Search This Blog

Tuesday, January 19, 2010

เก๋ากี้ ... สมุนไพรพื้นบ้าน

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า สังคมที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนานาประเภท มนุษย์เราสามารถพิชิตโรคแปลก ๆ ใหม่ ๆ สารพัดชนิด ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต อันเป็นผลจากการพัฒนาการทางการแพทย์ ที่มีการวิจัยและสกัดตัวยาชนิดต่าง ๆ  พร้อมกับเครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งช่วยยืดอายุให้กับผู้ป่วยจำนวนนับไม่ถ้วน

ความสมบูรณ์ทางร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะนำพาให้มนุษย์เรามีเรี่ยวแรง และสติปัญญาในการวัฒนาสังคม ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป หากแต่ในช่วงที่โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดอย่างรวดเร็ว และยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนยับยั้งการติดเชื้อ ผู้คนจึงหันกลับมาให้ความสำคัญกับสมุนไพรพื้นบ้านที่อยู่ใกล้ตัวอีกครั้ง

เก๋ากี้
เก๋ากี้ คือ สมุนไพรเม็ดแดง ๆ ที่เมื่อบิออกดูด้านในแล้ว จะพบกับเม็ดเล็ก ๆ สีขาว ๆ อยู่ภายในเม็ดเก๋ากี้ แต่ก็สามารถรับประทานได้ทั้งเม็ด โดยไม่ส่งผลเสียใด ๆ ต่อสุขภาพ ภาษิตจีนบทหนึ่ง กล่าวถึงเก๋ากี้ไว้ว่า "เก๋ากี้โลกอยู่ที่เมืองจีน เก๋ากี้จีนต้องที่หนิงเซี่ย" อธิบายความให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย เป็นแหล่งกำเนิด และแหล่งผลิตเก๋ากี้ที่สำคัญของจีนและของโลก

โดยเฉพาะตำบลจงหนิง ที่เมื่อถึงฤดูเก็บเม็ดเก๋ากี้แล้ว จะเห็นสวนเก๋ากี้ ที่เต็มไปด้วยต้นเก๋ากี้สูงท่วมหัว เรียงรายเป็นทิวแถว ขนาดของเก๋ากี้ที่จงหนิงใหญ่ และมีความสดมาก เปลือกบาง แต่เนื้อแน่นรสหวานชุ่มคอ มีลักษณะแบน แต่ก็ไม่กลมยาวรี แต่ไม่ลีบ ไม่จับตัวเป็นก้อน จึงสามารถเก็บไว้ได้นาน

ในปี ค. ศ. 1995 ทางรัฐบาลประกาศให้ตำบลจงหนิง เป็น "บ้านเกิดเก๋ากี้จีน"  ดังนั้น เก๋ากี้ที่ผลิตจากพื้นที่แถบนี้ ล้วนเป็นเก๋ากี้ที่ได้รับการการันตี เรื่องคุณภาพ ในบริเวณอื่น ๆ ของประเทศก็มีการปลูกเช่นกัน อย่างเช่น  มณฑลเหอเป่ย์ มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง ฯลฯ

เก๋ากี้ ที่มานำสกัดเป็นตัวยานั้น มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นยา ที่มีสรรพคุณนานัปการ ทำให้ชาวจีนตระหนักถึงความจำเป็น ในการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ จึงมีการคิดค้นวิธีการเพาะชำขึ้นมาราว 600 ปีก่อนหน้านี้

จุดเด่นของการปลูกเก๋ากี้ คือ สามารถปลูกได้ในสภาวะอากาศที่แห้งแล้ง เพราะเป็นพืชที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมสูง ไม่กลัวการคุกคามจากหนอนและแมลง ทั้งยังสามารถเติบโตได้ดีในสภาพดินทราย และอากาศแห้งแล้ง  นั่นเป็นเหตุผลประการสำคัญ ที่ทำให้เก๋ากี้ที่ปลูกในตำบลจงเซี่ยนกลายเป็น เก๋ากี้ชนิดที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะสอดคล้องกับปัจจัยการเจริญเติบโตดังกล่าว

สรรพคุณของ เก๋ากี้
ถ้าจะสาธยายถึงสรรพคุณของสมุนไพรเล็กพริกขี้หนูตัวนี้ คงต้องใช้พื้นที่เล็กน้อย เพราะมีประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ดวงตามีความกระจ่างใส ลดความดันโลหิต สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยลดอาการตาฝ้าฟาง และกระหายน้ำในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ชะลอความแก่ บรรเทาความเหนื่อยล้า กำจัดพิษ บำรุงระบบสืบพันธุ์ ป้องกันเนื้องอก ฯลฯ

สำหรับ โรคที่พบเห็นบ่อย ๆ อย่างความดันโลหิตสูง สามารถต้มเก๋ากี้ 15 กรัมกับน้ำ ดื่มแทนน้ำชา หรือ ผู้ที่เป็นโรคสายตาฝ้าฟางในตอนกลางคืน ความสามารถในการมองเสื่อม สามารถนำเก๋ากี้ 6 กรัม ไปต้มกับดอกเก๊กฮวยขาวในปริมาณเท่ากัน ดื่มแทนน้ำชา จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี  หรือสามารถกินเก๋ากี้สด ๆ 20 - 30 เม็ด จะช่วยบรรเทาอาการสายตาฝ้าฟาง และชะลอความแก่ ทั้งนี้ จะต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาระยะหนึ่ง จึงเกิดประสิทธิภาพ

ด้วยสรรพคุณในด้านการเป็นตัวยาบำรุงร่างกาย จึงมีการนำเก๋ากี้ไปแช่น้ำ หรือแช่เหล้า แล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน จากนั้นก็นำมาดื่มเพื่อบำรุงอวัยวะภายใน แต่ใช่ว่าเก๋ากี้จะเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย  เพราะตัวสมุนไพรมีฤทธิ์ร้อน  ดังนั้น ผู้ที่ป่วยเป็นไข้ตัวร้อน ปรากฏมีอาการอักเสบ หรือท้องเดิน จึงไม่เหมาะที่จะรับประทาน เพราะอาจทวีความรุนแรงให้กับโรคได้ เนื่องจากเป็นตัวยา ที่กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวของเส้นประสาท จึงไม่เหมาะกับ ผู้ที่มีความต้องการทางเพศสูงเช่นกัน ในทางกลับกัน เก๋ากี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ และมีภูมิคุ้มกันต่ำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารเสริมนานาชนิดไม่เหมาะที่จะรับประทาน ในปริมาณมากเกินความจำเป็น  ในฐานะที่เป็นสมุนไพรบำรุงร่างกายชนิดหนึ่ง จึงมีประโยชน์สูงสุดต่อเมื่อ รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ โดยผู้ใหญ่สามารถรับประทานวันละ 20 กรัม แต่หากต้องการนำไปใช้เป็นตัวยารักษาโรค  สามารถเพิ่มปริมาณเป็น 30 กรัมต่อวัน โชคดีที่ผลการวิจัยทางการแพทย์ล่าสุด ชี้ให้เห็นว่า เก๋ากี้เป็นสมุนไพรที่ปลอดสารพิษ สามารถใช้ประกอบอาหาร หรือสกัดเป็นตัวยา และใช้เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ

หลายคนอาจสงสัยว่า สรรพคุณที่กล่าวมาข้างต้น ดูเหมือนจะเกินจริง แต่ชาวจีนโดยส่วนใหญ่ต่างรู้ถึงคุณประโยชน์ของเก๋ากี้ และนำไปสกัดร่วมกับตัวยาชนิดอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรค  เก๋ากี้จึงเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ที่อยู่คู่สังคมจีนมานานหลายพันปี

No comments:

Post a Comment