Search This Blog

Tuesday, February 16, 2010

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis)

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ มักเริ่มพบในวัยเด็ก โดยพบประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวได้ถึง ร้อยละ 70 เช่น ประวัติว่าพ่อแม่เป็นหืดหอบ ลมพิษ หรือน้ำมูกไหล เพราะแพ้อากาศ

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เป็น ๆ หาย ๆ พบบ่อยในเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน กล่าวคือ ผู้ป่วยมักมีประวัติเยื่อบุตาอักเสบ แพ้อากาศ ไอ จามบ่อย ๆ หรือหอบหืด โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง เช่น ตอนเช้ามืด คนในครอบครัวผู้ป่วย มักมีประวัติโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุต่าง ๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ แพ้อากาศ ไอจามบ่อย ๆ หอบหืด หรือผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ไม่ได้เกิดจากการแพ้อาหาร หรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เกิดจากผิวหนังของผู้ป่วยไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งสภาพร้อน เย็น แห้ง ชื้น เชื้อโรค และสารเคมีที่ระคายผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวเลย ก็เป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ในยีนของครอบครัวผู้ป่วย โดยไม่เกิดอาการก็ได้

โรคนี้แบ่งลักษณะตามช่วงอายุได้เป็น 3 ช่วง

  1. ช่วงวัยทารก เริ่มมีอาการคัน และผื่นขึ้น ตั้งแต่อายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ อาการคันอาจเป็นมากจนเด็กอายุถึง 2 ขวบ พบเป็นผื่นที่แก้มทั้ง 2 ข้าง หรือตามด้านนอกของแขน ขา ลำตัว ผื่นคันอาจเห่อขึ้นเมื่อเด็กฉีดวัคซีน เมื่อเด็กมีอาการผื่นคันอยู่แล้ว จึงต้องระมัดระวังในการฉีดวัคซีน หรือควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน
  2. ช่วงวัยเด็ก ผื่นผิวหนังในช่วงวัยเด็ก มักเป็นตาม ข้อแขน ข้อพับ และขา ผื่นจะแดง คลำดูได้หนากว่าปกติ อาการคันอาจเป็นรุนแรงมาก จึงทำให้เด็กหงุดหงิดรำคาญ
  3. ช่วงวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ พบว่า โรคผิวหนังภูมิแพ้ในวัยทารก และวัยเด็กอาจหายไปเองใน 2-3 ปี แต่กลับมากำเริบอีกครั้ง ในวัยรุ่น อาจมีอาการคันอย่างมาก อาการคันมักกำเริบตอนกลางคืน ผื่นคันมักเป็นตามข้อพับ แขน ขา ใบหน้า หัวไหล่ และด้านบน

อาการและลักษณะของผื่นแพ้

  1. ผื่นผิวหนังอักเสบในโรคนี้ อาการคันมาก ลักษณะเป็นผื่นแดง หรือมีตุ่มแดงนูน ตุ่มน้ำใส ซึ่งเมื่อแตกออกเป็นน้ำเหลืองไหลเยิ้มแล้วกลายเป็นสะเก็ดแข็ง ถ้าผื่นนี้เป็นมานาน เข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะพบเป็นแผ่นหนาแข็ง มีขุย ตำแหน่งที่พบผื่นแตกต่างกันได้ตามวัยของผู้ป่วยในเด็กเล็ก ช่วงขวบปีแรก ผื่นผิวหนังอักเสบ จะพบมากบริเวณใบหน้า ศีรษะ เด็กมักจะเอาแก้ม หรือศีรษะถูกไถกับหมอน ผ้า ที่นอน เพราะผื่นคันมาก
  2. ในเด็กวัยเรียน และผู้ใหญ่ ผื่นผิวหนังอักเสบ พบมากในบริเวณ ข้อพับแขน ข้อพับขา คอ ใบหน้า และผิวหนังตำแหน่ง ที่มีการเสียดสี แต่ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นเกิดทั่วร่างกายได้
  3. โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นโรคที่มีผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ในเด็กทารกมักเป็นผื่นคันที่แก้ม รอบปาก หนังศีรษะ ซอกคอ เด็กที่โตขึ้นจะมีผื่นตามข้อพับ แขนขา หรือบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย ๆ เช่น ข้อศอก เข่า อาการที่สำคัญคือ “คันมาก” ผื่นจะกำเริบมากขึ้น เมื่อผิวแห้ง หรือมีเหงื่อออกมาก ยุงกัด อาการคันทำให้ผู้ป่วยเกา ส่งเสริมให้ผื่นลามกว้างขึ้น และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ผื่นกำเริบมากขึ้น
  1. สภาวะแวดล้อม เช่น สภาวะที่มีละอองเกสร ขนสัตว์ ไรฝุ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น
  2. เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา อาจแทรกซ้อน ทำให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนังของผู้ป่วย ผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิม จะกำเริบมากขึ้น  กรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
  3. ฤดูกาล ผื่นผิวหนังอักเสบ มักมีอาการมากขึ้น ในช่วงฤดูหนาว เพราะความชื้นในอากาศต่ำ อากาศแห้ง เย็น ทำให้ผิวหนังผู้ป่วยคันและเป็นผื่น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศที่ร้อน ทำให้เหงื่อออกมาก เกิดอาการคัน และเกิดผื่นเช่นเดียวกับในฤดูหนาว
  4. เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องประดับที่มีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์ จะทำให้เกิดการคันเพิ่มเติม
  5. สบู่ ครีม โลชั่น และผงซักฟอกที่ใช้เป็นประจำ สารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ละลายไขมัน หรือ/และอาจมีส่วนประกอบ ที่ก่ออาการระคายเคืองแก่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน และเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ง่าย
  6. อาหาร ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 10 พบว่า อาหารบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นแย่ลง มักพบในผู้ป่วยเด็ก เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์บางประเภท
  7. จิตใจที่วิตกกังวล ความเครียดก็สามารถทำให้โรคกำเริบได้
การวินิจฉัย
  1. การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ อาศัยประวัติที่ผู้ป่วยมีอาการคันตามตัว เป็นผื่นผิวหนังอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณข้อพับต่าง ๆ
  2. การทดสอบว่าผู้ป่วยแพ้อะไร เช่น การสะกิดฉีด หรือแปะยา ทดสอบใต้ผิวหนัง หรือใช้วิธีการเจาะเลือดตรวจว่าผู้ป่วยแพ้อะไร  ช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุของการแพ้ สารก่อภูมิแพ้ ที่พบบ่อยว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบมีหลายชนิด
  3. ผู้ป่วยและญาติควรสังเกตตัวเองว่า เมื่อสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมชนิดใดแล้ว ทำให้ผิวหนังอักเสบเห่อขึ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมเหล่านั้น
การรักษา
  1. หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น ไม่อยู่ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิเย็น หรือร้อนจัด และควรหลีกเลี่ยงภาวะ ที่ทำให้เหงื่อออกมาก
  2. รับประทานยาต้านฮิสตามีน ลดอาการคัด เมื่อมีอาการคันควรรับประทานยาต้านฮิสตามีน วันละ 2-3 ครั้งติดต่อ เว้น 5-7 วัน เพื่อลดอาการคัน เพราะอาการคัด ทำให้ผู้ป่วยต้องแกะเกาผิวหนัง ผื่นผิวหนังที่อักเสบจะกำเริบขึ้นได้ ยากลุ่มนี้ ได้แก่ คลอเฟนนิลามีน สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ข้อที่ควรระวัง คือ ยานี้มีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงนอน
  3. ยาทากลุ่มสเตรียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยานาน อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง
  4. กรณีที่มีตุ่มหนองเกิดแทรกซ้อนบนตุ่ม หรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

วิธีทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น
  1. ไม่ควรอาบน้ำอุ่นจัด หรืออาบน้ำบ่อยเกินไป
  2. ไม่ควรฟอกสบู่บ่อย ๆ โดยเข้าใจผิดคิดว่า อาการคัน เกิดจากความสกปรกของผิวหนัง การถูสบู่มาก ๆ ทำให้ผิวระคาย และแห้ง  กลับทำให้เป็นผื่นมากขึ้นอีก สบู่ที่เลือกใช้ ไม่ควรเป็นกรดหรือด่างจนเกินไป ไม่มีสี หรือน้ำหอมเจือปน
  3. ใช้สารเคลือบผิว (Emollients) ผสมน้ำแช่อาบ หรือ ทาผิวหนังทันทีหลังอาบน้ำ และใช้ครีม Moisturizer หรือ โลชั่นทาเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังบ่อย ๆ

วิธีลดอาการคัน
  1. การลดอาการคัน เพื่อลดการเกา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผื่นลุกลามขึ้น
  2. อย่าใช้เสื้อผ้าที่ระคายง่าย อับร้อน ควรใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ และควรซักล้างผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่มออกให้หมด
  3. ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมอากาศที่สบาย ไม่ร้อน หรือหนาวจนเกินไป
  4. ไม่ควรใช้น้ำหอม สเปรย์ และหลีกเลี่ยงขนสัตว์ ฝุ่น ควันบุหรี่
  5. อย่าออกกำลังกายมาก ขณะที่มีผื่นกำเริบ เพราะจะทำให้เหงื่อออกมาก และคัน
  6. ลดการเกา โดยตัดเล็บให้สั้น ตะไบเล็บอย่าให้คม ในเด็กเล็ก อาจสวมถุงมือให้เวลานอน เพื่อไม่ให้เกาเวลาหลับ

โรคภูมิแพ้ที่พบร่วมกัน
  1. กรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่า แพ้สารอะไร ควรพยายามหลีกเลี่ยงสารนั้น
  2. ถ้ามีโรคภูมิแพ้อย่างอื่นร่วมด้วย เช่น หืด โรคภูมิแพ้ทางจมูก ก็จะให้การรักษาไปพร้อม ๆ กัน
  3. การใช้ยา แพทย์อาจจะให้ยากิน เพื่อลดอาการคัน ยาทาลดอาการอักเสบของผิวหนัง หรือยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่แทรกซ้อน เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่อาจมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี แต่สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้
  4. หากได้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งจะหายจากโรคนี้ได้เมื่อโตขึ้น หลังอายุ 3 – 5 ปี ผู้ป่วยและพ่อแม่จึงไม่ควรจะท้อถอยหมดกำลังใจ ถ้ามีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์

แนวทางการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังภูมิแพ้
  1. ไม่ควรใช้สบู่มาก เพราะผิวหนังในโรคนี้แห้งมากอยู่แล้ว ถ้าจะใช้ให้ใช้สบู่อ่อน หรือสบู่ที่มีไขมันสูง ชำระล้างบริเวณที่สกปรกเท่านั้น ไม่ควรขัดฟอกแรง ๆ ไม่ควรนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ ใช้ขันตักอาบ หรืออาบน้ำฝักบัวจะดีกว่า ไม่ควรอาบน้ำร้อนจัด การเช็ดตัวให้ใช้วิธีซับ ไม่ควรเช็ด หรือถูแรง ๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ที่หนา ควรใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอโปร่ง ๆ ให้พยายามระงับสติอารมณ์ไว้ อย่าเครียด อย่าเกาบริเวณที่คัน
  2. ไม่ควรเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่มีขน เช่น สุนัข และแมว ไม่มีสุนัขพันธุ์ใด ที่ไม่กระตุ้นโรคภูมิแพ้ ความเข้าใจที่ว่าโรคภูมิแพ้เกิดจากขนสุนัขนั้นผิด ที่จริงสารก่อภูมิแพ้ในสุนัขนั้น คือ โปรตีนที่อยู่ในเศษขี้ไคล น้ำลาย และฉี่ ซึ่งสุนัขทุกตัวมีโปรตีนเหล่านี้ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ที่ต้องการเลี้ยงสุนัขจริง ๆ อาจต้องปรึกษาแพทย์ และไม่ควรให้สุนัขเข้าห้องนอน ควรอาบน้ำให้สุนัขทุกสัปดาห์ ไม่ควรใช้พรมปูพื้น เพราะทำความสะอาดยาก
  3. เก็บตุ๊กตายัดนุ่น และตุ๊กตาที่มีขนปุยออกไปให้หมด รวมถึงหมอนที่ยัดด้วยขนนก ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละออง สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันไอเสีย สเปรย์ น้ำมัน เพราะสารเหล่านี้กระตุ้นให้ผื่นผิวหนังกำเริบได้
  4. ระวังไม่ให้เป็นหวัด หรือโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เพราะการอักเสบติดเชื้อเหล่านี้ ทำให้ความต้านทานของผิวหนังต่ำลง และผิวหนังอักเสบกำเริบง่ายขึ้น พยายามไม่เข้าใกล้คนที่เป็นเริม เพราะผู้ป่วยที่มีผิวหนังอักเสบจากโรคผิวหนังภูมิแพ้อยู่แล้ว อาจได้รับเชื้อไวรัสเริม และเกิดการติดเชื้อเริมลุกลามได้มาผิดปกติ
  5. พยายามควบคุม และระงับสติอารมณ์ไว้ อย่ามีความเครียดมากเกินไป พบได้บ่อยว่า ผื่นผิวหนังกำเริบ เมื่อผู้ป่วยเครียด พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กก็ต้องไม่เครียด และวุ่นวายมากเกินควร พยายามอย่าเกาบริเวณที่คัน เพราะการเกาผิวหนังทำให้ผิวหนังถลอก และเกิดการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียตามมาได้
  6. ผู้ป่วยโรคนี้ และผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า แม้ว่าโรคนี้จะก่อให้เกิดความน่ารำคาญเพียงใดก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต จึงควรยอมรับสภาพความเป็นจริง ที่จะมีชีวิตอยู่กับโรคนี้ให้ได้ พยายามมองในแง่ดีว่า โรคนี้ในที่สุดมักจะดีขึ้น เมื่อมีอายุมากขึ้น

ที่มา
นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

No comments:

Post a Comment