คุณเคยสังเกตไหมว่าอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ที่ร้าวลงไปถึงแขนหรือบางครั้งอาจจะแผ่ซ่านขึ้นไปถึงศีรษะ จนบางครั้งคุณเข้าใจไปว่าปวดไมเกรน? และไม่ว่าคุณจะทานยาเท่าไร อาการปวดก็ไม่หาย ซ้ำยังจะกลับมาใหม่หลังจากยาแก้ปวดหมดฤทธิ์
ยิ่งหากชีวิตประจำวันของคุณคือนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน แถมยังไม่มีเวลา และไม่สามารถออกกำลังกายเป็นประจำได้ด้วยแล้ว อาการปวดร้าวตามแขน ขา บ่า ไหล่ ที่คุณเป็นอยู่ ดูถาวร หายขาดยาก คุณอาจจะนึกไม่ถึงว่าอาการปวด ที่คุณเป็นอยู่นั้นอาจจะมีสาเหตุมาจากกระดูกสันหลัง!
โรคของคนเมือง
อาการปวดร้าวไปตามแขน ขา หลายครั้งพบว่าเกิดจากปัญหาของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะปัญหา การหดเกร็งของกล้ามเนื้อแบบ Office Syndrome ซึ่งเป็นโรคของคนเมือง ที่ทำงานออฟฟิศขะมักเขม้น ไม่ได้ออกกำลังกาย คุณภาพชีวิตไม่ดี พักผ่อนน้อย อาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้อนี้ อาจจะรุนแรงน้อยหรือทรมานมาก และยาแก้ปวดก็ไม่สามารถทำให้หายขาดได้ เนื่องจากการปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งตัวนี้ มีอาการคล้ายกับกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรืออาจพบทั้งสองโรคพร้อมกัน เนื่องจากปัญหาของกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลังนั้นมีความสัมพันธ์กัน
นานาโรคเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง
โรคกระดูกสันหลังที่สามารถกดทับเส้นประสาทที่พบบ่อยในคนทำงาน และมักจะถูกวินิจฉัยบ่อยๆได้แก่ โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้น (HNP) ช่องกระดูกเสื่อมตีบทับเส้นประสาท (Spinal Stenosis) กระดูกเสื่อมทับไขสันหลังส่วนคอ (CSM) หมอนรองกระดูกเอวเสื่อม (DDD) กระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนทับเส้น เป็นต้น ซึ่งอาการปวดร้าวไปตามแขน และขานั้น สามารถเป็นได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นปวดมากจนเดินไม่ได้ก็มี
“กลุ่มโรคที่พบบ่อยในคนวัยทำงานที่นั่งทำงานทั้งวัน ได้แก่ ภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท โดยปัญหาเล็กน้อยที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อในชีวิตประจำวัน อาทิ ปวดหัว ปวดคอ ปวดไหล่เรื้อรัง และปวดแก้มก้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดร้าว คล้ายการปวดร้าวตามเส้นประสาทได้เช่นกัน บางครั้งการบาลานซ์กล้ามเนื้อคอที่ไม่เท่ากัน มีผลไปยังเส้นประสาท มีอาการชาตามแขนขา บางคนปวดแขนปวดขานึกว่าเป็นกระดูกคอทับเส้นประสาท แต่ทำ MRI แล้วอาจจะไม่พบ ซึ่งในกรณีนี้ต้องทำการรักษาด้วยการกายภาพบำบัด หรือ การรักษาด้วยเทคนิค Intervention spine pain management”
สำหรับการรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคทางกระดูกสันหลังนั้นไม่ได้มีแค่การผ่า ตัดเพียงเท่านั้น “การรักษาอาการปวดจากโรคกระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อรอบๆ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ 1. Non-surgical อาทิ การรักษาด้วยการใช้ยาแก้ปวด (NSAID) การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูด้วยการบริหาร (Exercise) การกายภาพบำบัด การ mobilization กล้ามเนื้อ-กระดูกสันหลังให้คลายจากการเครียดตึง ซึ่ง 50-60 % ของผู้ป่วยจะหายดีในขั้นตอนนี้ นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยเทคนิคใหม่เช่นการทำ Intervention Spine Pain Management เป็นการรักษาอาการปวดด้วยการใช้เข็ม เช่น การฉีดยาต้านการอักเสบรอบเส้นประสาท (SNRB) การลดการกดทับจากหมอนรองกระดูกด้วยเข็มคลื่นความถี่สูง (Nucleoplasty) การลดการไวของเส้นประสาทด้วยเข็มคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency needle) หรือการฝังเข็มเพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นในจุดที่เป็นสาเหตุ เป็นต้น
และการรักษาประเภทที่ 2. ได้แก่การผ่าตัด อาทิ ผ่าหมอนรองกระดูกแบบแผลเล็ก (Microdiscectomy) ผ่าตัดขยายช่องทางออกของเส้นประสาท (Laminectomy) การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion) อาจจะใส่หรือไม่ใส่สกรูไททาเนียม การผ่าตัดเชื่อมข้อที่คอด้านหน้า(Robinson Fusion) การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียม(TDR) เป็นต้น ซึ่งแนวทางการผ่าตัดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความ ชำนาญของแพทย์เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย”
Search This Blog
Wednesday, August 26, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment