คอเลสเตอรอล คือ ไขมันประเภทหนึ่ง มีลักษณะกึ่งแข็ง กึ่งเหลว พบได้ในเซลล์ของอวัยวะทั่วไปในร่างกาย จินตนาการง่าย ๆ ว่าส่วนประกอบที่เป็นของเหลวในตัวเรา ล้วนมีคอเลสเตอรอลแทรกซึม เป็นเจ้าถิ่นอยู่ทุกอณู ไม่เว้นแม้แต่ส่วนสำคัญที่สุดอย่าง ก้อนไขมันทรงประสิทธิภาพที่เรียกว่า สมอง
คอเลสเตอรอลมีบทบาทสำคัญหลายประการ อย่างที่เราคาดไม่ถึง ทั้งเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ ช่วยในการส่งผ่านสารละลายต่างๆ เข้าออกเซลล์ หรือรับส่งสัญญาณมาสู่เซลล์ และยังเป็นสารตั้งต้นการสร้างน้ำดี สำหรับย่อยไขมันที่เรากินเข้าไป รวมทั้ง มีส่วนสำคัญในการผลิตสารจำพวกสเตียรอยด์ฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนที่ไปควบคุมระบบเกลือแร่ และการทำงานของไต เป็นต้น
ถ้าคุณคิดว่าคอเลสเตอรอลส่วนใหญ่มาจากอาหารแล้วล่ะก็ เปลี่ยนความคิดใหม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่แล้ว ตับของคุณสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นมาเอง และเพราะคอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดไม่ละลายในน้ำ ก่อนร่างกายนำไปใช้ จึงต้องมีการรวมตัวเข้ากับโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อ อะโพโปรตีน (apoprotein) เพื่อเปลี่ยนรูปเป็นไลโพโปรตีน (lipoprotein) หน้าตาคล้ายไข่แดงที่ถูกหุ้มด้วยไข่ขาว หลังเสร็จสิ้นการเปลี่ยนรูปร่าง คอเลสเตอรอลในรูปแบบไลโพโปรตีน จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางกระแสเลือด เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
คอเลสเตอรอลหายไปไหน
คอเลสเตอรอลส่วนหนึ่ง จะถูกนำไปสร้างเป็นน้ำดี หรือน้ำย่อย และอีกส่วนนำไปสร้างไลโพโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อ วีแอลดีแอล (VLDL: Very Low-Density Lipoprotein) ซึ่งประกอบไปด้วย ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นส่วนใหญ่ มีคอเลสเตอรอลอยู่เล็กน้อย พร้อมโปรตีนที่ช่วยให้มันละลายอยู่ในเลือดได้ ระหว่างทางที่วีแอลดีแอลเดินทางในเส้นเลือด จะมีเอนไซม์ ที่ย่อยเอาไตรกลีเซอร์ไรด์ไปใช้ ซึ่งไตรกลีเซอร์ไรด์นี้ ให้พลังงานมากกว่าคาร์โบไฮเดรต และโปรตีนถึง 2 เท่า ช่วยในการสร้างน้ำนม เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของกล้ามเนื้อ และหัวใจ
ไตรกลีเซอร์ไรด์ที่ใช้ไม่หมด จะถูกนำไปเก็บไว้ในไขมัน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรอง เมื่อไตรกลีเซอร์ไรด์ถูกดึงออกไปจากวีแอลดีแอลหมดแล้ว จะเหลือเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่สุด ในชื่อ แอลดีแอล (LDL: Low-Density Lipoprotein) หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี แต่ยังมีประโยชน์ คือ เมื่อผ่านไปถึงอวัยวะไหน ก็จะถูกดึงคอเลสเตอรอลไปใช้งานได้ทันที เมื่อวนครบทุกส่วนแล้ว หากแอลดีแอลยังถูกใช้ไม่หมด ก็จะถูกลำเลียงเข้าสถานีสุดท้าย คือ ตับ ซึ่งตับก็จะนำแอลดีแอลที่เหลือนี้ ไปสร้างเป็นวีแอลดีแอลอีกครั้ง เป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไป
แอลดีแอล VS เอชดีแอล กำเนิดไขมันตัวร้าย ตัวดี
จริง ๆ แล้วทั้งแอลดีแอล และเอชดีแอลมีที่มาเหมือนกัน คือ เป็นคอเลสเตอรอลในรูปไลโพโปรตีน แต่แตกต่างกันที่น้ำหนักของโมเลกุล มวลที่มีโมเลกุลคอเลสเตอรอลมากกว่า เรียกว่า แอลดีแอล หรือไขมันตัวร้าย ที่แม้จะมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ข้อร้ายที่ปรากฎ คือ นำไขมันและไตรกลีเซอร์ไรด์ออกจากตับ ไปสะสมไว้ตามหลอดเลือด สร้างปัญหาให้แก่หลอดเลือด
คนที่กินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน และคอเลสเตอรอล เมื่อรวมกับที่ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลออกมาตามปกติ จะทำให้วัฏจักรคอเลสเตอรอลในร่างกายไม่สมดุล คือ มีมากจนเกินพอดี เหลือใช้ ตับทำลายไม่ทัน บางส่วนจึงเหลือรอด ออกไปสะสมตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงบริเวณนั้น สูญเสียการทำงาน ทั้งตีบ ตัน หรือแตก เป็นเหตุให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา
ส่วนมวลที่มีโมเลกุลของคอเลสเตอรอลน้อยกว่า เรียกว่า เอชดีแอล (HDL: High density Lipoprotein) อุดมไปด้วยฟอสโฟลิพิด มีหน้าที่ทำความสะอาดหลอดเลือด เก็บคราบไขมันที่แอลดีแอลทิ้งไว้ กลับคืนมาที่ตับ แล้วขับออกทางน้ำดี ส่วนหนึ่งจะถูกไฟเบอร์ในอาหารจับ และขับออกทางอุจจาระ จะเปรียบเอชดีแอลว่า เป็นผู้พิทักษ์ความสะอาดก็คงไม่ผิดนัก
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งไขมันร้าย คอยเสริมการทำงานของแอลดีแอล นั่นคือ ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ที่คอยขัดขวางการทำงานของเอชดีแอล และเมื่อใดที่ร่างกายเรามีโรคอย่างความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน เจ้าไตรกลีเซอร์ไรด์ และแอลดีแอล ก็พร้อมปฏิบัติการขั้นสุดยอด ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น จนอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้
อันตรายจากไขมันร้าย แอลดีแอล
ในคนปกติที่ไม่มีความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน แม้ผลตรวจร่างกายจะบอกว่า คุณมีปริมาณแอลดีแอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง ทั้งยังมีค่าเอชดีแอลที่ต่ำ ก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไร เพราะเจ้าไขมันวายร้าย 2 ชนิดนี้ จะออกฤทธิ์วาดลวดลายได้ ก็ต่อเมื่อร่างกายเรามีอาการของโรคสองชนิดข้างต้นเท่านั้น ถ้าเรายังแข็งแรงดีวายร้ายก็จะไม่มีพิษสงอะไรเลย แต่ถ้าคุณมีอาการของโรคใดโรคหนึ่ง หรือทั้งสองโรค กอปรกับอายุที่มากขึ้น แอลดีแอลก็จะได้ใจ พร้อมทำร้ายอวัยวะสำคัญ ๆ อย่างหัวใจ สมอง และตับ ไต ได้อย่างน่ากลัว
- คอเลสเตอรอลกับหัวใจ จากการวิจัยของต่างประเทศพบว่า คอเลสเตอรอลเริ่มสะสมตามหลอดเลือดหัวใจได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี และจะอันตรายยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม เป็นโรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรม ที่ทำให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลมากกว่าปกติ หากพบว่า มีความเสี่ยงดังกล่าว และผลตรวจร่างกายชี้ชัดว่ามีปริมาณคอเลสเตอรอลสูง ควรรีบไปพบแพทย์
- คอเลสเตอรอลกับสมอง เมื่อคอเลสเตอรอลเข้าไปสะสมในเส้นเลือด ที่ไปเลี้ยงสมอง ไม่ว่าจะบริเวณใดก็ตาม จะก่อให้เกิดความผิดปกติบริเวณนั้น ๆ เช่น หากเส้นเลือดบริเวณสมอง ส่วนควบคุมการทรงตัวเกิดตีบ ตัน หรือแตก ร่างกายก็สูญเสียการควบคุมการทรงตัว กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือพาร์คินสัน หากเกิดกับเส้นเลือดสมองส่วนควบคุมการรับรู้ อาจทำให้ความจำเสื่อม เป็นอัลไซเมอร์ เป็นต้น แต่ก่อนที่อาการผิดปกติของเส้นเลือดจะส่งผลถึงสมอง มักจะเกิดขึ้นกับหัวใจก่อนเสมอ
- คอเลสเตอรอลกับตับ และไต หากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตับ หรือไตเกิดอาการตีบ แตกหรือตัน ก็อาจทำให้ตับ หรือไตสูญเสียการทำงาน ถึงขั้นตับวาย หรือไตวายจนเสียชีวิตได้
สรุปแล้ว คอเลสเตอรอลจะทำร้ายเราได้ ก็ต่อเมื่อเราเป็นโรค หรือเสี่ยงกับโรคอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว และโดยธรรมชาติ คอเลสเตอรอลจะไปฝังตัว เป็นคราบอยู่ตามเส้นเลือดแดงหลัก ที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ การที่จะเกิดอันตรายใด ๆ หรือรุนแรงแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับว่าเส้นเลือดที่มีปัญหานั้น อยู่บริเวณไหน และโดนทำลายไปมากเพียงใด คำเตือนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า ถึงเวลาลดคอเลสเตอรอลหรือยัง จะอยู่ในสมุดรายงานการตรวจร่างกายประจำปีของคุณ นอกจากนี้ วิธีการป้องกันที่สุด คือ การออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 วัน จะช่วยเพิ่มปริมาณเอชดีแอล เพื่อต่อกรกับแอลดีแอลและไตรกลีเซอร์ไรด์อย่างได้ผล
ส่วนการควบคุมอาหาร และรับประทานอาหารที่ให้แอลดีแอลต่ำ ก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ยังให้ผลน้อยกว่าการออกกำลังกาย
ที่มา
นิตยสาร Health & Cuisine
No comments:
Post a Comment