Search This Blog

Saturday, March 13, 2010

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน

การปฐมพยาบาล คือ การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในขั้นแรก ก่อนส่งโรงพยาบาล หรือก่อนจะถึงมือแพทย์ ทุกคนควรมีความรู้ในการปฐมพยาบาล เพื่อที่จะใช้เวลาทุกวินาที ให้เป็นประโยชน์ที่สุด เพื่อช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น


  
การปฐมพยาบาลนั้น ต้องทำด้วยความรวดเร็ว และถูกต้อง ขั้นแรกต้องระงับความตื่นเต้นตกใจ ตั้งสติให้ดี ไม่ว่าคนที่คุณต้องช่วยเหลือ จะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือแม้แต่คนแปลกหน้า
  • -พยายามอย่าให้คนมุง เพื่อให้คนเจ็บได้รับอากาศบริสุทธิ์ ปลอดโปร่ง มีแสงสว่างเพียงพอ และสะดวกในการปฐมพยาบาล
  • -โทรเรียกรถพยาบาลก่อน แล้วรีบตรวจดูคนเจ็บ และปฐมพยาบาลเบื้องต้น
  • -กรณีที่คนเจ็บยังมีสติ ควรแนะนำตัวเอง สอบถามชื่อนามสกุลของคนเจ็บ และสอบถามอาการ
  • -กรณีที่คนเจ็บหมดสติ ให้ตรวจดูว่ายังหายใจหรือไม่

การกู้ชีพ

  •  -หากคนเจ็บหายใจไม่สะดวก หรือหยุดหายใจ ให้เริ่มผายปอดแบบเป่าปาก โดยให้คนเจ็บนอนหงาย จับปลายคางให้เชิดขึ้น มือกดหน้าผากไว้ ตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่า ไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในปาก หรือลำคอ หากตรวจพบ ให้ล้วงออกมาให้หมด เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
  •  -ใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกคนเจ็บ มืออีกข้างดึงปลายคางไว้ เพื่อเปิดช่องปาก จากนั้นสูดลมเข้าปอด แล้วเป่าเข้าไปทางปากของคนเจ็บ สังเกตว่าลมเข้าปอด โดยดูจากการเคลื่อนไหวของหน้าอก รอให้ลมออกจากปอดก่อน แล้วจึงเป่าครั้งที่สอง
  •  -จากนั้นให้สำรวจชีพจร ง่ายที่สุด คือ ที่คอ บริเวณสองข้างของลูกกระเดือก หากคลำชีพจรไม่พบ ให้นวดหัวใจด้วย
วิธีการนวดหัวใจ

  •  -ให้นั่งคุกเข่าอยู่ข้างตัวคนเจ็บ ให้เข่าข้างหนึ่งอยู่บริเวณเอว อีกข้างอยู่บริเวณหัวไหล่ วางมือข้างที่ไม่ถนัด ตรงกึ่งกลางหน้าอกเหนือกระดูกลิ้นปี่เล็กน้อย วางมือข้างที่ถนัดไว้ด้านบน แล้วยืดแขนให้ตรง โน้มตัวมาข้างหน้า ถ่ายน้ำหนักลงไปบนแขน เริ่มนวดหัวใจโดยการกดมือลงไป
  • -จังหวะการนวด คือ 15 ครั้งต่อ 10 วินาที แรงกดให้ดูจากการยุบตัวของหน้าอก ควรยุบแค่ประมาณ 1 ½ ถึง 2 นิ้ว หลังจากนวดครบ 15 ครั้ง ให้เป่าปาก 2 ครั้ง แล้วตรวจดูชีพจรอีกครั้ง หากยังไม่มีชีพจร ให้เริ่มนวดหัวใจอีกครั้ง ทำจนกว่าคนเจ็บจะเริ่มหายใจเองได้ หรือรถพยาบาลมาถึง

การเคลื่อนย้ายคนเจ็บ

-หากบาดเจ็บที่คอ หรือกระดูกสันหลัง ห้ามเคลื่อนย้ายคนเจ็บ หากเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ ที่ประสบอุบัติเหตุ อย่าเพิ่งถอดหมวกกันน็อก จนกว่าจะตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีกระดูกคอ หรือหลังหัก

รู้ได้อย่างไรว่ากระดูกสันหลังหักหรือไม่

  • -หากเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่มีความรุนแรง มีโอกาสสูงที่คนเจ็บจะกระดูกสันหลังหักจากแรงกระแทก
  • -หากคนเจ็บยังมีสติ ลองให้เขาขยับนิ้วมือ นิ้วเท้า เป็นจังหวะ หรือลองให้คนเจ็บบีบมือของคุณ หากยังเคลื่อนไหวนิ้วได้ หรือยังมีแรงบีบ กระดูกสันหลังไม่น่าจะหัก
  • -ลองหาวัตถุแข็ง ๆ ลากบริเวณฝ่าเท้า หากมีการตอบสนองแบบเดียวกับจั๊กจี๋ หรือหัวแม่โป้งกระดิก เป็นสัญญาณที่ดี
  • -แต่หากลองทำทุกอย่างแล้ว ไม่มีการตอบสนองที่ดี นั่นเป็นสัญญาณว่า คนเจ็บอาจมีกระดูกสันหลังหัก ไม่ควรเคลื่อนย้ายคนเจ็บ ยกเว้นว่า อยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงเกินไป เช่น ไฟไหม้ ใกล้เชื้อเพลิงที่อาจระเบิด บนถนนที่อาจถูกรถทับ หรือตึกที่กำลังจะถล่ม ให้เคลื่อนย้ายคนเจ็บอย่างถูกวิธี และทำด้วยความระมัดระวังที่สุด

วิธีการเคลื่อนย้าย

สำหรับคนเจ็บ ที่สงสัยว่าอาจจะมีกระดูกสันหลัง หรือกระดูกคอหัก ก็คือ การลากไหล่ โดยยืนอยู่เหนือศีรษะของคนเจ็บ ย่อเข่าลง สอดมือทั้งสองข้างเข้าไปที่ใต้แขนของคนเจ็บ แล้วจับให้แน่น ให้ศีรษะ และคอของคนเจ็บอยู่ระหว่างแขนทั้งสองข้างของคุณ ค่อย ๆ เดินถอยหลังทีละก้าวช้า ๆ โดยลากไปตรง ๆ ห้ามลากไปทางซ้าย หรือขวา พยายามให้ศีรษะ คอ ลำตัว และขาของคนเจ็บ อยู่ในแนวเส้นตรงระนาบเดียวกัน สังเกตด้วยว่า เสื้อของคนเจ็บไม่รั้งที่คอ จนขาดอากาศหายใจ

ให้ออกแรงลากโดยใช้กำลังขา ย่อเข่า พยายามให้หลังเหยียดตรง จะเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกหลัก และช่วยให้คุณไม่ปวดหลัง

การห้ามเลือด

หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดของคนเจ็บโดยตรง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบล้างมือด้วยสบู่ รวมทั้งบริเวณที่เปื้อนเลือด ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

การห้ามเลือดทำได้โดย

  • -ใช้นิ้วมือกดไว้ตรงบาดแผล
  • -ใช้ผ้าสะอาดพันปิดแผลไว้ อย่าให้แน่นจนชา
  • -หากไม่มีผ้าพันแผล เราสามารถดัดแปลงสิ่งของใกล้ตัวมาใช้ได้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ชายเสื้อ ชายกระโปรง เนคไท
  • -แผลที่แขน หรือขาให้ยกสูง จะช่วยให้เลือดไหลช้าลง ปกติเลือดจะหยุดไหล ภายในเวลาประมาณ 15 นาที ถ้าเลือดไหลไม่หยุด ให้กดเส้นเลือดแดงใหญ่ ที่ไปเลี้ยงแขน ขา
  • -การกดเส้นเลือดแดงใหญ่ เพื่อห้ามเลือด ให้กดบริเวณเหนือบาดแผล ตำแหน่งที่ใช้กดเพื่อห้ามเลือด คือ ถ้าเลือดไหลที่แขนให้กดแขนด้านใน ช่วงระหว่างข้อศอกและหัวไหล่ ถ้าเลือดไหลที่ขา ให้กดที่หน้าขาบริเวณขาหนีบ **การห้ามเลือดโดยการกดเส้นเลือดแดงใหญ่นั้น ควรทำก็ต่อเมื่อ ใช้วิธีการห้ามเลือดโดยการกดบาดแผล หรือใช้ผ้าพันแผลแล้ว ไม่ได้ผล เพราะจะทำให้อวัยวะที่ต่ำกว่าจุดกดขาดเลือดไปเลี้ยง หากกดนาน ๆ กล้ามเนื้ออาจตายได้ จึงไม่ควรกดเส้นเลือดแดงใหญ่เกินกว่าครั้งละ 15 นาที
  • -ไม่ควรถอดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าของคนเจ็บ แม้ว่าจะเปื้อนเลือดจนชุ่มแล้ว เพราะอาจยิ่งทำให้เลือดไหลออกมาอีก

กระดูกหัก

  • -หากมีเลือดออก ให้ห้ามเลือดทันที
  • -หากกระดูกแทงทะลุออกมานอกผิวหนัง ห้ามจับกระดูกกลับเข้าที่เดิม
  • -สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือคนเจ็บที่กระดูกหัก ก็คือ การใส่เฝือก เพื่อยึดไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ถ้ากระดูกหักที่แขน มือ หรือข้อศอก ให้ใส่ผ้าคล้องแขนด้วย
  • -สิ่งที่จะใช้ทำเฝือกได้ ก็คือ วัสดุที่แข็ง และไม่ยืดหยุ่น เช่น ไม้กระดาน ด้ามไม้กวาด หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร ที่นำมาม้วนให้แข็ง หากพื้นผิวของวัสดุไม่เรียบ ให้หาผ้ารองไว้ชั้นในก่อน
  • -เฝือกควรมีความยาวมากกว่าอวัยวะส่วนที่หักเล็กน้อย ผูกเฝือกด้วยเชือก เนกไท ผ้าพันคอ หรือเศษผ้าที่หาได้ โดยไม่ควรผูกให้แน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากสังเกตว่าบริเวณนั้น เปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ หรือมีอาการชา ให้รีบคลายเฝือกออก

แผลถูกแทง

  • -หากวัตถุที่แทงมีขนาดยาวมาก สามารถตัดให้สั้นลงได้ โดยทำอย่างระมัดระวัง แต่ห้ามดึงออก เพราะ จะทำให้เลือดออกมากยิ่งขึ้น หรือเพิ่มอันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียง
  • -ห้ามเลือดโดยใช้ห่วงผ้ารองไม่ให้วัตถุนั้นปักลึกมากยิ่งขึ้น
  • -ไม่ควรให้กินอะไรทั้งสิ้น ให้คนเจ็บอยู่นิ่ง ๆ ให้มากที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

แผลถูกยิง

  • -ห้ามเลือดโดยใช้วิธีกดลงบนบาดแผลโดยตรง หรือกดเส้นเลือดแดงเหนือบาดแผล
  • -ถ้ามีกระดูกหักร่วมด้วยให้ดามกระดูกที่หัก ให้คนเจ็บนอนนิ่ง ๆ ห่มผ้าให้อบอุ่น เพื่อป้องกันการช็อค
  • -งดให้น้ำ หรืออาหารใด ๆ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 

 

 

No comments:

Post a Comment