้องผูก เฉื่อยชา และอาจสะสม ทำให้เกิดนิ่วได้ ธาตุแคลเซียมปริมาณสูง อาจยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก และสังกะสี
ซุปไก่สกัด
มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงแค่ไข่ไก่ เพียงครึ่งฟอง การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ต้ม หรือตุ๋นในระยะเวลานาน ทำให้ได้รับสารก่อมะเร็ง กลุ่มเฮ็ตเตอโรไซคลิก อะโรเมติกเอมีน มากกว่าปกติ และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลายอวัยวะ
โปรตีน (Protein)
การรับประทานอาหารโปรตีนสูงมาก ๆ ร่างกายจะไม่ได้นำโปรตีนไปสร้างกล้ามเนื้อ แต่จะกำจัดออก เป็นการเพิ่มภาระให้กับตับ และไต ที่ต้องทำงานหนักขึ้น สำหรับคนที่ลดน้ำหนัก โดยการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนสูง อาจเสี่ยงต่อภาวะโรคหัวใจ
สาหร่ายสไปรูไลน่า
ระวังภาวะเสี่ยงที่สาหร่ายอาจปนเปื้อนสารโลหะหนัก และสารพิษอื่น ๆ จากน้ำ ที่เพาะเลี้ยง มีปริมาณกรดนิวคลิอีกสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเก๊าท์
รังนก
คุณค่าทางโภชนาการต่ำ แต่มีราคาสูง ได้ประโยชน์ต่อร่างกายไม่คุ้มค่าเงิน และไม่เคยมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า กินแล้วทำให้ผิวพรรณอ่อนวัยจริงหรือเปล่า?
การ์ซีเนีย (Garcinia)
ไม่มีหลักฐานการวิจัย ที่ยืนยันชัดเจนว่า HCA สามารถช่วยลดน้ำหนักได้
น้ำมันปลา ( Fish oil )
ในการทดลองพบว่า ผลเสียจากการรับประทานน้ำมันปลา คือ เกิดเลือดกำเดาไหลไม่หยุด อาจทำให้เกิดสภาวะขาดวิตามินอีได้ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อสารพิษตกค้าง เนื่องจากภาวะมลพิษทางทะเล ในถิ่นที่ปลาซึ่งเป็นวัตถุดิบอาศัยอยู่ และขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร หากจะบริโภคเพื่อการรักษา ต้องรับประทานในปริมาณสูงมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อร่างกาย
อีฟนิ่ง พริมโรส (EPO)
มีรายงานผลข้างเคียงในผู้ป่วยโรคลมชัก
เลซิทิน (Lecithin)
คนปกติมักไม่ขาดเลซิติน การบริโภคในปริมาณสูง อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเสีย เลซิติน สกัดจากพืชดีกว่าในสัตว์ เพราะเลซิตินจากพืชมีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หากซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เลซิตินจากแหล่งวัตถุดิบที่เป็นสัตว์ อาจได้รับกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง ยิ่งทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับโคเลสเตอรอล
ใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba)
มีรายงานการวิจัยที่ขัดแย้งกัน ในเรื่องการรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อม จึงยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องของฤทธิ์ข้างเคียงของแปะก๊วย ในผู้ใช้บางราย คือ อาการปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน เกิดภาวะแทรกซ้อน เลือดไหลไม่หยุดในขณะผ่าตัดในรายของผู้ป่วย ที่รับประทานแปะก๊วยควบคู่ไปกับการรักษาโรคแผนปัจจุบัน
หัวบุก
หากรับประทาน "กลูโคแมนแนน" ชนิดเม็ด ต้องดื่มน้ำตามให้มาก ๆ มิฉะนั้น จะเกิดเจลอุดตันในทางเดินอาหาร ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้ การรับประทานอาหารไฟเบอร์ติดต่อกันนาน ๆ ส่งผล ให้เกิดภาวะการขาดสารอาหารในร่างกายได้ และไม่มีรายงานว่า สามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งในลำไส้ใหญ่
มะขามแขก (Senna)
ในการระบายของเสีย ร่างกายจะสูญเสียน้ำออกไป ไม่ใช่ไขมัน ดังนั้น น้ำหนักที่ลดลง คือ น้ำที่หายไป หลังจากดื่มน้ำกลับเข้าไป ร่างกายจะกลับมาน้ำหนักเท่าเดิม การใช้ยาระบายติดต่อกันเป็นประจำ จะมีอันตรายทำให้ลำไส้บีบตัวเองไม่เป็น เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง
กระเทียมอัดเม็ด
ผลการวิจัยในระยะหลัง พบว่า สารสกัดจากกระเทียม ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ค่อยมีผลต่อการลดระดับของโคเลสเตอรอล หรือมีก็ในระดับที่น้อยมาก เนื่องจาก ปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดถูกควบคุมด้วยปัจจัยมากกว่าหนึ่งปัจจัย เกิดกลุ่มรณรงค์ในอเมริกายื่นคำร้องให้ อย. ของสหรัฐฯ สั่งห้ามบริษัทอาหารเสริมโฆษณาสรรพคุณของกระเทียมอัดเม็ดว่า ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลได้ และช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง

No comments:

Post a Comment