ปลาทูน่ากระป๋องในเมืองไทย มีอยู่หลายชนิด แต่ที่นิยมนำมาบริโภคกัน คือ พันธุ์สามัญที่สุดอย่าง SKIP JACK และ YELLOWFIN TUNA อายุเฉลี่ย 3-8 ปี และมีน้ำหนักตั้งแต่ 1.8 จนถึง 50 กิโลกรัมขึ้นไป
หลายคนชมชอบเนื้อสีชมพูอ่อนถึงสีขาว ของ “เนื้อไก่จากทะเล” ซึ่งเป็นชื่อเรียกเล่น ๆ ของทูน่า บวกกับคุณสมบัติอาหารประเภทปลา ที่มีโปรตีนสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ปลาทูน่าเหนือชั้นกว่า เพราะมีไขมัน และคอเลสเตอรอลต่ำ และยังเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ ทำให้ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก และคนรักสุขภาพต่างขานรับไว้ติดครัว
คุณเชื่อหรือไม่ว่า ยังมีสิ่งสำคัญซ่อนตัวอยู่ในคุณสมบัติ “ไขมันต่ำ” ด้วย มัน คือ กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งร่างกายคนเราสร้างเองไม่ได้ แต่มีความจำเป็นต่อชีวิตโดยเฉพาะ โอเมก้า 3 (OMEGA-3)
โอเมก้า 3 ประกอบด้วยสารหลัก 2 ตัว ได้แก่ EPA (EICOSAPENTAENOIC ACID) ช่วยในเรื่องของภาวะระบบการไหลเวียนของเลือด ในร่างกายของคนเราอย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนเกราะป้องกันไขมันอุดตันหลอดเลือด ช่วยลดคอเลสเตอรอล ซึ่งจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้
ส่วนสารหลักอีกตัวหนึ่งในปลาทูน่า นั่นคือ DHA (DOCOSAHEXAENOIC ACID) ซึ่งมีประโยชน์โดยตรงกับสมอง ช่วยบำรุงเซลล์สมอง และเสริมสร้างความจำ ช่วยให้เราพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า “กินปลาแล้วฉลาด” ได้ผลจริง
แม้ปลาทูน่าจะ มีคุณประโยชน์สูง แต่สำหรับสำหรับสตรีมีครรภ์ เด็กเล็ก และหญิงที่เพิ่งคลอด ควรหลีกเลี่ยง หรือรับประทานแต่น้อย ประมาณ 3 ก้อนสำหรับไลท์ทูน่า หรือ 1 กระป๋องสำหรับทูน่าขาว เพื่อป้องกันอันตรายจากสารปรอทตกค้างในกระป๋อง กว่า 6% ที่มาจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม
โดยทั่วไป ปลากระป๋องที่เปิดฝา ก็เปรียบเหมือนการเปิดฝาอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ฉะนั้น การปรุงอาหารด้วยปลาทูน่าจึงมีขั้นตอน ไม่ต่างจากอาหารสุกทั่วไป มันไม่ยุ่งยากเลย
- -ทูน่าในน้ำเกลือ เหมาะสำหรับประกอบอาหารประเภท ผัด ทอด หรือรับประทานทันที
- -ทูน่าในน้ำมัน นอกจากมีส่วนช่วยให้อร่อยแล้ว วิตามินบางชนิดจะละลายในน้ำมันเท่านั้น
- -ทูน่าในน้ำแร่ จะช่วยเพิ่มแร่ธาตุธรรมชาติ ที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
แม้พวกเราจะนำทูน่ามาทำไส้แซนวิช แต่ยังมีอาหารจำพวกบะหมี่ พาสต้า สลัด ทำขนมทาร์ต หรือปั้นทอด รอเป็นทางลือกมื้ออาหารหลักตอนเช้า สาย บ่าย เย็น หรือตอนท้องว่าง ๆ ได้อีก
ทูน่าที่เหลือในกระป๋องหลังจากรับประทานไม่หมด ยังเก็บไว้ได้หรือไม่ ?
ยังกินได้อีก เพียงแต่เคล็ดลับในการเก็บรักษาปลาทูน่านั้น ต้องถ่ายจากกระป๋องไปใส่ภาชนะอื่น ซึ่งไม่ใช่โลหะ แล้วปิดฝา นำไปใส่ตู้เย็นช่องปกติเท่านั้นเอง แต่ควรรับประทานให้หมด ภายใน 3 วัน ส่วนที่ยังไม่เคยเปิดฝา สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 36 เดือนเลยทีเดียว แล้วถ้าหาก จะนำไปปรุงในมื้ออาหารต่อไป ก็แค่นำไปอุ่น หรือปรุงผ่านความร้อน คุณค่าสารอาหารในปลาทูน่าก็ยังอยู่เท่าเดิม
หากตกลงปลงใจรับรักน้องทูน่าแล้ว ไปซุปเปอร์มาร์เก็ตคราวหน้า โปรดสังเกตข้อความข้างกระป๋องที่ว่า “เป็นมิตรกับปลาโลมา” ด้วย จะได้อิ่มท้องพร้อมกับอิ่มใจ
No comments:
Post a Comment