Search This Blog

Saturday, January 2, 2010

ภาวะที่เกิดขึ้นจากแมลงกัด หรือผึ้งต่อย อาจมีแค่ผื่นคันเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกระทั่ง มีอาการแพ้รุนแรง จนอันตรายถึงแก่ชีวิต ก็สามารถพบเห็นได้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้น เพราะร่างกายได้รับสารบางอย่างจากแมลงเข้าไปในร่างกาย ทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งความรุนแรงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลไป

"ผึ้ง" เป็นแมลงสังคม ที่มีการแบ่งเป็นวรรณะต่าง ๆ ได้แก่ ราชินี ผึ้งตัวผู้ และผึ้งงาน โดยผึ้งงานเป็นผึ้งตัวเมีย ที่มีหน้าที่ดูแลรัง และหาอาหาร ผึ้งงานจะมีอวัยวะที่เรียกว่า "เหล็กไน" (sting) ซึ่งดัดแปลงมาจากอวัยวะ ที่ใช้ในการวางไข่ (ovipositor) โดยจะต่อกับถุงพิษ (venom sac) ซึ่งอยู่ภายในช่องท้อง ในระหว่างที่ผึ้งต่อย กล้ามเนื้อในช่องท้องจะบีบ ให้พิษออกมาจากถุงพิษ เข้าสู่เหล็กไน เมื่อผึ้งต่อย มันจะปล่อยเหล็กไน รวมทั้งถุงพิษออกมา แล้วตัวมันก็ตาย

พิษของผึ้ง จะประกอบไปด้วยโปรตีนที่เรียกว่า melitin เป็นองค์ประกอบสำคัญ ประมาณร้อยละ 50 ของพิษ สาร melitin มีผลทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และไลโซไซม์แตก ผลตามมาก็คือ มีการหลั่งของเอ็นไซม์ต่าง ๆ และรวมทั้งฮิสตามีน (histamine) จากเซลล์ที่มีการแตกนี้ นอกจากนี้ยังมีโปรตีนชนิดอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบอยู่ เช่น apamine ซึ่งมีพิษต่อระบบประสาท hyluronidase ซึ่งมีผลทำให้พิษแพร่กระจายได้เร็วขึ้น และ phospholipase ซึ่งเชื่อว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากผึ้งต่อยนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิต เพราะพิษของผึ้ง แต่เสียชีวิตจากปฏิกิริยาการแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis)

สาเหตุ

การถูกผึ้ง หรือต่อต่อย มักเกิดขึ้นจากการเดินผ่าน เข้าไปใกล้แมลงพวกนี้ บางครั้งอาจถูกต่อยในช่องปาก ขณะกลืนอาหารที่แมลงปะปนอยู่โดยบังเอิญ กรณีถูกผึ้ง หรือต่อรุมต่อยทั้งรัง มักเกิดจากการตั้งใจเข้าไปทำลายรัง โดยไม่รู้จักวิธีป้องกัน หรือเด็ก ๆ เล่นซนไปแหย่ หรือทำลายรังผึ้งรังต่อด้วยความคะนอง

กรณีอาการไม่รุนแรง


สำหรับกรณีไม่รุนแรง อาจมีอาการแค่ปวดเล็กน้อย ผื่นแดง และคันตรงตำแหน่งที่กัด ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยการล้างด้วยน้ำ และสบู่ ถ้าบวมแดง และคันมาก ๆ อาจใช้ครีม ที่มีส่วนผสมยาสเตียรอยด์ทา เพื่อแก้แพ้แก้คัน หากมีอาการปวดศรีษะ ง่วงซึม มีไข้ กล้าม เนื้อเกร็งตัว หรือ อาการใด ๆ ที่ท่านสงสัย และไม่แน่ใจ ควรไปพบแพทย์

กรณีอาการแพ้รุนแรง

สำหรับกรณีแพ้อย่างรุนแรงต่อพิษของแมลงที่กัด หรือผึ้งที่ต่อย อาจมีอาการดังนี้ ลิ้น ริมฝีปาก และตาบวม มีอาการอ่อนแรงของแขนขา ไอหรือหายใจลำบาก มีเสียงเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ และบางรายอาจหมดสติได้ สำหรับการรักษา หากเริ่มที่จะมีอาการรุนแรง ท่านควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจจำเป็นต้องรับการรักษา โดยการฉีดยาแก้แพ้ และเฝ้าระวังอันตรายอันอาจเกิดตามหลังดังกล่าวได้

อาการช็อกที่เกิดจากปฏิกิริยาแพ้ชนิดเฉียบพลัน
  1. ไม่สบาย และอ่อนเพลียมาก
  2. แน่นหน้าอก
  3. หายใจลำบาก หายใจหอบ หายใจมีเสียงดัง
  4. หน้าบวม คอบวม ลิ้นบวม
  5. คันผิวหนัง แสบร้อน โดยเฉพาะบริเวณหน้า หน้าอก หลัง
  6. คลื่นไส้ เวียนศีรษะ
  7. อาจเป็นลม ไม่รู้สึกตัว
  8. ชีพจรเต้นเร็ว แต่เบามาก ความดันโลหิต ตอนแรกอาจสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ต่อมาจะลดลงถึงระดับช็อก
  9. ริมฝีปากบวม ซีด หลังเขียวคล้ำ บริเวณรอบปากซีดขาว ลิ้นซีดขาว
  10. ผิวหนังทั่วไป อาจขาวซีดเป็นดวง ๆ หรือแบบลมพิษคือ บางส่วนบวมนูน บางส่วนขาวซีด

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายหลัง

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายหลัง (delayed reaction) อาจเกิดขึ้น 10-14 วัน หลังจากถูกแมลงต่อย อาการที่พบได้แก่ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เกิดเป็นผื่นลมพิษ ต่อมน้ำเหลืองโต และข้ออักเสบแบบหลายข้อ บางครั้งผู้ป่วยลืมเหตุการณ์ที่ถูกผึ้งต่อยไปแล้ว

ในบางราย ปฏิกิริยาภูมิแพ้อาจเกิดขึ้นช้า ประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังถูกต่อย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดตามข้อ และกล้ามเนื้อ ข้อบวมเจ็บ ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว บางรายอาจเกิดไตอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ เลือดจางจากเม็ดเลือดแดงแตก เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย มีจ้ำเขียวตามตัว ประสาทตาอักเสบ ตามัว ไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น

การปฐมพยาบาล
  1. บางท่านที่มีประวัติแพ้สารพิษจากแมลงกัด หรือผึ้งต่อย และมีอาการรุนแรง หากโดนกัดบริเวณแขนหรือขา ท่านอาจจะให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คล้ายกับกรณีงูกัดด้วยก็ได้ โดยพันผ้าเหนือบริเวณที่ถูกกัด 2-4 นิ้ว และทำความสะอาดตรงตำแหน่งที่ถูกกัดด้วยน้ำ และสบู่
  2. ผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้พิษผึ้งอย่างรุนแรง ควรมีป้าย หรือเครื่องหมายที่บ่งบอกว่า เคยแพ้พิษผึ้งติดตัวไว้ตลอดเวลา และเมื่อต้องออกนอกบ้าน ควรพกชุดปฐมพยาบาล ซึ่งมีกระบอกฉีดยาซึ่งบรรจุ epinephrine 1:1000 พร้อมสำหรับฉีด เมื่อมีอาการแพ้หลังถูกผึ้งต่อย ผู้ป่วยต้องฉีดยาเข้าในชั้นใต้ผิวหนังทันที
  3. ก่อนหน้านี้ มีความเชื่อว่า เมื่อถูกผึ้งต่อย ไม่ควรใช้ปลายนิ้วหยิบเหล็กไนออก เพราะจะเป็นการบีบถุงพิษ ทำให้พิษไหลเข้าไปในบาดแผลมากขึ้น ควรใช้วัสดุแบน ๆ เช่น ใบมีดหรือบัตรพลาสติกขูดออก แต่ปัจจุบันพบว่า ไม่ว่าการใช้ปลายนิ้วหยิบ หรือใช้วัสดุอื่นขูดเหล็กไนออก ก็ไม่มีผลในการทำให้พิษไหลเข้าไปในบาดแผลมากขึ้น การเสียเวลาหาวัสดุ ที่จะใช้ในการขูดเหล็กไนออก กลับจะยิ่งทำให้พิษ ถูกขับเข้าไปในบาดแผลมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น การขูดเหล็กไนออก มีโอกาสที่จะทำให้เหล็กไนตกค้างอยู่ในแผลมากกว่าด้วย

ภาวะแทรกซ้อน

พิษผึ้ง และต่อ อาจทำให้เกิดพิษต่ออวัยวะทั่วร่างกาย ที่สำคัญ คือ ภาวะช็อก และไตวายเฉียบพลัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

การดำเนินโรค
  1. ถ้าถูกต่อยเพียงครั้งเดียว หรือไม่กี่ครั้ง และมีอาการที่บาดแผลเฉพาะที่ที่ถูกต่อย ก็มักจะหายได้ภายในไม่นาน
  2. แต่ถ้ามีปฏิกิริยาภูมิแพ้ หรือเป็นพิษรุนแรง ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในเวลาไม่นาน
  3. บางรายปฏิกิริยาภูมิแพ้ อาจเกิดหลังถูกต่อย 1-2 สัปดาห์
  4. รายที่มีภาวะช็อกจากการแพ้ หลังให้ยารักษาครั้งแรก อาการจะทุเลาไปได้ แต่หลังหยุดยาอาจเกิดภาวะช็อกกำเริบซ้ำได้ จึงต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล จนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัยแน่นอนแล้ว

ควรรีบไปพบและปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
  1. อาการปวด บวม แดง คัน ไม่ยุบภายใน 6 ชั่วโมง
  2. แผลบวมขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการปวดมาก
  3. เป็นลมพิษทั่วตัว หรือริมฝีปากบวม หนังตาบวม
  4. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน หรือเจ็บแน่นหน้าอก
  5. หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังวี้ด หรือมีอาการเป็นลม
  6. ถูกต่อยที่ลิ้น หรือภายในช่องปาก หรือที่ตา
  7. ถูกผึ้ง หรือต่อ รุมต่อยจำนวนมาก
  8. เคยมีประวัติถูกผึ้ง หรือต่อต่อยมาก่อน เคยมีอาการแพ้แมลงพวกนี้มาก่อน หรือเป็นคนที่แพ้อะไรง่าย
  9. มีอาการผิดปกติ (เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อตามข้อ ตามัว จ้ำเขียวตามตัว เป็นต้น) เกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังถูกต่อย
  10. มีความวิตกกังวล หรือไม่แน่ใจที่จะดูแลตนเอง

การป้องกัน

  1. กำจัดขยะ และเศษอาหารบริเวณบ้าน เพื่อไม่ให้มีแมลงมาตอม
  2. กรณีที่ต้องเดินทางเข้าไปในที่ที่มีแมลงชุกชุม หรือออกไปกลางแจ้ง ไม่ควรใส่เสื้อผ้าฉูดฉาด ลายดอกไม้ หรือใส่น้ำหอม ซึ่งล่อให้ผึ้ง หรือต่อมาต่อยได้
  3. อย่าแหย่ หรือทำลายผึ้ง และเตือนเด็ก ๆ อย่าไปแหย่รังผึ้ง หรือรังต่อด้วยความคะนอง
  4. ถ้ามีรังผึ้ง หรือรังต่อ ภายในบริเวณบ้าน ควรตามผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมากำจัดรังแทน
  5. ถ้าถูกผึ้ง หรือต่อต่อย ควรวิ่งหนีโดยเร็วที่สุด ให้ห่างจากรังเกิน 7 เมตรขึ้นไป และควรใช้ผ้าคลุมศรีษะ ป้องกันไม่ให้ตัวต่อติดอยู่ใน

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

No comments:

Post a Comment