Search This Blog

Friday, February 19, 2010

โรคอัลไซเมอร์

ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์การแพทย์มีความเจริญก้าวหน้าไปมาก ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้พบโรค ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของร่างกายมากขึ้นในผู้สูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดแข็งตัว ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือแตก (ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตครึ่งซีก) โรคไขข้ออักเสบจากความเสื่อม โรคกระดูกพรุน และโรคสมองเสื่อมโดยไม่มีสาเหตุ เราเรียกโรคโรคนี้ว่า โรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของระบบประสาทส่วนกลาง  พบว่า ทั่วโลกมีคนเป็นโรคนี้กว่า 20 ล้านคน โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจะมีอายุสั้น และเสียชีวิตภายใน 10 ปีหลังเกิดโรค จนถึงปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ได้ อัลไซเมอร์พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จนไม่สามารถดูแลตนเองได้

อาการของผู้ป่วยอาจแบ่งได้เป็น 4 ระยะ
  1. ระยะที่หนึ่ง ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องของความทรงจำ มีอาการลืมในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น ในขณะที่ความทรงจำในอดีตยังดีอยู่ ผู้ป่วยจะดูเชื่องช้าลง ไม่กระฉับกระเฉง เริ่มจำหนทาง หรือชื่อคนบางคนไม่ได้  ในช่วงนี้ ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์โกรธง่าย หรือซึมเศร้า การดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ เริ่มตั้งแต่การให้เวลาผู้ป่วยในการตอบคำถาม หรือการตอบสนองกับสิ่งรอบข้าง  เนื่องจากผู้ป่วยจะเชื่องช้าลง จากการทำงานของสมองที่เสียไป ควรจะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความกังวล โดยบอกขั้นตอนทีละลำดับช้า ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยทำตามได้ และควรจัดให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนเป็นช่วง ๆ จะทำให้ผู้ป่วยอารมณ์ดีขึ้น
  2. ระยะที่สอง ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการตัดสินใจ อาจคิด หรือพูดอะไรซ้ำ ๆ  เริ่มมีปัญหาเรื่องการรับรู้ เช่น ผู้ป่วยอาจจะทำน้ำร้อยลวกมือตนเอง แล้วมองบาดแผลเฉย ๆ โดยไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น  นอกจากนี้ ยังสูญเสียความสามารถทางคำพูด ไม่สามารถบ่งบอกในสิ่งที่ตนเองคิด หรือเข้าใจผ่านทางภาษาได้ การดูผู้ป่วยในระยะนี้ ควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยจัดกิจวัตรประจำวันให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวได้ง่ายขึ้น บางครั้งควรทบทวนในสิ่งที่ผู้ป่วยพูด และเน้นสรุปในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการจะสื่อ เพื่อช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้ปฏิทินตัวใหญ่ ๆ การแขวนนาฬิกาให้ผู้ป่วยเห็นได้ง่าย  นอกจากนี้ญาติและครอบครัวของผู้ป่วย ต้องช่วยกันสังเกต และประเมินในเรื่องความสามารถด้านต่าง ๆ และพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยเทียบกับพฤติกรรมเดิม เพื่อให้ทราบความสามารถที่ลดลงในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในช่วงนั้น ๆ ได้
  3. ระยะที่สาม ผู้ป่วยมีความบกพร่อง ในเรื่องความรู้ความสามารถมากขึ้น ไม่สามารถจดจำสถานที่ต่าง ๆ ได้ เริ่มบกพร่องในการดูแลสุขอนามัยของตนเอง และไม่สามารถทรงตัวได้ดี ขณะยืน หรือเดิน  ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการโรคจิตหวาดระแวง หรือมีหูแว่วได้ การดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ญาติจะต้องคอยดูแล และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้ป่วยที่ถดถอยลง ในรายที่มีอาการโรคจิต หูแว่ว จำเป็นต้องพบแพทย์ และรับประทานยา เพื่อควบคุมพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
  4. ระยะที่สี่ ผู้ป่วยอาจออกจากบ้าน เร่ร่อนบ่อยขึ้น และอาจมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ หรือพูดซ้ำ ๆ ตลอด   นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย ที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ผู้ป่วยอาจจะจำใครไม่ได้เลย หรือจำเรื่องรายบางสิ่งได้เป็นนาที และลืมภายในไม่กี่นาที การดูแลผู้ป่วยระยะนี้ จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา  เนื่องจากผู้ป่วย ไม่สามารถดูแลตนเองได้เลย รวมถึงเรื่องกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทาน ซึ่งผู้ป่วยอาจเคี้ยว หรือกลืนอาหารเองไม่ได้ การเตรียมอาหารที่บดหยาบ และไม่เหลวจนเกินไป จะช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานได้ง่ายขึ้น พยายามป้อนน้ำทีละน้อย แต่บ่อยขึ้น เพื่อลดภาวะการขาดน้ำของผู้ป่วย  นอกจากนี้ การดูแลเรื่องการขับถ่ายเป็นสิ่งสำคัญ ต้องพยายามพาผู้ป่วยเข้าห้องน้ำให้ถี่ขึ้น เพื่อลดการถ่ายเรี่ยวราด รวมทั้ง เรื่องการดูแลความสะอาดของร่างกาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางผิวหนัง

โรคอัลไซเมอร์รักษาหรือป้องกันได้หรือไม่?

ในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ได้ผลจริงจัง ในการป้องกันการเสื่อมของสมอง หรือหยุดยั้งการตายของเซลล์สมองที่เป็นเร็ว และมากกว่าปกติในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ การรักษาผู้ป่วยมี 2 อย่าง คือ
  1. การรักษาตามอาการ ได้แก่ ยาที่ควบคุมจิตใจ และพฤติกรรมที่ก้าวร้าว การให้ยานอนหลับ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่หลับเวลากลางคืน ยาแก้เกร็ง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการพาร์คินสันร่วมด้วย และให้อาหารทางสายยาง ในผู้ป่วยที่รับประทานอาหารเองไม่ได้
  2. การรักษาอาการสมองเสื่อม  เนื่องจาก ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีการขาดสาร Acetylcholine ในสมอง ยาที่ได้ผลในการรักษาอาการ เป็นยาที่เพิ่มสาร Acctylcholine ในสมอง ยาตัวแรกชื่อ Tacrine แต่ไม่นิยมใช้ เนื่องจากมีผลข้างเคียงมาก  ที่พบบ่อย คือ ตับอักเสบ ยาเพิ่มสาร Acetylcholine ในสมองรุ่นที่สอง ได้แก่ Donepezil เป็นยาที่ผลข้างเคียงน้อย และช่วยลดอาการสมองเสื่อมได้ อย่างมีนับสำคัญในผู้ป่วยที่มีอาการระยะที่ 1 และ 2 (อาการน้อยถึงปานกลาง)

หากญาติผู้ใหญ่ของท่านเริ่มมีอาการโรคอัลไซเมอร์ ควรจะดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นกำลังใจที่ดีต่อผู้ป่วย

ที่มา
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

No comments:

Post a Comment