Search This Blog

Friday, December 18, 2009

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

ปวดเมื่อยเนื้อตัวทั่วไป นอนนวดประคบประหมงสักพัก ก็หายเป็นปลิดทิ้ง ถ้าหากปวดเป็นประจำย้ำด้วยอาการขาชาแขนชา รีบไปหาแพทย์เชี่ยวชาญด้านกระดูกดีกว่า

พออายุมากขึ้น อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวเริ่มถามหา บางคนอาจคิดว่า อาการปวดเกิดมาจากความเสื่อมตามวัยที่ร่วงโรย แต่แท้จริงแล้ว "การปวดหลัง" เป็นเวลานาน ๆ อาจแฝงมาด้วยภัยเงียบ ที่เปราะถึงแกนกระดูก เมื่อกระดูกสันหลังอ่อนแอ เคลื่อนตัว นำมาสู่โรคยอดฮิตขณะก้าวเข้าสู่วัยกลางคน

"โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน" เกิดจากใช้งานของหลัง ที่ผิดประเภท ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ ในวัย 45 ปีขึ้นไป จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ ความเสื่อมของกระดูกเอง และการอ่อนแอของกระดูกสันหลังมาตั้งแต่เกิด


อาการของโรคกระดูกเคลื่อน

มักพบในผู้หญิงมากกว่าชาย อาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อของผู้หญิงไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย ภาวะการเคลื่อนของกระดูก เริ่มตั้งแต่หมอนรองกระดูกเสื่อม ทำให้ข้อต่อมีแรงกดเยอะขึ้น จากนั้นกระดูกก็จะค่อย ๆ เคลื่อนออกจากกันในที่สุด

โรคนี้พบบ่อย แต่เป็นโรคที่ซ่อนอยู่ บางคนมาพบแพทย์ด้วยอาการ "ปวดหลัง" พอได้ตรวจ จึงได้รู้ว่ากระดูกอ่อนแอ เราสามารถยืนยัน แนวการเคลื่อนของกระดูกได้จากฟิล์มเอ็กซ์เรย์ช่วยวินิจฉัย

กระดูกสันหลัง เป็นส่วนที่รับน้ำหนักมากที่สุด โดยมีหมอนรองกระดูก และข้อต่อของกระดูกสันหลัง 2 อันทำหน้าที่ยึด ถ้าหากมีแรงกระทำเกิดขึ้น มีส่วนให้รอยเชื่อมฉีกขาด กระดูกสันหลังจะเคลื่อนในที่สุด

อาการของโรคที่พบชัดเจนส่วนใหญ่ "เกิดการชาในตำแหน่งที่เส้นประสาทถูกกดทับ" และเป็นหนักขึ้นเวลาเดินต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ อาการที่แสดงออกชัดเจน คือ ปวดหลัง และเมื่อกระดูกเสียดสีจากการเคลื่อนจะเกิดอาการชา ก่อปัญหากับระบบขับถ่าย เมื่อเส้นประสาทตามมา


กระดูกสันหลังคนเราแต่ละส่วน มีลักษณะเป็นข้อ ๆ ในแต่ละข้อมีเส้นประสาท ที่ทำหน้าที่ควบคุมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตามหลักที่ถูกต้อง ความสมดุลระหว่างความแข็งแรงของกระดูกสันหลังกับกล้ามเนื้อ จะต้องสัมพันธ์กัน หากนั่งผิดท่า ยกของหนัก หรือออกกำลังกายท่ากระโดดเป็นประจำ อาจมีผลทำให้แนวของแรงไปกระทำต่อกระดูกสันหลังบางส่วนผิดปกติไป ประกอบกับผู้ที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ไม่ได้ออกกำลังกาย คงมีโอกาสพบกับอาการข้อเสื่อมเร็วขึ้น

อาการของคนไข้ที่มาพบ ค่อนข้างจะตรงไปตรงมา กระดูกเสื่อมก็จะมาด้วยอาการปวดหลัง แต่เมื่อมีแรงกดมากขึ้น เริ่มมีอาการปวดตาม แนวของเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับ หากเส้นประสาทรับความรู้สึกถูกกดทับ กล้ามเนื้อที่เส้นประสาทความคุมอยู่ก็จะเกิดอาการชาให้เห็น

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้น จากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นภายนอก เช่น กล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรงเรียงตัวอยู่แนวเส้นประสาทใด กระดูกข้อไหน เช่น หากพบอาการปวดชาไปด้านนอกของขา คาดการณ์ได้ว่าน่าจะเป็นกระดูกข้อที่ 5 ส่วนอาการปวดด้านในของขา กระดูกสันหลังส่วนคอ ปวดร้าวไปที่แขน ปวดเอวร้าวไปที่ขา อาการที่พบเหล่านี้เกิดจากการเคลื่อนของกระดูก ในตำแหน่งที่ต่างกันไป

โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการคนไข้เป็นหลัก ด้วยวิธีการฉายรังสี หรือเอ็กซ์เรย์ ในท่าก้ม กับท่าแอ่นตัว เพื่อดูความผิดปกติ ซึ่งจะยืนยันได้ว่า กระดูกเคลื่อนหรือไม่ ขณะที่การทำเอ็กซ์เรย์แม่เหล็ก จะสามารถบ่งบอกถึงแรงกดทับของเส้นประสาท กระดูกสันหลังได้ชัดเจนขึ้น

การผ่าตัดไม่ได้แปลว่าภาวะกระดูกเคลื่อนจะหายขาด เพราะมีโอกาสกลับมาเป็นอีกในข้อต่อกระดูกตำแหน่งอื่น ๆ ต้องยอมรับก่อนว่า กระดูกเคลื่อนไปแล้ว แต่จะเคลื่อนรุนแรงถึงขนาดที่ต้องผ่าตัดไหม อาจจะไม่ คนไข้อาจจะใช้ชีวิตอยู่กับกระดูกสันหลังเคลื่อนต่อไปได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด ถ้าคนไข้มาด้วยปัญหาแค่ปวดอย่างเดียว แพทย์จะแนะนำว่าทนปวดได้ไหม ถ้าทนได้อาการปวดไม่รุนแรงมาก ไม่มีผลต่อชีวิตประจำวันมากนัก แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยยาแก้ปวด และกายภาพบำบัด เพื่อดูว่าอาการทุเลาลงหรือไม่ โดยยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การทำกายภาพบำบัด จะช่วยให้อาการปวดดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องผ่าตัด

สำหรับข้อควรระวังในการใช้หลังง่าย ๆ

การปรับสมดุล ให้แรงกระทำกับกระดูกสันหลังบาลานซ์กัน แรงกระทำที่ว่านี้ คือ การใช้งานหลัง เช่น การยกของ แบกหาม ขณะที่แรงพยุง คือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ น้ำหนักตัว ซึ่งต้องพยายามทำให้ทั้ง 2 แรง เกิดความสมดุล โดยลดแรงกระทำ และเพิ่มแรงพยุงเข้าไป ไม่ให้กระดูกสันหลัง ต้องรับโหลดมากเกินไป ถ้าหากแรงกระทำมากกว่าแรงพยุง แรงที่กดลงไปที่กระดูกมาก และจะเกิดอาการปวด ถ้าคนไข้เพิ่มแรงพยุงให้มากกว่าแรงกระทำได้ อาการปวดก็จะลดน้อยลงได้

สำหรับท่าออกกำลังกายที่ดีที่สุด สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกเคลื่อน คือ การออกกำลังกาย ที่ไม่มีแรงกระแทก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินสายพาน ช่วยเพิ่มแรงพยุง โดยละเว้นกิจกรรมที่มีแรงกระแทก เช่น การออกกำลังด้วยท่ากระโดด วิ่งสปริงตัว ขณะเล่นบาสเกตบอล ท่าออกกำลังกายประเภทนี้ ถือว่าเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกเคลื่อน

การรักษาโดยการผ่าตัด

กรณีของผู้ที่น้ำหนักตัวมากอยู่แล้ว หรือเป็นโรคอ้วน เมื่อกระดูกถูกกดทับเยอะแล้ว จำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อดึงกระดูกไม่ให้เส้นประสาทถูกกดทับไปมากกว่านี้ เพราะหากเกิดการกดทับเป็นเวลานาน ๆ เส้นประสาทมีโอกาสเสียถาวร

ดังนั้น ถ้าคนไข้เริ่มมีอาการเส้นประสาทกดทับ แพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดทันทีก่อนที่เส้นประสาทจะเสียไป และไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ใหม่อีก

การผ่าตัดจะผ่าเอากระดูกส่วนที่กดโดนเส้นประสาทออก ก่อนที่จะเอาเหล็กใส่เข้าไปในกระดูกสันหลัง 2 ข้าง เพื่อยืดเอาไว้ ไม่ให้กระดูกเคลื่อน ในอดีตแผลผ่าตัดใหญ่กระดูกเคลื่อน มีลักษณะค่อนข้างใหญ่ ประมาณ 1 คืบ เนื่องจากต้องเปิดบาดแผลใส่อุปกรณ์ช่วยผ่าตัด แต่ปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดได้ถูกพัฒนาขึ้น จนกระทั่งสามารถผ่าตัดแบบแผลเล็ก 3-4 เซนติเมตร แผลหายไว และฟื้นตัวได้เร็วกว่าปกติ


ที่มา
นพ. ธีรชัย ผาณิตพงศ์
ศัลยแพทย์ศูนย์ระบบประสาทไขสันหลัง

1 comment:

  1. วันนี้คุณแม่ไปหาหมอมาค่ะ แล้วผลก็ออกมาว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน อาจจะต้องผ่าตัด คุณแม่ท่านกังวลกลัวว่าตัวเองจะเป็นอัมพาต

    ReplyDelete