Search This Blog

Friday, February 19, 2010

แอนติบอดี้ กับ เชื้อไวรัส

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ป้องกันตัวเอง โดยพยายามขจัดสิ่งแปลกปลอม อีกทั้งทำลายแอนติเจนแปลกปลอม ที่ร่างกายได้รับจากภายนอก  โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสก็เช่นเดียวกับการติดเชื้ออื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อรา  กล่าวคือ แอนติเจนของไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย เปรียบเสมือนข้าศึกบุกเข้าโจมตีฐานที่ตั้ง ร่างกายจะใช้กลไกหลายชนิด ในการป้องกันการรุกรานของเชื้อไวรัส

อาวุธร้ายของเชื้อไวรัส แอนติเจน หรือบรรดาข้าศึกเหล่านี้ ได้แก่ แอนติเจน ที่ผิวของไวรัส surface antigen เปรียบเสมือนหน่วยจู่โจม ที่เข้ามาประชิดเซลล์ของร่างกาย แอนติเจนบางชนิด ปรากฎอยู่ที่โครงสร้างภายในของตัวไวรัสเอง เรียกว่า structural subunit และ capsid  นอกจากนี้ การติดเชื้อไวรัส ยังมีอาวุธร้ายแรงอีกชนิดหนึ่ง คือ เอ็นซัยม์ ที่ไวรัสสร้างขึ้น ซึ่งมีพิษสงแตกต่างกันไป บางชนิด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ร่างกายเป็นอย่างมาก บางชนิดช่วยให้การติดเชื้อเป็นไปโดยง่าย และลุกลาม แพร่กระจายมากยิ่งขึ้น

หากพิจารณาจากโครงสร้างของ ไวรัสโรคซาร์ CoV-Sars ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ มีขนาด 17.5 กิโลเบส   จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประกอบด้วย แอนติเจนหลักหลายชนิด  ชนิดแรก เป็นแอนติเจนที่ผิวเรียกว่า S-protein (surface antigen) ส่วนแอนติเจนอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ M-protein N-protein และ HE-protein สำหรับบทบาทที่ชัดเจนของแอนติเจนแต่ละชนิด ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในขณะนี้

ไวรัส ทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อผิดเพี้ยน

นอกจาก การทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อโดยตรงแล้ว ไวรัสยังก่อให้เกิดแอนติเจนใหม่ new antigen ที่ผิวของของเซลล์ ที่ติดเชื้อสร้างขึ้น  เนื่องจาก อิทธิพลของไวรัสที่เข้าไปอยู่ในเซลล์ แอนติเจนใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ให้มีปฎิกิริยาตอบสนอง ซึ่งนำไปสู่การทำลายเซลล์ที่มีแอนติเจนใหม่นั้น   จากการศึกษาทางห้องปฏิบัติการ พบว่าไวรัสส่วนใหญ่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้แทบทั้งสิ้น

ไวรัสบางชนิด สามารถเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของตัวเองได้มาก เรียกว่า antigenic shift เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อครั้งแรก ไม่สามารถป้องกันร่างกาย เมื่อมีการติดเชื้อในครั้งหลัง  ตัวอย่างของไวรัสที่มีความสามารถดังกล่าว ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza virus เป็นต้น

ภูมิคุ้มกันจำเพาะชนิดแอนติบอดี้

แอนติบอดี้ ที่จำเพาะต่อไวรัส ทำหน้าที่ต่อต้านไวรัส ในระยะที่มิได้อยู่ภายในเซลล์  พบว่า แอนติบอดี้ ชนิด IgM และ IgG เมื่อจับกับแอนติเจนของเชื้อไวรัสแล้ว จะกระตุ้นให้เกิดการทำลาย ผ่านทางระบบคอมพลีเมนต์ complement ชนิด classical pathway แต่ หากเป็นแอนติบอดี้ ชนิด sIgA (เช่น บริเวณเยื่อเมือกต่าง ๆ ) จะไม่มีการกระตุ้นคอมพลีเมนท์ทาง pathway นี้

แอนติบอดี้ทำลายล้างเชื้อไวรัส

กลไกการทำงานของแอนติบอดี้ ต่อไวรัสมีหลายประการ บางชนิดสามารถลบล้างความสามารถของไวรัส ในการก่อการติดเชื้อ เรียกว่า Neutralization ไวรัสที่มีแอนติบอดี้จำเพาะจับอยู่ ไม่สามารถจับกับเซลล์ของร่างกาย ไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกาย และไม่สามารถลอกหลุดโปรตีน ที่หุ้มกรดนิวคลิอิกของเชื้อไวรัสได้

วิธีการทำให้ไวรัสแตกสลาย

ร่างกายมนุษย์มีระบบคอมพลีเม้นต์ complement system ร่วมในการทำงานกับแอนติบอดี้ เพื่อทำให้ไวรัสแตกสลาย  กลไกดังกล่าวเกิดขึ้นกับไวรัส ที่มีเปลือกเป็นสารประเภทไขมัน ได้แก่ ไวรัสเริม herpes virus โคโรนาไวรัส coronavirus อะรีนาไวรัส arenavirus พารามิกโซไวรัส paramyxovirus และมิกโซไวรัส myxovirus  นอกจากนี้ คอมพลีเมนต์ยังทำงานร่วมกับแอนติบอดี้ ช่วยทำให้เซลล์ของร่างกายมนุษย์จับกินไวรัสได้   วิธีดังกล่าว เรียกว่า opsonization และเซลล์ที่ทำหน้าที่จับกินไวรัสนี้ มีชื่อเรียกว่า ฟาโกซัยท์ phagocytes

ยับยั้งการทำงานของเอ็นซัยม์ไวรัส

ร่างกายสามารถสร้างแอนติบอดี้ต่อเอ็นซัยม์ของไวรัสบางชนิด ซึ่งส่วนส่วนใหญ่อยู่ที่ผิวของไวรัส ทำให้ไวรัสที่เพิ่มจำนวนแล้ว และอยู่ภายในเซลล์ของร่างกาย ไม่สามารถออกมาจากเซลล์ได้   วิธีการนี้ ถือว่าช่วยขัดขวางการแพร่กระจายของไวรัสได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น แอนติบอดี้ต่อเอ็นซัยม์ neuraminidase ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza virus

บทสรุป

จะเห็นได้ว่า ร่างกายสามารถกำจัดไวรัสได้หลายวิธี ผ่านทางระบบแอนติบอดี้ ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นภายหลังการติดเชื้อนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีกลไกภูมิคุ้มกันจำเพาะด้านเซลล์ ที่มีบทบาทสำคัญในการทำลาย ไวรัส รวมทั้งเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสอีกด้วย

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

1 comment:

  1. ขอบคุณสำหรับข้อมูลคับ

    ReplyDelete