Search This Blog

Tuesday, February 23, 2010

ทำอย่างไรเมื่อต้องขับรถนาน ๆ??

อาการปวดเมื่อย และวิธีการบรรเทาอาการเบื้องต้น

ทั่ว ๆ ไปแล้ว อาการปวดบ่า กระบอกตา คอ หลัง หน้าขา (สะโพก) และน่อง เป็นอาการที่พบได้บ่อย เรามาลองดูสาเหตุ และการบรรเทาอาการเหล่านี้กัน
  • -เมื่อขับรถต้องใช้สายตามาก ไม่สามารถพักสายตาได้ ต้องเพ่ง และมองไปข้างหน้าตลอด ถ้าหากแสงแดดจ้า ก็จะทำให้ตาต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการเพ่งสายตา มีผลต่อท่าทางของคอ คือ คอต้องตั้งตรงนาน ๆ ย่อมมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อคอทำงานหนักและเกิดอาการล้าได้
  • -การเมื่อยล้าของคอ ส่งผลต่อการบีบรัดเส้นประสาท โดยเฉพาะที่ฐานกะโหลกด้านหลัง ทำให้ปวดศีรษะ และกระบอกตาได้

วิธีการแก้ไขปัญหาปวดกระบอกตา และล้าของตา คือ ต้องใส่แว่นปรับสายตา หากมีปัญหาเรื่องสายตาสั้นหรือยาว จะทำให้ลดการเพ่งในขณะขับรถ และหากขับรถในเวลาที่แดดจัด ควรใช้แว่นกันแดด เพื่อลดปริมาณแสง ที่อาจทำให้ม่านตาทำงานหนักได้   ขณะที่พักรถ หรือช่วงติดไฟแดง อาจใช้เวลาเล็กน้อย ที่จะมองไปยังต้นไม้ที่มีสีเขียว หรือหลับตาพักสายตาสักครู่ และหากเป็นไปได้การนวดบริเวณต้นคอ และบ่า 2 ข้าง จะสามารถลดความตึงเครียด ของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ส่งผลให้ความรู้สึกล้าลดลงได้

ในขณะขับรถ กล้ามเนื้อบ่าจะทำงาน เพื่อยกบ่า และแขนในการควบคุมพวงมาลัย หากการจับพวงมาลัยห่างจากตัวมาก จะมีผลทำให้ต้องเอื้อมมือ ยืดแขนไปข้างหน้า กล้ามเนื้อบ่า และไหล่จึงทำงานมากขึ้นอีก และทำให้เกิดอาการเมื่อยล้ากล้ามเนื้อบ่า และเกิดกล้ามเนื้ออักเสบได้ในที่สุด ซึ่งสามารถตรวจได้ โดยการคลำกล้ามเนื้อนั้น ๆ จะพบลำ หรือปมแข็งในกล้ามเนื้อ เมื่อกด ก็จะมีอาการเจ็บและร้าวได้

ดังนั้นการปรับระยะ และความสูงของพวงมาลัยเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ต้องเข้าใจว่า ในขณะขับ ต้องทิ้งน้ำหนักแขนส่วนหนึ่งไว้ที่พวงมาลัย ไม่เกร็งแขน และไหล่ตลอด การเกร็ง และยกแขนนี้ อาจทำให้การควบคุมพวงมาลัย ทำได้ยากกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลดอาการตึง และปวดเมื่อยบ่านี้ได้ โดยการหมุนไหล่ แบบกายบริหารของเด็ก ๆ ที่หมุนไหล่มาข้างหน้าและย้อนกลับหลัง โดยทำเมื่อหยุดพัก หรือหากเมื่อย ในขณะขับรถท่านสามารถทำการแบะไหล่ไปด้านหลัง และแอ่นตัวมาข้างหน้า  หรือทำการหมุนไหล่ข้างเดียวได้ โดยพิจารณาถึงความปลอดภัยในขณะขับขี่เป็นหลัก

สำหรับอาการปวดเมื่อยหลังเกิดขึ้นได้ เนื่องจากท่านั่ง เป็นท่าที่หมอนรองกระดูกสันหลัง มีแรงกดมากกว่าท่าอื่น ๆ  แม้ว่าจะมีเบาะพนักพิงก็ตาม แต่หลังที่อยู่ในลักษณะโค้งงอ ย่อมส่งผลต่อแรงดันในหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยมีแรงกดด้านหน้าหมอนรองกระดูกมากกว่าด้านหลัง หมอนรองกระดูก จึงมีแนวโน้มที่จะปลิ้นไปทางด้านหลัง และอาจเกิดปัญหาของหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้ เอ็น และกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านหลัง จะถูกยืดมากกว่าเมื่อหลังอยู่ในท่าตรง

 ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเมื่อพักรถ คือ ค่อย ๆ ลงจากรถ ไม่ลุกแบบพรวดพราด และก่อนจะลุกขึ้น ควรทำการยืดตัว และแอ่นหลังประมาณ 3-4 ครั้งก่อน แล้วค่อยลุกขึ้น และเมื่อลุกขึ้นแล้ว ควรทำการยืดหลัง และแอ่นหลัง ในขณะท่ายืนอีก 10 ครั้ง แล้วถึงจะทำการก้มหลัง หรือใช้งานหลังได้ตามปกติ เหตุที่ให้ทำเช่นนี้ เพราะว่าเอ็นที่อยู่ด้านหลัง เมื่อนั่งนาน ๆ จะล้า ขาดความยืดหยุ่นตัว และถ้าก้มบิดตัว หรือใช้งานหลังหนัก ๆ (เช่น การยกของหนัก) การก้มขณะที่จะลุกจากรถ อาจมีผลต่อการเคลื่อน หรือปลิ้นตัวของหมอนรองกระดูกสันหลังได้

หากเกิดอาการปวดเมื่อยล้า หลังขณะขับรถ คุณสามารถนำหมอนเล็ก ๆ สอดไว้ที่หลังส่วนล่างระหว่างเบาะ กับหลังของคุณ เพื่อให้หมอนเป็นตัวดัน ให้หลังแอ่นตัวเล็กน้อย แต่ไม่ควรนั่งพิงหมอนนั้นตลอด เพราะจะเกิดความล้าต่อหลังได้เช่นกัน

การขับรถเกียร์อัตโนมัติ ความเมื่อยล้ากล้ามเนื้อหน้าขา และน่อง เกิดได้จากการที่ต้องขยับขา เพื่อการเหยียบเบรก และคันเร่ง ขณะที่ถ้าขับรถเกียร์ธรรมดา จะมีอาการเมื่อยล้าขาซ้ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเหยียบคลัตช์

การแก้ไข หรือลดอาการปวด ขณะขับรถ สามารถทำได้โดยการหมุนข้อเท้า จิกปลายเท้า กระดกปลายเท้าขึ้น เหยียดปลายเท้าลงให้สุด โดยสามารถทำกับเท้าข้างซ้ายข้างเดียวในขณะขับรถ และหากเมื่อหยุดพักแล้ว คุณสามารถทำการหมุน หรือดัดต่อเท้าข้างขวา รวมทั้งทำการยืดกล้ามเนื้อหน้าขาได้ การยืดกล้ามเนื้อหน้าขา ทำได้โดยยืน แล้วพับเข่าไปด้านหลัง โดยเอามือช่วยจับเข่างอเข้ามายังก้น

อย่างไรก็ตาม การขยับเขยื้อน ออกกำลังกายแบบนี้ เป็นการบรรเทาอาการเท่านั้น และหากทำขณะขับรถ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยในการขับขี่เป็นหลักด้วย

สิ่งที่จะต้องทำที่สุด คือ การหยุดพักบ่อย ๆ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ล้างหน้าล้างตา และทำการออกกำลังกายตามที่ได้กล่าวมา หรือทำการบิดขี้เกียจก็ได้ ในลักษณะเหมือนการบิดขี้เกียจตอนเช้า ก่อนลุกขึ้นมาอาบน้ำ และเมื่อถึงที่หมายแล้ว ควรทำการนอนยกขาสูง โดยการนอนราบกับพื้น แล้วทำการยกขาแบบงอเข่าเล็กน้อย พาดกับเก้าอี้หรือโซฟา เพื่อให้เลือดไหล และน้ำเหลืองไหลกลับได้ง่ายขึ้น และทำให้หลังได้พักตัวลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อหลังได้

ขณะที่นอนนั้น คุณอาจใช้ผ้าเย็น ประคบที่บ่า หรือคอเพื่อช่วยลดอาการตึงบริเวณฐานคอได้อีกด้วย

ที่มา:
นิตยาสาร หมอชาวบ้าน

No comments:

Post a Comment